สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

AI ทำอะไรได้ในวันนี้ และอนาคตจะเป็นอย่างไรสรุปจากงาน “Navigating AI Frontier”

เปิดศักราชใหม่มานี้ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ขอนำเสนอประเด็นที่หลายเวทีทั่วทุกมุมโลกต่างจับจ้องและหารือในมุมมองต่าง ๆ ถึงความอัจฉริยะและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ Artificial Intelligence (AI) ไม่เว้นแม้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของธีมหลักบนเวทีการประชุม World Economic Forum 2024 ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า AI คือ เทคโนโลยีที่เข้ามาเป็น “ผู้เปลี่ยนเกม” ที่แท้จริง

เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ให้สอดรับกับโอกาสและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือของสองผู้นำด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ทีซีซี เทคโนโลยี (TCCtech) และเดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) (Dell Technologies) ร่วมกันจัดเวทีให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ “Navigating AI Frontier” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบัน IMC ผู้บริหารของ TCCtech และ เดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์​การนำ AI ไปใช้งานในหลายอุตสาหกรรม อัพเดทผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีรวมถึงแนะนำโซลูชันที่ตอบโจทย์เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการธุรกิจ

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ – Executive Director สถาบันไอเอ็มซี - IMC Institute ซึ่งได้ให้เกียรติบรรยายเปิดในหัวข้อ AI, ML and Gen-AI Landscape อธิบายว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เทคโนโลยีนี้มีมานานแล้ว ในยุคแรกจะทำงานด้วยระบบ Rule-Based คือ การป้อนข้อมูลและชุดคำสั่งผ่านเงื่อนไขหรือกฎที่กำหนดเอาไว้ ขณะที่ Machine Learning คือ การให้แมชชีนเรียนรู้ได้ มีเหตุมีผล และปรับตัวเองได้ แต่เดิมยังมีข้อจำกัดเพราะยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงรองรับการประมวลผลในระดับนั้น

อย่างไรก็ตาม AI ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนามูลค่ามหาศาลทั้งในภาคธุรกิจและภาคการศึกษา รวมถึงการเปิดให้ใช้งาน ChatGPT อย่างแพร่หลายทั้งในระดับบุคคลและองค์กร นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ใช้งานแตะระดับร้อยล้านในเวลาอันสั้น รศ.ดร.ธนชาติ คาดการณ์ว่าเทรนด์นี้จะคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี

AI ทำอะไรได้ในวันนี้ และอนาคตจะเป็นอย่างไร

รศ.ดร.ธนชาติ ยกตัวอย่างความสามารถอันน่าทึ่งของ AI ในปัจจุบันที่ดูจะล้ำเกินมนุษย์ เช่น การจดจำใบหน้า (Facial Recognition) การจดจำเสียงพูด (Speech Recognition) และ การเข้าใจภาษา (Language Understanding) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจนถึงระดับ Reasoning Based AI หรือ การพูดคุยโต้ตอบอย่างมีเหตุมีผล และมีแนวโน้มจะพัฒนาความฉลาดมากเรื่อย ๆ จนถึงระดับ AGI (Artificial General Intelligence: AI ที่มีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์) ​และ ASI (Artificial Super Intelligence หรือ Super AI: AI ที่มีขีดความสามารถเหนือมนุษย์ในทุกด้าน) ตามลำดับ ความก้าวหน้าเหล่านี้ เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

    อัลกอริทึม (Algorithm) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ข้อมูล (Data) ที่มีปริมาณมากมายมหาศาล

    อุปกรณ์ (Hardware) รวมถึงชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพทรงพลัง

    ชุมชนผู้ใช้งาน (Community) หรือจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันเหล่าประเทศมหาอำนาจต่างมุ่งพัฒนา AI จนเกิดเป็นวลีฮิตที่ว่า “AI First” เพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ในทางกลับกัน ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีการรับมือกับ AI ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

    การกำกับดูแล (Governance) เพื่อควบคุมการใช้งาน AI ให้เหมาะสม

    ความปลอดภัย (Security) ป้องกันภัยคุกคามจากการใช้งาน AI โดยผู้ไม่ประสงค์ดี

    การสูญเสียอาชีพ (Job Loss) จากระบบอัตโนมัติ ซึ่งแรงงานต้องเร่งปรับตัวทั้ง Reskill & Upskill

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมไว้จากงานสัมมนา “Navigating AI Frontier” ที่จัดขึ้นโดย ทีซีซี เทคโนโลยี และเดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News