สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

การเตรียมความพร้อมเพื่อการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในประเทศไทย

โดย...บดินทร์ วงศ์วิทยาภิรมณ์ ผู้จัดการอาวุโส | Sustainability & Climate COE ลัญจกร ภาษีผลผู้อำนวยการ | ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเงิน ดีลอยท์ ประเทศไทย  

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance (ESG) มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย และแต่ละองค์กรหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งผลส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันของเวทีระดับโลกอย่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ทั้งนี้ จากรายงาน The Global Risks Report 2023 ซึ่งจัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) พบว่า 5 อันดับแรก ของความเสี่ยงที่ธุรกิจให้ความสำคัญและคิดว่ามีผลกระทบรุนแรงในระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงด้าน ESG ได้แก่  

1.       ความล้มเหลวกับการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ (Failure to mitigate climate change)

2.       ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Failure of climate adaption)

3.       ภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบกะทันหัน (Natural disaster and extreme weather)

4.       การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity loss and ecosystem collapse)

5.       การย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจขนาดใหญ่ (Large-scale involuntary migration)  

จากรายงาน Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022 ของดีลอยท์ระบุว่า ผู้นําส่วนใหญ่ให้ความสําคัญกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ESG ในองค์กร การบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์องค์กร และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเน้นการให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสและตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการให้ความสำคัญด้าน ESG ของผู้บริหารแต่ละระดับมีความแตกต่างกันเล็กน้อย สรุปดังตารางด้านล่าง

 

ระดับ

ตัวอย่างตำแหน่ง

การให้ความสำคัญด้าน ESG

คณะกรรมการ

President, Chairman, Managing Directors, Partner, Board of Director member

มุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่ตัวชี้วัดทางสังคม เช่น การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น

ผู้บริหารระดับสูง

CEO, CFO, COO, CSO, CIO, CTO, CRO เป็นต้น

มุ่งเน้นการรายงาน ESG ที่สอดคล้องกับข้อกําหนดต่างๆ เช่น เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดของอุตสาหกรรม กฎหมายในแต่ละประเทศ เป็นต้น

ผู้บริหาร

SEVP, EVP, VP, Head of, Executive Director, Director

มุ่งเน้นได้รับการยอมรับจากดัชนีความยั่งยืน เช่น หุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI), ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) เป็นต้น

 สถานการณ์และความท้าทายของภาคธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อให้เกิดมาตรฐานการชี้วัดเดียวกันสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะที่ 1 จะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง และจะขยายไปในภาคธุรกิจสำคัญอื่นๆ ต่อไป  

โดยแนวทางการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้เพื่อจำแนกกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. แบ่งการดำเนินงานของบริษัทออกเป็นระดับกิจกรรม ได้แก่
  • กลุ่มกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือใกล้เคียง หรือกิจกรรมที่มีแนวทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามแบบจำลอง 1.5’c (green activities: Green)
  • กลุ่มกิจกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือกิจกรรมที่ไม่มีแนวทางไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (transition activities: Amber) 
  • กลุ่มกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายและไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Red activities: Red)
  1. ประเมินกิจกรรมตามหลักเกณฑ์คัดกรองทางเทคนิค (Technical Screening Criteria)
  2. ตรวจสอบว่ากิจกกรมไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) ต่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่นและประเมินผลกระทบด้านสังคม (Minimum Social Safeguards)

นอกจากนี้ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของหน่วยงานสำคัญด้านการบัญชีและการตรวจสอบของประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ได้จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG ให้สามารถบริหารจัดการและเปิดเผยผลลัพธ์จากการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

จากรายงาน Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022 ของดีลอยท์ระบุว่า องค์กรเห็นว่ายังมีความท้าทายเกี่ยวกับการรายงานด้านความยั่งยืนอยู่ ได้แก่

  • การขาดเทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพร้อยละ18
  • การกํากับดูแล ESG ที่ไม่ชัดเจน / หรือไม่มีบุคลากรสำคัญเพื่อขับเคลื่อน ESG ร้อยละ 17
  • ขาดผู้เชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นด้าน ESG ภายในองค์กร ร้อยละ 15
  • ขาดการปรับปรุงกระบวนการให้สอดคล้องกับข้อกําหนด ESG ร้อยละ 15

การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจ

จากสถานการณ์ปัจจุบัน และความท้าทายที่แต่ละองค์กรต้องเผชิญ เรื่องการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG นั้น ปัจจัยสำคัญที่องค์กรควรพิจารณามีดังต่อไปนี้  

1.       องค์กรของท่านมีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้พร้อมรับความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในปัจจุบัน และอนาคตหรือไม่อย่างไร ขอให้ท่านมองว่าความเสี่ยงและผลกระทบด้าน ESG ไม่ได้เป็นเพียงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ที่อาจช่วยเพิ่มยอดขาย และเป็นใบเบิกทางสำหรับองค์กรของท่านเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่สอดรับกับการป้องกันหรือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ ที่ได้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดอีกด้วย

2.       องค์กรของท่านมีการสร้างวัฒนธรรม และโครงสร้างการกำกับดูแลด้าน ESG อย่างไร มีการกำหนดคณะกรรมการ หรือ คณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับ ESG หรือไม่ คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการดังกล่าวให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากน้อยเพียงใด โครงสร้างการกำกับดูแลสนับสนุนงานด้าน ESG และสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันทั้งองค์กรเพียงใด

3.       องค์กรของท่านมีการปลูกฝังความรู้ ทักษะ และความสามารถให้กับบุคลากรเกี่ยวกับ ESG มากน้อยเพียงไร เพื่อให้สามารถตอบสนองกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเสี่ยงด้าน ESG เป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบที่คาดเดาได้ยาก ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาที่จะเกิดได้แน่นอน และประเมินผลกระทบในเชิงปริมาณหรือตีเป็นมูลค่าตัวเงินได้ยาก องค์กรจึงควรกำหนดให้มีการถ่ายทอด แบ่งปันทักษะระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารความเสี่ยง และผู้ปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4.       องค์กรของท่านมีการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศ เพื่อเก็บรวบรวม ติดตาม สื่อสารเกี่ยวกับ ESG อย่างไร การใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้องค์กรมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น เกิดการติดตามเป้าหมายด้าน ESG ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งช่วยในการตัดสินใจ และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ได้อย่างทันถ่วงที

Political News