สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

“ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์”เปิดประตูนักลงทุนไทยสู่โอกาสต่อยอดความมั่งคั่งระดับโลก

 “ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” ประกาศพร้อมเปิดพรมแดนใหม่ต่อยอดความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทย (High Net Worth Individuals - HNWIs) อย่างเป็นทางการ ด้วยบริการที่ปรึกษาทางการเงินและบริหารความมั่งคั่งเฉพาะบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ  พร้อมช่วยขยายโอกาสในการลงทุนทั่วโลกให้ลูกค้าในประเทศไทยเพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างเต็มศักยภาพ มอบประสบการณ์ที่สุดแห่งวิถีการให้บริการแบบไทย ภายใต้มาตรฐานและความเชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การลงทุนระดับโลก พร้อมเผยแพร่บทสรุป “รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย ปี 2562 (Wealth Report Thailand 2019)” ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จัดทำรายงานโดยเน้นตลาดเมืองไทยเป็นหลัก โดยข้อมูลจะเน้นการเจาะลึกสถานการณ์ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของประเทศไทย จากผลสำรวจกลุ่มลูกค้า HNWIs ในประเทศไทยจำนวน 351 ราย ครอบคลุมการวิเคราะห์ทุกมิติตั้งแต่ทัศนคติเกี่ยวกับการบริหารความมั่งคั่ง การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พฤติกรรมการลงทุนเฉพาะกลุ่ม รวมถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและเทรนด์เรื่องราคาและการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศไทย พร้อมคาดการณ์ในช่วงเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2563) กลุ่มลูกค้า HNWIs ในประเทศไทยจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 9.9% ต่อปี ทำให้มีมูลค่าโดยรวมกว่า 401,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ รวมถึงคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะสามารถแตะระดับ 1,800 จุดได้ภายในไตรมาส 3 ของปี

นางจิรลาวัณย์ ตั้งกิจเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด  กล่าวว่า “ภาพรวมธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals – HNWIs) มีการเติบโตในอัตราที่สูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และจูเลียส แบร์ พร้อมที่จะให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNWIs) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เรามีความมุ่งมั่นในการนำเสนอแผนการบริหารความมั่งคั่งแบบไร้พรมแดนซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของจูเลียส แบร์ ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ และหนึ่งในสี่ผู้ให้บริการธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้งรายใหญ่ในเอเชีย ผ่านแนวทางการลงทุนแบบเปิด (Open Product Platform) ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า HNWIs ทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ให้อิสระสูงสุดแก่ลูกค้าในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจากทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นักลงทุนไทยจะสามารถคัดสรรการลงทุนหลักทรัพย์เฉพาะเป็นรายตัว รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนจากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ซึ่งเมื่อผสานเข้ากับการวิเคราะห์โอกาสอย่างเฉียบขาดจากมุมมองเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนโฉม ด้วยข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์จากผู้เชี่ยวชาญของจูเลียส แบร์ที่ประจำอยู่ทั่วทุกมุมโลก และแผนการบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างมีกลยุทธ์ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล  จึงทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดจากทุกสภาวะตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้อย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้เรายังเป็นจุดหมายปลายทางของ World-class One Stop Service ด้านการบริหารความมั่งคั่งเต็มรูปแบบด้วยมาตรฐานระดับโลก ที่ครอบคลุมไปจนถึงการวางโครงสร้างความมั่งคั่ง การบริหารภาษี การย้ายถิ่นพำนัก การวางแผนเกษียณ การเตรียมแผนสำหรับทายาท และกิจกรรมเพื่อการกุศล ฯลฯ”

 “นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญของไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ คือ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าระดับ HNWIs ในเมืองไทยของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่นำเอกลักษณ์เฉพาะในการดูแลและให้คำปรึกษาที่ตรงใจและตรงจุด โดยเรามีโครงสร้างทีมในการดูแลลูกค้า แบ่งเป็น 2 แกนสำคัญ ได้แก่ 1) การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ได้แก่ ทีมผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (Relationship Manager) และ 2) ผลิตภัณฑ์ (Product) ประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์การลงทุน และทีมผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) นอกจากนี้ยังรวมถึงทีมสนับสนุนต่างๆ (Support Function) ได้แก่ ทีมกฎหมาย ทีมการเงิน ทีมปฏิบัติการ และทีม HR รวมแล้ว 62 คนประจำอยู่ในประเทศไทย ที่ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพรอบด้านแบบมืออาชีพอย่างเข้มข้น พร้อมที่จะดูแลทุกความต้องการของลูกค้า และตอบโจทย์ในทุกมิติการลงทุน ซึ่งการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และได้ในมาตรฐานเดียวกันกับที่สถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการขับเคลื่อนมาตรฐานของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในเมืองไทย บริษัทฯ จึงได้จัดทำ “รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย ปี 2562 (Wealth Report Thailand 2019)” ซึ่งนับเป็น Wealth Report ฉบับแรกที่จัดทำโดยไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เพื่อศึกษาตลาด HNWIs ในประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นผลิตผลแห่งความสำเร็จของการบูรณาการข้อได้เปรียบของทั้งสองผู้ถือหุ้นหลัก คือ ความเข้าใจตลาด รวมถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในการเข้าถึงลูกค้าระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์ ในขอบข่ายประเด็นการศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติที่สำคัญ และความสามารถในการวิเคราะห์และจัดทำ Wealth Report ของจูเลียส แบร์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยสร้างความเข้าใจและความต้องการของลูกค้าเชิงลึก และเห็นโอกาสการวางแผนทางการเงินได้อย่างครอบคลุม และสามารถพิชิตเป้าหมายการลงทุนของลูกค้าที่ตั้งไว้ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้วางแผนจัดงานเสวนาตามหัวเมืองใหญ่ที่สำคัญ เพื่อนำเสนอข้อมูลจาก Wealth Report Thailand พร้อมเทรนด์และโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์โลกให้กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงทั่วประเทศอีกด้วย” นางจิรลาวัณย์ กล่าวต่อ

ในโอกาสการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มีความยินดีที่จะเผยแพร่สรุปข้อมูลสำคัญจาก “รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย ปี 2562” ฉบับแรกที่จัดทำโดยไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เจาะลึกเฉพาะตลาดในประเทศไทย  โดยเก็บข้อมูลจากลูกค้ากลุ่ม HNWIs จำนวน 351 คน นำมาสู่การคาดการณ์ในช่วงเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2563) กลุ่มลูกค้า HNWIs ในประเทศไทยจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 9.9% ต่อปี ทำให้มีมูลค่าโดยรวมกว่า 401,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่หนุนการเติบโตนี้ คือการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของความมั่งคั่งครัวเรือน เศรษฐกิจดีขึ้น รวมไปถึงการที่ราคาของอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะแตะที่ระดับ 1,800 จุดได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และประเทศไทยจะยังมีฐานะทางการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง

รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่ากลุ่ม HNWIs ในประเทศไทยกว่า 56% สนใจการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) มากกว่าการคงการรักษาระดับความมั่งคั่ง (Wealth Preservation) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 41% โดยลูกค้ากลุ่มนี้มีรูปแบบการจัดพอร์ตในลักษณะเดียวกับกลุ่ม HNWIs ในต่างประเทศ คือ นิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น หุ้น พันธบัตร และกองทุน แต่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในประเทศ โดยนักลงทุนกลุ่ม HNWIs ในไทยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ อยู่ที่ 6% ขณะที่นักลงทุนกลุ่ม HNWIs ในต่างประเทศจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ในอัตรา 17% และ 9% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก

ข้อสรุปจากการสำรวจที่น่าสนใจจาก “รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย” ประจำปี 2562 มีดังนี้

    จากกลุ่มสำรวจมีการลงทุนในต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งผลิตภัณฑ์มีจำนวนไม่ถึงครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ในจำนวนนี้หุ้นและตราสารหนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการลงทุนมากที่สุด ตามด้วยกองทุน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง

    การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักลงทุน พบว่ามีความสนใจลงทุนในผลิตภัณฑ์/การลงทุน (โดยเฉพาะในต่างประเทศ)  นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงด้านภาษีและกฎหมายยังเป็นโอกาสที่จะผลักดันการเติบโตของตลาดนี้ในประเทศไทย

    พฤติกรรมและทัศนคติของนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่ให้ความเห็นในการจัดทำแบบสำรวจครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

o   กลุ่มผู้ประกอบการมิลเลนเนียล (Millennial Entrepreneur) อายุไม่เกิน 40 ปี  ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินดิจิทัล และการเพิ่มพูนความมั่งคั่ง (Wealth Creation) มากกว่าการคงระดับรักษาความมั่งคั่ง (Wealth Preservation) อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่ม กลุ่มผู้ประกอบการมิลเลนเนียลกลับมีความเข้าใจน้อยที่สุดว่าจะเข้าถึงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างไร

o   กลุ่มนักลงทุนเต็มตัว (Mature Investors) อายุระหว่าง 41 - 60 ปี เป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดถึงรูปแบบความหลากหลายของสินทรัพย์การลงทุนในต่างประเทศเมื่อเทียบกับอีกสองกลุ่ม

o   กลุ่มคนเกษียณไฮเทค (Techie Retiree) อายุมากกว่า 60 ปี เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศน้อยที่สุดและต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนมืออาชีพ มาช่วยจัดการบริหารการเงินให้ โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุดใน 3 กลุ่ม

    รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทยนี้ยังได้ให้ข้อมูลการจัดอันดับประเทศไทยในดัชนีไลฟ์สไตล์ของจูเลียสแบร์ (Julius Lifestyle Index 2018) ที่จัดทำขึ้นโดยพิจารณาจากตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการลักซ์ชัวรี่ต่างๆ จำนวน 22 รายการที่สามารถสะท้อนการใช้จ่ายของชาว HNWIs ในภูมิภาคนี้

o   กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูกสำหรับนักช้อป โดยอยู่ในอันดับ 7 ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2561 หากคิดเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ

o   สินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าเนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยนำเข้าบางรายการ ขณะที่ราคาของการให้บริการลักซ์ชัวรี่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินการในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ การจัดงานแต่งงานอย่างหรูหราในกรุงเทพฯ มีต้นทุนถูกที่สุด อย่างไรก็ดีนักช้อปที่มาใช้บริการผ่าตัดเลสิก ตัดเสื้อสูท และซื้อซิการ์ในประเทศไทยกลับต้องจ่ายแพงกว่าในเมืองอื่นๆ ทั่วภูมิภาค

 “หนึ่งในข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ คือ แนวโน้มธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงของไทยมีการเติบโตอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา และแนวโน้มนี้จะยังคงมีต่อเนื่องเพราะประชากรไทยมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มองเห็นศักยภาพอีกมากในตลาดนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาค เนื่องจากกลุ่ม HNWIs มีความรู้มากขึ้นและเงื่อนไขทางกฎหมายและนโยบายเอื้อต่อการลงทุนและบริหารจัดการความมั่งคั่งได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตามผลการสำรวจจากรายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้า HNWIs ในประเทศไทยยังไม่ได้รับบริการอย่างเพียงพอ และมีความต้องการลงทุนในต่างประเทศอยู่มาก ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอแนวทางการวางแผนการเงิน การต่อยอดความมั่งคั่ง รวมทั้งบริการที่จะช่วยให้กลุ่ม HNWIs บรรลุความตั้งใจในทุกมิติของชีวิตทั้งการเงินและจุดมุ่งหมายส่วนบุคคล ผ่านการให้คำปรึกษาและการคัดสรรผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับโลกให้กับลูกค้าในประเทศไทย เราเชื่อว่าไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จะสามารถช่วยให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายด้านการลงทุนได้เป็นอย่างดี” นางจิรลาวัณย์ กล่าวสรุป

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษา “รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย” ที่จัดทำโดยไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ได้ที่  www.scbjuliusbaer.com   ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำส่งรายงานฉบับเต็มให้แก่ลูกค้า HNWIs ของไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News