สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

มทร.อีสาน มอบชุดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยหลอดยูวีซีแบบแนวตั้งให้โรงพยาบาลโพนนาแก้ว

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการทำงานด้านการช่วยเหลือสังคม โดยได้รับนโยบายจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภา มทร.อีสาน ในการให้ความช่วยเหลือสังคมในสภาวะวิกฤต การระบาดโรค การเกิดอุทกภัย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ และในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนภาคอีสานและเพื่อเยาวชนคนไทย จึงได้ขอความร่วมมือให้ทุกคณะ ทุกวิทยาเขต ให้ความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในรูปแบบที่สอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัย เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลพังโคน จ.สกลนคร โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ รวมถึง การส่งจิตอาสาเพื่ออำนวยความสะดวกร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา การเปิดพื้นที่ภายใน มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลพังโคน เหล่านี้คือ พันธกิจสำคัญในการเกื้อหนุนหน่วยงานหลักของประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ มทร.อีสาน ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม เพื่อให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

ดร.นิธิโรจน์ พรสุวรรณเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เปิดเผยว่า  ทางโรงพยาบาลโพนนาแก้ว ได้ประสานเข้ามาเพื่อขอสนับสนุน อุปกรณ์ที่ฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศ จึงได้ประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยหลอดยูวีซีแบบแนวตั้ง โดยใช้ขาตั้ง 3 ขาแบบ 90 องศา ระยะห่าง 110 องศา ความสูง 170 เซนติเมตร ด้านบนประกอบด้วยแกนใส่หลอดไฟรังสี UVC ซึ่งเป็นรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดหนึ่ง มีความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตรในธรรมชาติ ซึ่งรังสี UVC จะสามารถดูดซับโมเลกุลอินทรีย์ รวมถึง DNA ที่ทำให้เกิดการตายของจุลินทรีย์ และเป็นที่นิยมสำหรับการใช้งานฆ่าเชื้อโรคและเป็นแสงยูวีที่อยู่ในระดับที่ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาและไวรัสต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือสามารถหาซื้อได้ง่ายในร้านสะดวกซื้อ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เราได้รับการพัฒนาจากกล่องฆ่าเชื้อหน้ากาก ที่เคยทำไปเมื่อราวกลางปี พ.ศ. 2563 โดยได้บริจาคไปที่โรงพยาบาลต่างๆ 180 กล่อง มอบให้ รพ.สต.ทั่วจังหวัดสกลนคร จึงได้พัฒนามาเป็นชุดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยหลอดยูวีซีแบบแนวตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากโรงพยาบาลโพนนาแก้ว ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ตัวละ 700-800 บาท โดยใช้อุปกรณ์เก่าที่มีอยู่แล้วบางส่วนด้วย

ในส่วนอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยหลอดยูวีซีแบบแนวตั้ง จะมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยท่อ PVC ทำเป็นขาตั้ง มีหลอด UVC ตัวแปลงไฟ สตาร์ทเตอร์ บัลลาด สวิทช์ ปลั๊ก วิธีใช้คือ เสียบปลั๊กแล้วกดสวิส ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ในห้องขนาด 4x4 ตารางเมตร จะอยู่ในรัศมีเหมาะสม สาเหตุที่ทำเป็นหลอดแนวตั้ง เนื่องจากเหมาะสมกับรัศมีการกระจายแสง เพราะหลอดแนวตั้งกระจายรัศมีในแนวนอน แต่หากวางหลอดแนวนอนจะกระจายแสงในแนวตั้งเสมือนหลอดไฟบนเพดาน ที่กระจายลงมาในแนวตั้งหรือแนวดิ่ง  รวมถึงการคำนึงการเคลื่อนย้ายที่สะดวก น้ำหนักเบา แต่คงทนและไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน โดยในขณะที่เปิดการใช้งานเครื่องนั้น จะต้องเคลื่อนย้ายคนออกจากห้องด้วยเนื่องจากการกระจายแสงดังกล่าวอาจจะทำลายเยื่อบุต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ทำให้เกิดการระคายเคืองม่านตา มีกลิ่นคาวปลา ซึ่งแต่เดิมมีการทำความสะอาดห้องถึง 2 ชั้นได้แก่ 1. การใช้เครื่องกรองอากาศ 2. การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังเสริมการใช้อุปกรณ์ฯ เป็นการป้องกันในชั้นที่ 3 เพื่อความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะในอากาศเราไม่สามารถฉีดน้ำยาดักจับได้ 100 เปอร์เซนต์ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าห้องดังกล่าวไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไวรัสอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรค

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชุดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยหลอดยูวีซีแบบแนวตั้งดังกล่าว ผศ.ดร.สุริยา แก้วอาษา คณบดีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้เป็นตัวแทนในการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลโพนนาแก้ว อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร จำนวน 3 ชุด โดยมี คุณธีรยุทธ เวยสาร นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เป็นผู้รับมอบเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตเราจะพัฒนาชุดอุปกรณ์ฯ ด้วยการติดตั้งมอเตอร์ ให้สามารถเคลื่อนย้ายเองได้ และติดตั้งระบบเซนเซอร์ (Sensor) ให้สามารถเปิด-ปิดอัตโนมัติ เมื่อมีวัตถุเคลื่อนผ่านเพราะไม่เหมาะกับการที่มนุษย์จะโดนแสงดังกล่าวโดยตรง รวมถึงการตรวจจับความเคลื่อนไหว กำหนดการตั้งเวลาอัตโนมัติ สุดท้ายขอให้ประชาชนทุกคนผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิดนี้ไปได้ด้วยพลังความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคน ดร.นิธิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

Political News