สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ราคาทองคำขาขึ้นหนุนเงินบาทแข็งค่า...จุดเปลี่ยนอยู่ที่จังหวะส่งสัญญาณหยุดลดดอกเบี้ยของเฟด

ประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องยังสร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกสินค้า และธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 7.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2562 และเป็นการแข็งค่าเมื่อเทียบกับทั้งสกุลเงินหลักที่เป็นคู่ค้าและสกุลเงินในภูมิภาคที่เป็นคู่แข่ง ทั้งนี้ ความกังวลดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ตราบเท่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอย่างมากจากความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้า และ Brexit ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยถึงต้นปีหน้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยากที่จะกำหนดทิศทางและอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการไทย ในขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ยังเป็นปัจจัยอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อค่าเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้

►           แม้ต่างชาติจะมีการขายสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ ดุลการค้าที่เกินดุลในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลการค้าจากทองคำ ยังเป็นแรงหนุนค่าเงินบาทให้แข็งค่า ท่ามกลางดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ติดลบในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 สะท้อนการไหลออกของเงินทุน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในระดับสูงจากการเกินดุลทั้งดุลการค้า และดุลบริการที่รวมการท่องเที่ยวของไทย กลับส่งผลให้มีความต้องการสภาพคล่องเงินบาทอยู่มาก และหนุนให้ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางการส่งออกของไทยที่หดตัวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ที่ –2.2% แต่ดุลการค้ากลับยังเกินดุลอยู่ในระดับสูง ซึ่งการเกินดุลการค้าในภาพรวม กว่าครึ่งมาจากการเกินดุลทองคำ โดยนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 62 ที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นทำให้ไทยมีการส่งออกทองคำมากกว่าการนำเข้า ซึ่งหากหักผลของการส่งออก-นำเข้าทองคำ ดุลการค้าในบางเดือนจะขาดดุลลงทันที ทั้งนี้ การเกินดุลทองคำในระดับสูงของไทยน่าจะปรากฏต่อไปอีกระยะหนึ่ง ตราบเท่าที่ราคาทองคำในตลาดโลกยังขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

►           ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกหนุนความต้องการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนทั้งจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ยังมองว่าจะเป็นประเด็นยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไปยังปีหน้า แม้ว่า ณ ขณะนี้จะมีความคืบหน้าจากการเจรจาของผู้แทนฯ ทั้งสองฝ่ายในการหาข้อยุติทางการค้า แต่มาตรการทางภาษีที่สหรัฐฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการเก็บภาษีในวงเงินสุดท้าย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้มีการส่งสัญญาณที่จะยกเลิก ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีหน้ายังคงมีอยู่ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่ยังมีความเสี่ยงของการออกแบบไม่มีข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค. 2562 นี้ อันจะนำมาซึ่งการถดถอยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอังกฤษและสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกอีกต่อหนึ่ง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ยังมีความต้องการของทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และกดดันราคาทองคำให้อยู่ในทิศทางขาขึ้น

►           ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ทิศทางราคาทองคำขึ้นอยู่กับทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยราคาทองคำในตลาดโลกยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก ตราบเท่าที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากทั้งประเด็นสงครามการค้าและ Brexit ยังไม่ผ่อนคลายลง โดยจุดเปลี่ยนคงอยู่ที่มุมมองของเฟดต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนจากการส่งสัญญาณการยุติการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งอย่างเร็วที่สุดคาดว่า น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ในกรณีดังกล่าว แรงกดดันต่อราคาทองคำคงทยอยลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทจากการเกินดุลการค้าทองคำที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด ในกรณีที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยยังมีอยู่สูง เฟดคงต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายโดยการปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันจะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำให้อยู่ในระดับสูงยาวนานขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

►           ในบางประเทศมีการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าทองคำ เพื่อช่วยลดแรงกดดันค่าเงินที่มีทิศทางอ่อนค่า อย่างในกรณีของประเทศอินเดียได้มีการนำมาตรการควบคุมการนำเข้าทองคำอย่างเข้มงวดมาใช้ ทั้งการเก็บภาษีนำเข้าทองคำ เพื่อช่วยลดแรงกดดันการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีการขาดดุลมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าทองคำที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือมีสัดส่วน 11.1% ของมูลค่านำเข้าทองคำรวมของโลก (ข้อมูลปี 2561) เช่นกันกับจีนที่ทางการมีการกำหนดโควต้านำเข้าทองคำ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนที่มีทิศทางอ่อนค่า ในขณะที่สถานการณ์ของไทยกลับอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับทั้งสองกรณีดังกล่าว กล่าวคือ ทางการไทยไม่ได้มีความกังวลต่อเงินทุนไหลออก หรือการที่คนในประเทศนำเงินไปซื้อทองคำ นอกจากนี้ หากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันว่า ทิศทางราคาทองคำจะกลับทิศตามสถานการณ์ของเฟดที่มีแนวโน้มจะยุติการลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรก จะทำให้ช่วงระยะเวลาของการดำเนินมาตรการอาจจะไม่นานมากนัก อย่างไรก็ตาม ในภาวะแวดล้อมที่มีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่หลายประเด็นที่พร้อมจะกระทบความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งอาจจะทำให้ประเด็นเรื่องทองคำและค่าเงินกลับมาเป็นประเด็นอีกในระยะข้างหน้า การเตรียมความพร้อมในการดูแลประเด็นการนำเข้า-ส่งออกทองคำคงจะต้องระดมความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานในการพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบในด้านต่างๆ

Political News