สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

มช. ผนึกกำลัง มทร.อีสานพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน ด้านเทคโนฯ ข้าว กัญชง กัญชา ระบบราง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนาม และได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ สอดคล้องกับทิศทาง และอนาคตของการพัฒนาประเทศที่สำคัญ อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก คือการพัฒนาด้านการศึกษา วิชาการและวิจัยร่วมกันในระดับอุดมศึกษา เพื่อการนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพื้นที่ จากพืชเศรษฐกิจที่กำลังเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าว กัญชา เป็นต้นเชื่อมโยงองค์ความรู้  ฐานทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติ และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดเป็นพลังในการวิจัย พัฒนา และการต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และประการที่สอง คือ สาขาที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันล้วนเป็นสาขาความร่วมมือที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน และจะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยนวัตกรรมการปลูกและพัฒนาพืชสมุนไพรท้องถิ่น เช่น กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรไทยชนิดต่าง ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานมีคณะทรัพยากรธรรมชาติและโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยเป็นฐานของสมุนไพรหลายร้อยชนิด และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เราก็ได้เห็นประโยชน์และคุณค่าของพืชสมุนไพรไทยในการรักษาพยาบาลและต่อสู้กับโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ในหลายกรณี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ และเภสัชศาสตร์ ที่สามารถต่อยอดการวิจัยพัฒนาสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เวชสำอาง  การป้องกันโรคระบาด และอื่น ๆ ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เปิดเผยว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในวันนี้ถือเป็นทิศทางที่ดีในการร่วมกันนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เชิงพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีทางด้านข้าว การจัดการขยะ การปลูกและพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมถึงกัญชง กัญชา และระบบราง ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย และด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระหว่างมหาวิทยาลัยครับ

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยว่า มทร.อีสาน ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ภายใต้กรอบนโยบายของสภามหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัย ที่มอบหมายให้ มทร.อีสาน ขับเคลื่อนด้านการจัดการเรียนการสอนผลิตบัญฑิตนักปฎิบัติ ให้ตอบโจทย์กลุ่มสถานประกอบการ ควบคู่ไปกับการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมและส่งเสริมการศึกษาและการกินดีอยู่ดีของคนอีสานซึ่งเป็นที่ตั้งของ มทร.อีสาน โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรามีเป้าหมายร่วมกันในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการวิจัยต่างๆ ที่ มทร.อีสาน และ มช.มีความแข็งแกร่งของแต่ละแห่งอยู่แล้ว มาพัฒนาภาคอีสาน และภาคเหนือร่วมกัน ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น โดยเบื้องต้นได้มีการผสานความร่วมมือในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ  การจัดการขยะ การปลูกและพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมถึง กัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุข และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการแปรรูปพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงความร่วมมือทางด้านระบบราง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบขนส่งทางรางและความปลอดภัยในการบริการเดินรถไฟ พร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ระบบรางและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบรางมาประยุกต์ใช้เชิงพื้นที่ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากความเชี่ยวชาญทั้งฝ่าย มทร.อีสาน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการพัฒนาศักยภาพบุคลากรร่วมกันครับ รศ.ดร.โฆษิต กล่าวตอนท้าย

Political News