สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

“วัคซีนเสริมสภาพคล่อง”อัพเกรดLocal Enterprise สู่วิกฤตโควิด

กระทรวง อว. เปิดตัวโครงการ “บพท.ร่วมช่วยธุรกิจ(ชุมชน) ต้านโควิด 19”   รับสมัครผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่หัวใจยังสู้ เข้า ONLINE WORKSHOP “เสริมสภาพคล่องด้วยวัคซีนการเงิน” ที่นอกจากจะได้ทักษะและเครื่องมือฝ่าวิกฤตแล้ว ยังมีเงินอุดหนุนการดำเนินธุรกิจตามแผนธุรกิจของตนสูงสุดรายละ 80,000 บาท

ความสำคัญยิ่งของ “ธุรกิจชุมชน” หรือ Local Enterprise ทั้งวิสาหกิจชุมชน โอทอป และผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ (Local SMEs) คือการเป็นกลไกเชิงเศรษฐกิจในชุมชน ที่มีการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และเกิดการหมุนเวียนเงินในชุมชน

“ในวิกฤตโควิดครั้งนี้ คาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน 5 เดือน จะมี Micro Business หรือ Mini Business ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนต้องปิดตัวลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศ รวมถึงผลกระทบทางสังคมและอื่น ๆ ที่เกิดกับชุมชนทั่วประเทศ” ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร (SU-FIH) กล่าวถึง สถานการณ์วิกฤตของกลุ่มธุรกิจที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชน  โดยระบุว่า นอกจากความยากในการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว อีกสาเหตุสำคัญก็คือ การไม่เข้าใจในภาวะการณ์ทางการเงินของตนเอง และไม่มีแผนธุรกิจที่มีการวิเคราะห์ธุรกิจด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง

และเพื่อช่วยให้ธุรกิจในชุมชนสามารถเข้มแข็งและดำเนินต่อได้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  จึงได้จัดทำโครงการ บพท. ร่วมช่วยธุรกิจ (ชุมชน) ต้านโควิด-19 ผ่านกิจกรรม Online Workshop “เสริมสภาพคล่อง...ด้วยวัคซีนการเงิน” โดยรับสมัครผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจำนวน 500 รายจากทั่วประเทศภายในวันที่ 20 พ.ค. นี้

“กระบวนการอบรมทีมงานจะมีการให้คำแนะนำผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนแต่ละรายได้เห็นว่า ปัญหาของเขาอยู่ตรงไหน  กิจกรรมนี้เราจะเข้าไปชี้ให้แต่ละรายเห็นว่าปัญหาของเขาอยู่ตรงไหน  และแต่ละส่วนนั้นมันใหญ่หรือน้อยแค่ไหน และปัญหานั้นใหญ่มากน้อยเพียงใด พร้อมกับแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละจุดเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางการเงิน เพื่อ DIY แผนการใช้เงินของธุรกิจตนเองออกมาให้ได้   จากนั้นจะมีการคัดเหลือ 200 ธุรกิจ เพื่อติดตามและสนับสนุนการดำเนินการแผนของเขาแต่ละรายเป็นรายวันเป็นเวลา 3 เดือน   พร้อมกับมีเงินสนับสนุนรายละไม่เกิน 80,000 บาท (20,000 – 80,000 บาท/ราย) โดยเรามีกระบวนการปล่อยเงินที่มีแนวทางการติดตามและวัดผลที่ชัดเจน และจะมีการสนับสนุนต่อเนื่องหลังสิ้นสุดโครงการ เพื่อทำให้เขาสามารถถ่ายทอดและเป็นตัวอย่างเพื่อการขยายผลทั้งในระดับพื้นที่และในระดับประเทศต่อไป”  ดร.บัณฑิต ในฐานะหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ขณะที่ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนโครงการนี้ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เราต้องการพิสูจน์ว่า รูปแบบการยกระดับความสามารถและทักษะของผู้ประกอบการชุมชนธุรกิจชุมชน หรือ Local Enterprise  ให้ล้มแล้วลุกให้เร็วขึ้นนั้น นอกจากตัวเงินสนับสนุนแล้ว ยังต้องมีข้อมูลและความรู้มาประกอบ

“ที่ผ่านมาเรามีการพัฒนาเครื่องมือนี้ร่วมมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในชุดโครงการวิจัย Local Enterprise   เพื่อให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนา Local Enterprise ให้กับธุรกิจชุมชนในพื้นที่ในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้  แต่ ณ วันนี้ ที่มีหลายธุรกิจที่กำลังจะจมน้ำ เราจึงขอนำเครื่องมือที่ผ่านการพิสูจน์ในเชิงวิชาการที่มีตัวอย่างความสำเร็จในระดับพื้นที่ของ ผศ.ดร.บัณฑิต มาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการหัวใจยังสู้ 500 รายผ่านระบบ Online โดยคาดหวังว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้น จะช่วยเร่งให้เกิดสถาบันพัฒนา Local Enterprise ในมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น  และเกิดธุรกิจชุมชนบนฐานคิดการอยู่ร่วมกับท้องถิ่น ที่สามารถ ‘อยู่รอด’  และ ‘อยู่ได้’ มาเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ รวมถึงสถาบันการเงินได้เห็น  อันนำไปสู่การยกระดับวิสาหกิจชุมชน  โอทอป  และ Local SMEs ได้เร็วขึ้น  ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรี อว. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และประธานบอร์ด บพท. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ต้องการให้หน่วยบริหารทุนวิจัยในสังกัด อว. ใช้ศักยภาพของตนเองเข้าไปผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19ให้เร็วและมากที่สุด” ผู้อำนวยการ บพท. กล่าว

อนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ที่ใช้ทรัพยการพื้นถิ่น มีการจ้างแรงงานในพื้นที่ที่มีการกระจายรายได้สู่ชุมชน  สนใจเข้าร่วมกิจกรรม Online Workshop เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินครั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดและเงื่อนไขได้ที่ line ID : LocalEnterprises PMUA  หรือโทรสอบถามที่ 080-908-6602 และ 080-284-0760  รับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 20 พฤษภาคมนี้ จำนวน 500 ราย

Political News