สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ชวนเข้าใจ PDPA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับยุคนี้?

ชวนเข้าใจ PDPA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับยุคนี้?

ปัจจุบัน “ข้อมูล” เป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนการตลาดและธุรกิจ เพราะข้อมูลของลูกค้ามีความจำเป็นต่อการต่อยอดทางธุรกิจอย่างมาก โดยในยุคนี้ผู้คนให้ความสนใจกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ดังนั้นหากเรามีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากลูกค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์อย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้มีความผิดตาม PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ 

บทความนี้จึงอยากมาอธิบายให้เข้าใจว่า PDPA คืออะไร มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรบ้าง 

ทำความรู้จัก PDPA คืออะไร           

 PDPA หรือ Personal Data Protection Act คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ถูกจัดเก็บหรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเราในฐานะเจ้าของข้อมูลก่อน โดย PDPA มีการบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเพื่อให้บริษัทหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

PDPA เคยมีการบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค. 2563 และมีการประกาศขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี ดังนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจจะมีผลบังคับใช้ในช่วง 1 มิถุนายน 2565  

ข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง

  • ส่วนบุคคลทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน เลขบัตรประชาชน ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์ ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนบ้าน และข้อมูลอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เป็นต้น
  • ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในศาสนา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลพันธุกรรม เป็นต้น

คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูล PDPA คือใครบ้าง

  1. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) คือ บุคคลที่ข้อมูลสามารถระบุตัวตนถึงได้
  2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือ บุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรต่าง ๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเก็บรวมรวบ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอะไร เพื่ออะไร
  3. ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้คำสั่งของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

บทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

  1. โทษทางแพ่ง คือ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจริงให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับการละเมิด
  2. โทษทางอาญา คือ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. โทษทางปกครอง คือ มีการปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึงสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจะแยกกับการชดใช้ค่าเสียหายจากโทษทางแพ่งและโทษทางอาญา

PDPA คือกฎหมายใกล้ตัวที่มีความสำคัญกับเราไม่น้อย ทั้งต่อภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป การรู้และเข้าใจว่า PDPA คืออะไร จะทำให้เราระมัดระวังไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น และในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้ด้วย

Political News