สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ส่งออกข้าวไทยปี 2563 ทรุดต่อเนื่อง... มุ่งพัฒนาข้าวขาวพื้นนิ่ม เพื่อเป็น Fighting Product

ประเด็นสำคัญ

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 อาจยังต้องเผชิญปัจจัยลบที่รุมเร้ารอบด้านปัจจัยเดิมที่ยังมีอยู่ให้เห็นต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งในเรื่องของการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท ภาวะภัยแล้ง จีนที่เปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะทำให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ราว 6.2-6.6 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 12.9-18.1 (YoY) นับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี

           ตลาดข้าวขาวของไทย (ข้าวพื้นแข็ง) เป็นตลาดที่มีปัญหามากที่สุด ท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลง ซึ่งหากไทยยังคงเน้นการผลิตข้าวขาวพื้นแข็งเช่นนี้ต่อไป ก็อาจทำให้อนาคตการส่งออกข้าวไทยต้องย่ำแย่ ดังนั้น ไทยจึงต้องหาทางออกด้วยการใช้ข้าวขาวพื้นนิ่ม ชูขึ้นมาเป็น Fighting Product เพื่อเข้ามาทำตลาดใหม่ๆ ในระดับกลางที่ผู้บริโภคมักมีกำลังซื้อ เป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเน้นคุณภาพข้าวที่ดีขึ้นกว่าข้าวพื้นแข็ง และยังเป็นการยกระดับข้าวไทยไปสู่ตลาดข้าวคุณภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่ทั้งชาวนาและผู้ส่งออก

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากไทยสามารถส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มในปี 2563 ได้ที่ราว 0.8 ล้านไร่ ด้วยการมีนโยบายของภาครัฐสนับสนุนแก่ชาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนทำให้มีการเติบโตทั้งในด้านพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถมีผลผลิตข้าวขาวพื้นนิ่มเพื่อส่งออกที่ราว 7 ล้านตันได้ในปี 2570 หรืออีกราว 7 ปีข้างหน้า และเป็นระดับที่ทำให้ไทยสามารถทวงส่วนแบ่งตลาดของข้าวขาวและข้าวหอมมะลิที่หายไปร้อยละ 5.2 คืนกลับมาได้  โดยจะทำให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในโลกได้มากกว่าร้อยละ 24.5 เนื่องจากปริมาณส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่มที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยปริมาณส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิที่ลดลงได้

คงต้องยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2562 ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 6 ปี จากปัจจัยรุมเร้ารอบด้านทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก เงินบาทที่แข็งค่า การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก รวมถึงภาวะภัยแล้งในประเทศ ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยลดลงมาอยู่ที่ 7.58 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 32.5 (YoY) และเมื่อมองต่อมาในปี 2563 เพียงแค่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ก็ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงด้วยตัวเลขการส่งออกข้าวไทยที่อยู่ที่เพียง 0.95 ล้านตัน หรือลดลงถึงร้อยละ 42.2 (YoY) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 อาจยังต้องเผชิญปัจจัยลบที่รุมเร้ารอบด้านปัจจัยเดิมที่ยังมีอยู่ให้เห็นต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งในเรื่องของการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท ภาวะภัยแล้ง จีนที่เปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะทำให้การส่งออกข้าวไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ทรงตัวในระดับต่ำเฉลี่ยราว 0.46-0.47 ล้านตันต่อเดือน และอาจปรับตัวลดลงได้อีกในช่วงไตรมาสที่ 2 จากภาวะภัยแล้งที่รุนแรง แต่อาจพลิกกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมาก ความต้องการในตลาดโลกที่มีรองรับในช่วงเทศกาลสิ้นปี รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังที่น่าจะดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก ท้ายที่สุดแล้วคาดว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 อาจลดลงมาอยู่ที่ราว 6.2-6.6 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 12.9-18.1 (YoY) นับเป็นตัวเลขตกต่ำต่อเนื่องจากปีก่อนและถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี (เป้าหมายของภาครัฐอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน)

ดังนั้น ในปี 2563 ไทยคงทำได้เพียงประคองสถานการณ์การส่งออกข้าว ด้วยการเร่งเจรจาซื้อขายข้าวแบบ G to G ตลอดจนแนวทางของภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพจากความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งรุนแรงและลากยาว รวมถึงการสร้างแบรนดิ้ง ด้วยการใช้ข้าวไทยเป็นตัวชูโรงควบคู่กับการโปรโมทอาหารไทย อันจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้ผู้บริโภครู้จักและเชื่อมั่นข้าวไทยมากขึ้น นอกจากนี้ หากมองในแง่ของภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตรไทยในปีนี้ อาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาตรการ Lock Down ถูกยกระดับให้เข้มข้นขึ้น

ปัญหาตลาดข้าวขาวไทย...ราคาสู้คู่แข่งไม่ได้ & ราคาไม่สอดคล้องกับคุณภาพ

ส่วนแบ่งตลาดลดลงในภาวะที่ตลาดผู้บริโภคกำลังเปลี่ยน

 หากพิจารณาการส่งออกข้าวไทยรายประเภท จะพบว่า ในปี 2562 ข้าวขาวเป็นข้าวที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดของไทยถึงร้อยละ 43.7 และเป็นข้าวที่หดตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 42.1 (YoY)  รวมถึงตลาดข้าวขาวยังเป็นตลาดข้าวใหญ่ที่มีการแข่งขันสูงในตลาดโลก จับกลุ่มผู้บริโภคในตลาดล่าง/ตลาดมวลชน (Mass Market) ทำให้ข้าวขาวมีความอ่อนไหวต่อราคาสูงกว่าข้าวประเภทอื่น ดังนั้น ตลาดข้าวขาวของไทยซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็ง  จึงเป็นตลาดที่มีปัญหามากที่สุด เพราะมักจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงในตลาดโลก  โดยเฉพาะตลาดส่งออกข้าวขาวหลักของไทยอย่างจีน ที่จะเห็นว่าไทยส่งออกไปจีนลดลงตามลำดับ เนื่องจากจีนหันไปนำเข้าข้าวขาวราคาถูกจากคู่แข่งหลักอย่างเวียดนาม (ราคาข้าวขาวเวียดนามราคาถูกกว่าไทยราว 30-80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน) และลดการนำเข้าจากไทย (ในปี 2554 และปี 2561 จีนนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.7 เป็นร้อยละ 47.9 ขณะที่นำเข้าจากไทยลดลงจากร้อยละ 56.3 เป็นร้อยละ 40.4 ตามลำดับ) สะท้อนถึงคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามมีบทบาทในตลาดจีนมากขึ้น

นอกจากตลาดส่งออกข้าวขาวจีนที่ไทยถูกเวียดนามแย่งไป สถานการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นคล้ายกันอีกในตลาดส่งออกข้าวขาวสำคัญของไทยอย่างมาเลเซีย ญี่ปุ่น และแคเมอรูน ที่มีคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม อินเดีย และเมียนมา ที่ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดแล้ว ดังนั้น จากปัญหาข้าวขาวพื้นแข็งของไทยที่นอกจากจะเป็นเรื่องของราคาที่ไทยสู้คู่แข่งไม่ได้แล้ว ยังเป็นเรื่องของราคาที่ไม่สอดคล้องกับคุณภาพ เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ข้าวคุณภาพต่ำของไทยต้องขายในราคาที่แพงกว่าคู่แข่ง อีกทั้งยังเป็นเรื่องของตลาดที่เปลี่ยนไปจากพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งมากขี้น  ซึ่งหากไทยยังไม่ปรับตัวเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ให้หลากหลายและลดต้นทุนการผลิต โดยยังคงเน้นการผลิตข้าวขาวพื้นแข็งเพื่อส่งออกในสัดส่วนที่สูงเช่นนี้ต่อไป (ร้อยละ 43.7) ก็อาจทำให้อนาคตการส่งออกข้าวขาวพื้นแข็งไทยต้องย่ำแย่ และจะเป็นตัวฉุดรั้งให้ภาพการส่งออกข้าวไทยอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงต่อไปอีก

เร่งพัฒนาข้าวขาวพื้นนิ่ม ชูเป็น Fighting Product เพื่อชิงฐานลูกค้า และส่วนแบ่งตลาดคืนจากคู่แข่งโจทย์ยากที่เป็นไปได้...ความหวังช่วยประคองการส่งออกข้าวไทย

 จากปัญหาตลาดข้าวขาวพื้นแข็งที่มีมาอย่างยาวนาน สำหรับตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในตลาดล่างที่นิยมบริโภคข้าวคุณภาพต่ำราคาถูก แต่ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวของโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่การบริโภคข้าวที่มีโภชนาการหรือข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้นในราคาที่ไม่แพงนักอย่างข้าวพื้นนิ่ม  ซึ่งเป็นข้าวเกรดรองลงมาจากข้าวพื้นนิ่มเกรดพรีเมี่ยมอย่างข้าวหอมมะลิที่มีราคาแพง โดยก่อนหน้านี้ตลาดข้าวขาวไทยได้ถูกคู่แข่งแย่งส่วนแบ่งตลาดไป ด้วยการใช้ข้าวขาวพื้นแข็งราคาถูกตีตลาดเข้าไปก่อน และในปัจจุบันคู่แข่งได้เริ่มใช้ข้าวขาวพื้นนิ่มตีตลาดต่อเนื่องเพื่อมาครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดคืนมา ไทยจึงต้องมุ่งสู่การพัฒนาข้าวขาวพื้นนิ่ม  เพื่อการส่งออก โดยชูขึ้นมาเป็น Fighting Product เพื่อเข้ามาทำตลาดใหม่ๆ ในระดับกลางที่ผู้บริโภคมักมีกำลังซื้อ จึงเป็นการตอบโจทย์ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยการหันไปเน้นคุณภาพของข้าวที่ดีขึ้นกว่าข้าวพื้นแข็ง คือ มีรสชาติดี อร่อยนุ่ม ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งก็เป็นราคาที่ถูกกว่าข้าวตลาดบนอย่างข้าวหอมมะลิด้วย  อันจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น และยังเป็นการยกระดับข้าวไทยไปสู่ตลาดข้าวคุณภาพมากขึ้น (ไม่เน้นเชิงปริมาณ) ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่หลากหลายตามมา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่ทั้งชาวนาและผู้ส่งออกข้าวไทย

   วัตถุประสงค์ในการชูข้าวขาวพื้นนิ่มขึ้นมาเป็น Fighting Product เพื่อกู้วิกฤติ โดยต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่หายไป ทั้งในตลาดข้าวขาวที่น่าเป็นห่วงอย่างมากและในตลาดข้าวหอมมะลิที่เริ่มเห็นภาพของส่วนแบ่งตลาดที่ทยอยลดลงบ้างแล้ว โดยจะมุ่งเป้าตลาดส่งออกไปยังตลาดที่หันมานิยมบริโภคข้าวขาวพื้นนิ่มมากขึ้น เช่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อิรัก เป็นต้น ซึ่งการเร่งพัฒนาและส่งออกข้าวพื้นนิ่ม จะก่อให้เกิดผลดีต่อตลาดส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทย คือ

           ช่วยผลักดันส่วนแบ่งการตลาดข้าวขาวพื้นนิ่มให้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนส่วนแบ่งการตลาดข้าวขาวพื้นแข็งที่หายไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพและราคาข้าวขาวของไทยไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นตลาดข้าวขาวพื้นแข็ง (ตลาดล่าง)

           สามารถชดเชยส่วนแบ่งการตลาดข้าวหอมมะลิของไทยที่หายไปได้ เนื่องจากข้าวขาวพื้นนิ่ม เป็นข้าวพื้นนิ่มเช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิ มีความเหนียวนุ่ม (ไม่มีกลิ่น) แต่มีราคาถูกกว่า จึงตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อรองลงมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถแข่งกับข้าวหอมเวียดนามได้ เพราะมีราคาถูกกว่า

อีก 7 ปีข้างหน้า...ไทยจะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดที่หายไปราวร้อยละ 5 คืนมาได้

หากมีการพัฒนาข้าวพื้นนิ่มอย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ

 แม้ในปัจจุบันตลาดโลกจะมีความนิยมบริโภคข้าวขาวพื้นนิ่มมากขึ้น แต่ไทยยังมีการผลิตในสัดส่วนที่น้อย ทำให้ไทยยิ่งเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามและกัมพูชาที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวพื้นนิ่มอย่างต่อเนื่อง  ประกอบกับต้นทุนการผลิตของคู่แข่งที่อยู่ในระดับต่ำกว่าไทย ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาข้าวขาวพื้นนิ่มของไทยโดยเฉพาะกับเวียดนาม (ภายใต้ผลผลิตต่อไร่ที่ใกล้เคียงกัน) พบว่า แม้ไทยจะมีราคาข้าวขาวพื้นนิ่มที่สูงกว่าเวียดนามเล็กน้อย แต่ด้วยจุดแข็งของไทยในด้านคุณภาพข้าวที่ดี การส่งมอบข้าวที่ตรงเวลาของผู้ส่งออก และภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทย ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ก็น่าจะช่วยให้ข้าวขาวพื้นนิ่มของไทยสามารถแข่งขันกับข้าวขาวพื้นนิ่มและข้าวหอมของเวียดนามได้ 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการผลิตข้าวขาวพื้นนิ่มของไทยยังอยู่ในช่วงที่ภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้นและอยู่ในช่วงทดลองตลาด ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการทยอยให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มมากขึ้นพร้อมกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีความเสถียรมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากไทยสามารถส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มในปี 2563 ที่ราว 0.8 ล้านไร่ (โดยเฉพาะในเขตชลประทานภาคเหนือและภาคกลาง) ด้วยการมีนโยบายของภาครัฐให้การสนับสนุนแก่ชาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในด้านเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิต เงินจูงใจในการปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มแทนการปลูกข้าวขาวพื้นแข็ง การจัดโซนนิ่ง ก็จะจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มมากขึ้นจนทำให้มีการเติบโตทั้งในด้านพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ขณะที่พื้นที่การปลูกและผลผลิตข้าวขาวพื้นแข็งก็จะลดลงตามลำดับเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถมีผลผลิตข้าวขาวพื้นนิ่มเพื่อส่งออกที่ราว 7 ล้านตันได้ในปี 2570 หรืออีกราว 7 ปีข้างหน้า และเป็นระดับที่ทำให้ไทยสามารถทวงส่วนแบ่งตลาดของข้าวขาวและข้าวหอมมะลิที่หายไปร้อยละ 5.2 คืนกลับมาได้  โดยจะทำให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในโลกได้มากกว่าร้อยละ 24.5 เนื่องจากปริมาณส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่มที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยปริมาณส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิที่ลดลงได้ 

สรุป การชูข้าวขาวพื้นนิ่มมาเป็น Fighting Product น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการปรับตัวให้เข้ากับตลาดใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคหันมาบริโภคข้าวคุณภาพดี ราคาไม่แพง แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกถึง 7 ปี ในการสร้างปริมาณการส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่มในจำนวนที่เพียงพอกับการลดลงของปริมาณข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ จนสามารถทวงคืนส่วนแบ่งตลาดข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทยที่หายไปร้อยละ 5.2 กลับคืนมาได้ในปี 2570 และน่าจะช่วยให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในโลกได้มากกว่าร้อยละ 24.5 นับว่าข้าวขาวพื้นนิ่มน่าจะเป็นทางรอดที่ดีในการช่วยประคองภาพการส่งออกข้าวไทยในระยะข้างหน้า และเป็นทางออกที่ดีกว่าที่ไทยจะยังคงอยู่กับปัญหาข้าวขาวพื้นแข็งต่อไป  

ทั้งนี้ ความสำเร็จของข้าวขาวพื้นนิ่ม คงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก และที่สำคัญที่สุดคือ ภาครัฐ ในการเป็นกำลังหลักเพื่อผลักดันนโยบายในรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มมากขึ้น ทั้งด้านแหล่งเงินทุน การบริหารจัดการแหล่งน้ำ/ดิน การจัดโซนนิ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญคือ ควรเน้นไปที่การผลิตเชิงคุณภาพด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย รวมถึงภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยผู้ส่งออกในด้านการตลาด นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ก็นับเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและเตรียมความพร้อม อันจะช่วยให้การส่งออกข้าวไทยสามารถยืนหยัดอยู่ในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ในแง่เชิงนโยบายภาครัฐคงจะเป็นความท้าทายอย่างมาก ที่ในด้านหนึ่งภาครัฐก็ต้องการให้เกษตรกรจำนวนมาก ขายผลผลิตได้ในราคาดี ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ไทยเองก็ต้องการจะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง ในภาวะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่งทั้งสิ้น จึงคงต้องฝากความหวังไว้กับระดับของนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนข้าวขาวพื้นนิ่มของไทยต่อไป

Political News