สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ไวรัสโคโรน่าอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจอาเซียน 2.4-3.4พันล้านดอลลาร์ฯ

             การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนให้เติบโตชะลอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน โดยผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ช่องทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

             ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยืดเยื้อยาวนานเกิน 3 เดือน (แต่ไม่เกิน 6 เดือน) เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราวร้อยละ 1.0 และอาจลงไปแตะที่ระดับประมาณร้อยละ 4.7 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.07-0.11 ของ GDP อาเซียนทั้งหมด  โดยในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบอาจอยู่ในระดับปานกลาง โดยมูลค่าความเสียหายอาจจะอยู่ในระดับ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.09-0.13 ของ GDP ทั้งปีของไทย

             ทั้งนี้ ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของแต่ละประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาถึงสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพบว่า เวียดนาม สิงคโปร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับสูง ขณะที่ ในส่วนของไทย สัดส่วนการพึ่งพาจากจีนอยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ดี นอกจากสัดส่วนการพึ่งพาจากจีน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนยังขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง โครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวเพื่อลดทอนผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอีกด้วย

                เศรษฐกิจอาเซียนและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ทั้งนี้ การขยายบทบาทของจีนทั้งด้านการค้า การลงทุน ตลอดจน บทบาทของจีนในเชิงของตลาดท่องเที่ยวขาออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้การเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและอาเซียนมีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์มีความแนบแน่นขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากสงครามการค้า ผลกระทบการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (nCoV) ตลอดจน ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่อาจจะชะลอตัวในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจมีการส่งผ่านมายังเศรษฐกิจในอาเซียน ผ่าน 3 ช่องทางหลักได้แก่ ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุนโดยตรง

หากพิจารณาถึงสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพบว่า ประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับสูง ขณะที่ในส่วนของไทย สัดส่วนการพึ่งพาจากจีนอาจอยู่ในระดับปานกลาง เทียบเคียงกับมาเลเซียและเมียนมา ขณะที่บรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจมีความแตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง โครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวในการลดทอนผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน

             สำหรับประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับสูงและมีความสามารถในการปรับตัวในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระดับต่ำ ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่อาจจะเสี่ยงที่จะได้ผลกระทบที่รุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีการพึ่งพารายได้จากภาคการส่งออก ท่องเที่ยว ตลอดจน เม็ดเงินลงทุนจากจีนในสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างปิดและพึ่งพาภาคต่างประเทศสูงขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอทำให้การปรับตัวในการหาตลาดทดแทนจีนทำได้ค่อนข้างยาก

             สำหรับประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับสูง แต่พอมีศักยภาพในการปรับตัวรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้ในระดับหนึ่ง เศรษฐกิจสิงคโปร์อาจสามารถรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวของจีนได้บางส่วน จากโครงสร้างของเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรก็ดี สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินในอาเซียน ส่งผลให้สิงคโปร์ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการส่งผ่านผลกระทบจากจีนไปยังอาเซียนอีกทอดหนึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามอาจมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากกว่าสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีการพึ่งพาการส่งออกไปยังจีนในระดับที่สูงกว่าสิงคโปร์ แต่ตลาดการส่งออกของเวียดนามมีการกระจายตัวไปยังตลาดขนาดใหญ่อื่นๆ นอกจากนี้ นักลงทุนจีนมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยในการลงทุนโดยตรงในเวียดนาม กอปรกับ การพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการรองรับผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน

             กลุ่มที่สัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับปานกลาง โดยประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่มาเลเซีย เมียนมาและไทย สำหรับไทยและมาเลเซีย ระดับการพึ่งพาจากจีนโดยรวมค่อนข้างมีการกระจายตัว ขณะที่การพึ่งพาจากจีนของเมียนมาจะเกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์ (ปิโตรเลียม) เป็นหลัก แม้ว่าอาจมีบางภาคเศรษฐกิจที่มีระดับการพึ่งพาจากจีนค่อนข้างสูง อาทิ การพึ่งพารายได้นักท่องเที่ยวจีนของไทย การพึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียไปยังจีน อย่างไรก็ดี ในส่วนของไทยและมาเลเซียมีความยืดหยุ่นในการรับมือผลของการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนในระดับหนึ่ง แต่การที่ทั้ง 2 ประเทศมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในอาเซียนในระดับที่ค่อนข้างสูง อาจส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศได้ผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน ขณะที่การปรับตัวของเมียนมาอาจเผชิญกับข้อจำกัดในการปรับตัวมากกว่าไทยและมาเลเซีย เนื่องจากเศรษฐกิจในเมียนมาค่อนข้างเป็นระบบปิด กอปรกับระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการส่งออกยังไม่ค่อยดีนัก

             กลุ่มประเทศมีสัดส่วนพึ่งพาจีนต่ำ ได้แก่ บรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ กลุ่มประเทศดังกล่าวส่วนใหญ่มักมีระดับการเปิดประเทศที่จำกัด ไม่ได้พึ่งพาภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจน มีการเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานกับจีนในระดับที่ไม่สูง อย่างไรก็ดี บรูไนและอินโดนีเซียอาจมีความสามารถในการปรับตัวที่ดีกว่าฟิลิปปินส์ เนื่องจากการค้าระหว่างจีนกับบรูไนและอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายปิโตรเลียมเป็นหลัก รวมทั้ง ขนาดในการพึ่งพาการส่งออกไปจีนอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ฟิลิปปินส์มีการพึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนมากพอสมควร อันส่งผลให้การปรับตัวของฟิลิปปินส์ในการหาตลาดรองรับแทนจีนทำได้ยากกว่า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยืดเยื้อยาวนานเกิน 3 เดือน (แต่ไม่เกิน 6 เดือน) อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราวร้อยละ 1.0 และลงไปแตะที่ระดับประมาณร้อยละ 4.7 โดยจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า หากพิจารณา 3 ช่องทางหลักที่เศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากจีนมายังอาเซียนในอัตราส่วนที่สูงที่สุด เนื่องจากมูลค่าการลงทุนโดยตรงมักมีความผันผวนอย่างมากไปตามเศรษฐกิจของประเทศ โดยหาก GDP ของจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนไปยังอาเซียนคาดว่าจะลดลงถึงราวร้อยละ 2.8 ขณะที่ รายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและมูลค่าการส่งออกไปยังจีนของอาเซียนจะลดลงประมาณร้อยละ 1.5 และ ร้อยละ 1.2 ตามลำดับ ดังนั้น จากการประเมินผลกระทบผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจอาเซียนในกรอบ 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.07-0.11 ของ GDP อาเซียนทั้งหมด

อนึ่ง ผลกระทบดังกล่าวครอบคลุมเพียงผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งไม่นับรวมผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกและส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงไม่นับรวมผลกระทบทางอ้อมจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรุดตัวลง เนื่องจากอุปสงค์ในจีนที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อการส่งออกของหลายประเทศในอาเซียนที่มีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง อีกทั้ง การประเมินดังกล่าวยังไม่นับรวมผลกระทบทวีคูณ (Multiplier effects) จากการที่เศรษฐกิจภายในประเทศของประเทศในกลุ่มอาเซียนชะงักงันตามไปด้วย ดังนั้น ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจอาเซียนอาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากนับรวมผลกระทบทางอ้อมเหล่านี้

สำหรับกรณีของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในกรอบประมาณ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.09-0.13 ของ GDP ทั้งปีของไทย โดยภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบสูงสุดถึงราว 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่อันดับ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในปี 2562 สูงถึง 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบรองลงมา โดยภาคการท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวจีนถึงราวร้อยละ 30 ในทางตรงกันข้าม ไทยพึ่งพาการลงทุนจากจีนในสัดส่วนไม่มากนัก ดังนั้น ผลกระทบโดยตรงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อการลงทุนในไทยจึงไม่สูงนัก ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวไม่รวมผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ต่างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการที่เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงในไทย อย่างมีนัยสำคัญ

Political News