สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

มจธ.ระบุ กระแสลมช่วยเจือจางสารสไตรีน แนะ เจ้าหน้าที่และอาสาฯ ตรวจสุขภาพ

แม้ว่าจะสามารถควบคุม เพลิงไหม้และเปลวไฟ จากการระเบิดของถังบรรจุเคมีขนาดใหญ่ภายในโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ย่านกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ได้แล้ว ล่าสุดไฟเกิดการปะทุขึ้นอีกเมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 6 กรกฎาคม ประกอบกับฝนที่ตกหนักชะล้างกลุ่มควันลงสู่พื้นดิน แหล่งน้ำ รวมถึงบ้านเรือนประชาชน ลมที่พัดแรงตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มควันขยายพื้นที่กว้างออกไป แต่ทั้งนี้สิ่งที่หลายฝ่ายยังมีความเป็นห่วงก็คือ ฝุ่นละอองหรือสารมลพิษทางอากาศในกลุ่มควันขนาดใหญ่ที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารสไตรรีน ที่เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมพลาสติก และเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงพื้นที่ห่างไกลออกไปมากน้อยเพียงใดนั้น

ในกรณีนี้ ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และในฐานะนักวิจัยด้านแบบจำลองเพื่อทำนายการเคลื่อนที่ของอากาศ กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า แม้ว่าจะมีสารประกอบจากการเผาไหม้ของสารสไตรีนและกลุ่มควันตลอดทั้งวันของวันที่ 5 กรกฎาคม แต่ข้อมูลจากข้อมูลการทำนายทางอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีอยู่โดยรอบ รวมถึงข้อมูลจากภาคประชาชน ก็น่าจะทำให้เบาใจได้ว่า ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระดับที่น่าเป็นห่วง

“เนื่องจากการเผาไหม้ของสารเคมีที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ส่งผลให้สารมลพิษทางอากาศ และควันลอยตัวขึ้นสู่อากาศในระดับสูง อย่างรวดเร็ว ก่อนถูกลมในระดับสูงพัดออกไปนอกพื้นที่ และเกิดการเจือจางตลอดเส้นทาง ทำให้ความเสี่ยงที่คนในชุมชนจะได้รับผลกะทบจากสารสไตรีนมีค่อนข้างต่ำ ซึ่งตรงกับข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบ ที่ไม่พบการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สำคัญยังไม่พบประชาชนที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจจากการสูดดมสารประกอบนี้”

สำหรับพื้นที่ที่ไกลออกไป ซึ่งมีฝุ่นละอองและสารประกอบกลุ่มสไตรีน จะมีโอกาสตกลงมา และเกิดการปนเปื้อนกับดิน และแหล่งน้ำ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกที่กระแสลมพัดฝุ่นควันไปนั้น  ผศ. ดร.ประพัทธ์ กล่าวว่า กระแสลมจะช่วยเจือจางปริมาณของฝุ่นและสารเหล่านี้ลง จนทำให้การสะสมตัวในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำมีน้อยมาก และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ต่างจาก “กลุ่มอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่” ที่ปฏิบัติงาน ณ บริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งมีโอกาสสูดดมฝุ่นควันและสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูง

“แม้ว่าการสวมอุปกรณ์ หรือชุด PPE และสวมหน้ากากคาร์บอนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงระยะเวลาปฏิบัติงานที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงจากการสูดดมสารเคมีอันตรายเหล่านี้ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงาน ให้ความสำคัญกับการไปตรวจสุขภาพ เพื่อดูว่าตนเองได้รับสารเหล่านี้เข้าไปมากน้อยเพียงใด เพราะเราคงไม่อยากให้เจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครที่มาเสียสละทำหน้าที่ต้องได้รับผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้”

ในส่วนของการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในอนาคต หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า สารเคมีอันตรายอย่างสารสไตรรีน ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีการขออนุญาตถือครองวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว โดยกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม มีกฎหมายความปลอดภัย ข้อกำหนด และข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการติดตามตรวจสอบจากผู้รับผิดชอบภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่อยากเสริม คือ การทำให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น อบต. หรือเทศบาล ควรมีข้อมูลที่อัพเดทว่าโรงงานแต่ละแห่งในพื้นที่นั้นๆ มีชนิดและปริมาณของสารเคมีอะไรบ้าง ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายกับชุมชนของตนเอง รวมถึงการมีแผนปฏิบัติการร่วมกันเมื่อมีเหตุการณ์ และการประชาสัมพันธ์สิ่งเหล่านี้ ให้คนในชุมชนได้รับทราบอย่างเหมาะสม นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่แล้ว ยังเป็นการลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับ สไตรีน (Styrene) เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว สูตรทางเคมี C8H8 , CAS #. 100-42-5 น้ำหนักโมเลกุล 104.16 ถ้าสารมีอุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะเป็นสารไวไฟขึ้น การดับเพลิงให้ใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์หรือเคมีแห้ง จะทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงกับสารพวกออกซิไดซิ่ง เอเจ้นท์ (Oxidizing Agent) และกรดเข้มข้น เช่น กรดกำมะถัน

ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม ใช้ผลิตพลาสติกกับสารอื่นเช่น Acrylonitrile- butadiene- styrene plastics ใช้ทำกระเป๋าแบบแข็ง Acrylonitrile- styrene plastics ใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้านและบรรจุภัณฑ์

ผลต่อสุขภาพ เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดินถ้าหายใจเข้าไป จะระคายจมูกและคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้ การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตาถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเอาสารเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้ง แตก

Political News