สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

“วิเคราะสุขภาพการเงิน”-“สร้างกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ” : หนทางรอดวิสาหกิจชุมชน?

บพท. หนุนนักวิจัยมหาวิทยาลัย  ประเมิน “สุขภาพทางการเงิน” และสร้าง “กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ”  ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่เข้าไปทำวิจัยภายใต้กรอบ “Local Enterprises”

ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ หัวหน้าโครงการ ศูนย์ประสานงาน/บริหารจัดการเพื่อยกระดับ เสริมศักยภาพของธุรกิจท้องถิ่นพร้อมกับการสร้างแพลตฟอร์มและกลไกการทำงานร่วมกัน มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน  โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  กล่าวว่า ในการใช้งานวิจัยเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนนั้น ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นนั้น นักวิจัยจะต้องนำ “ความต้องการ” มาวิเคราะห์หา “โจทย์ปัญหาที่แท้จริง” เสียก่อน

“สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ให้ได้ว่าปัญหาที่แท้จริงของการดำเนินธุรกิจท้องถิ่นคืออะไร ไม่ใช่ดูแค่ความต้องการ เช่น หากเขาบอกเราว่าต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งหากจะทำจริงมันก็คือการลงทุน เพราะฉะนั้น ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น จำเป็นต้องรู้สถานการณ์จริงของวิสาหกิจแต่ละแห่งเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง ‘สุขภาพทางการเงิน’ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ SMEs ที่ผ่านมาจะสามารถแบ่งสุขภาพธุรกิจเป็น 3 กลุ่มคร่าว ๆ คือ ‘รุ่ง’ (ธุรกิจมีกำไร และมีสภาพคล่องทางการเงิน) ‘รอด’ (‘ธุรกิจมีกำไร-ไม่มีสภาพคล่อง’ กับ ‘ไม่มีกำไร-มีสภาพคล่อง’) และ ‘ร่อแร่’ (ไม่มีกำไร-ไม่มีสภาพคล่อง)

นั่นจึงเป็นที่มาของกรอบวิจัย “Local Enterprise” ของ บพท. เป้าหมายสำคัญของกรอบวิจัยนี้ได้แก่ ‘การยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนของวิสาหกิจชุมชน ที่ผ่านการจัดการห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain)ก่อให้เกิดโครงสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมสู่กลุ่มเกษตรกร/ผู้ผลิตต้นน้ำได้ร้อยละ 10’  โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยในปีงบประมาณ 2563 จำนวนทั้งสิ้น 15 มหาวิทยาลัย

“กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างวิสาหกิจชุมชนและทีมนักวิจัยที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกการดำเนินงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ในครั้งนี้ จะต้องเกิดการสร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในห่วงโซ่เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังต้องทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงไปสู่กลุ่มเกษตรกร/ผู้ผลิตที่เป็นภาคีต้นน้ำอย่างน้อยร้อยละ 10 อีกด้วย”

ขณะเดียวกัน งานวิจัยภายใต้กรอบวิจัยนี้ไม่ใช่การสร้าง Knowhow หรือสร้าง Knowledge ให้กับห่วงโซ่มูลค่าใหม่ (New Value Chain) แต่เป็นทุนสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่สามารถเข้าไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของธุรกิจท้องถิ่นได้จริง ดังนั้นการทราบถึง “สุขภาพทางการเงิน” ของวิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่งตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้มีแนวทางในการทำวิจัยร่วมวิสาหกิจนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม

 “ผมได้มีการสื่อสารกับทีมวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัย ในการทำ “Financial Analysis” ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนแต่ละราย เพื่อให้เขาเกิดความเข้าใจในศักยภาพของตนเองและสถานภาพทางการเงินที่แท้จริงเสียก่อน  ว่าตัวเขาอยู่ในสถานะ ‘รุ่ง’ ‘รอด’ หรือ ‘ร่อแร่’    ก่อนเราจะหนุนเสริมด้วย “กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ” ซึ่งเป็นการนำข้อมูลต่าง ๆ ทั้งด้านการขาย การผลิต การตลาด สภาพคล่องทางการเงินและอื่น ๆ ที่ได้จากการทำ Financial Analysis  มาวางแนวทางปฏิบัติใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละรายต่อไป  ซึ่งจากประสบการณ์ที่นำวิธีการนี้ไปใช้กับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 50 ราย พบว่า กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจนี้ สามารถช่วยผู้ประกอบการกว่า 30 ราย  “ลดหนี้ 10 เปอร์เซ็นต์””  หรือ “มีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์  ได้ทันที โดยยังไม่มีการใส่นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือกระบวนการใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการแต่อย่างใด”

ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวสรุปว่า ขณะนี้ตนเองกำลังจะถ่ายทอดแนวทางการทำ ‘กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ’ ให้กับมหาวิทยาลัยที่รับทุนภายใต้กรอบวิจัย Local Enterprise ของ บพท.  ซึ่งหากทีมวิจัยมีการนำไปใช้กับวิสาหกิจที่ร่วมในกระบวนการวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยแล้ว  จะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนในการบริหารจัดการงานวิจัยให้แต่ละวิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย สามารถเพิ่มรายได้ 10 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าที่กำหนดไว้

Political News