สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

บทบาทของเอทีเอ็มท่ามกลางการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด บริบทที่ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนึง

ประเด็นสำคัญ

  • -ในปี 2561 จำนวนตู้เอทีเอ็มและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์มีจำนวนลดลง โดยมีอัตราการเติบโต -0.98%YoY ลดลงจาก 5.17%YoY ในปี 2560 และเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 35 ปี นับจากการติดตั้งเอทีเอ็มเครื่องแรกในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้เงินสดที่ลดลง ส่งผลให้การประกอบธุรกิจเอทีเอ็มของธนาคารในปัจจุบันเริ่มเกิดความไม่คุ้มค่าจากปริมาณการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มที่ลดลงทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องทบทวนบทบาทของตู้เอทีเอ็มในปัจจุบันและอนาคต
  • -อย่างไรก็ตาม หากความต้องการใช้เงินสดลงลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นปัจจัยเร่งให้การประกอบธุรกิจเอทีเอ็มในอนาคตอาจเกิดขึ้นในลักษณะการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันระหว่างธนาคาร เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทุก ๆ การลดลง 5% ของจำนวนตู้เอทีเอ็มที่มีทั่วประเทศในปัจจุบัน จะช่วยลดต้นทุนทั้งหมดในการประกอบธุรกิจเอทีเอ็มให้แก่สถาบันการเงินทั้งระบบได้ 5,220 – 5,880 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.03 ต่อจีดีพีโดยประมาณ อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่จะลดลงยังคงขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้เอทีเอ็มร่วมกันในอนาคตตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่จะประกาศใช้ในระยะข้างหน้า และการเจรจาร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2561 ที่ผ่านมา เครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ หรือ ตู้เอทีเอ็ม ของธนาคารพาณิชย์ เริ่มมีจำนวนลดลง แม้ว่าตู้เอทีเอ็มจะเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนที่สำคัญของธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกนอกเวลาทำการให้แก่ลูกค้าในเรื่องของการเบิกถอนเงินสด รวมทั้งการทำธุรกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนตู้เอทีเอ็มส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการลดจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และอาจทำให้การลงทุนติดตั้งตู้เอทีเอ็มในพื้นที่ใหม่ของธนาคารมีประเด็นด้านความคุ้มค่า โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • -จำนวนตู้เอทีเอ็มมีอัตราการเติบโตติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี โดยในปี 2561 จำนวนตู้เอทีเอ็มและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 57,554 เครื่อง หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต -0.98%YoY ลดลงจาก 5.17% YoY ในปี 2560 ซึ่งสะท้อนว่าบทบาทของตู้เอทีเอ็มที่มีต่อธนาคารพาณิชย์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่ตู้เอทีเอ็มนับเป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม ทว่า ในปัจจุบันธนาคารแต่ละแห่งแข่งขันกันพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นเพื่อการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏบนช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกระทบต่อสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารจากการใช้ตู้เอทีเอ็มให้มีสัดส่วนที่เล็กลง ขณะที่ปริมาณการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ลดลงจากสิ้นปี 2560 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้เงินสดของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต
  • -ความคุ้มทุนในธุรกิจเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ถูกท้าทาย จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้าแทรกแซงอุตสาหกรรมทุกประเภทรวมทั้งอุตสาหกรรมการเงิน ที่ทำให้ผู้บริโภคนิยมทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นทั้งโมบายแอปพลิเคชั่นและอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ประกอบกับแรงจูงใจทางด้านต้นทุนที่ทำให้ผู้ให้บริการหันมารุกช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการให้บริการทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็มสูงกว่าการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลถึง 30 เท่า ทั้งนี้ บริบทความคุ้มทุนของธุรกิจเอทีเอ็มมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงประเด็นด้านรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่มิใช่ตัวเงินด้วย อาทิ ความพึงพอใจของลูกค้า คุณภาพการให้บริการจากการกระจายความหนาแน่นของลูกค้าออกจากสาขาธนาคาร ความสะดวกของลูกค้าในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งหากพิจารณาวัฏจักรความคุ้มทุนของธุรกิจเอทีเอ็มที่คำนวณจากสัดส่วนปริมาณธุรกรรมบนตู้เอทีเอ็มต่อจำนวนตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ อาจจำแนกออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

                1.ช่วงเริ่มลงทุน ซึ่งเป็นระยะแรกของการติดตั้งตู้เอทีเอ็ม โดยในระยะนี้การมีอยู่ของตู้เอทีเอ็มเป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ธนาคารมีต้นทุนในธุรกิจเอทีเอ็มที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากปริมาณการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มยังค่อนข้างน้อย

                2.ช่วงคุ้มทุน เป็นช่วงที่ตู้เอทีเอ็มเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยแก่ผู้บริโภคแล้ว ส่งผลให้การทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนเกิดความคุ้มค่าทั้งในเชิงตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน

                3.ช่วงที่เริ่มเกิดความไม่คุ้มทุน เนื่องจากตู้เอทีเอ็มที่ให้บริการในบางจุดเริ่มถูกแทนที่ด้วยโมบายแบงก์กิ้ง ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนของตู้เอทีเอ็มในบางพื้นที่มากเกินกว่าความต้องการใช้งาน ขณะที่ในบางจุดให้บริการยังคงมีปริมาณการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มที่หนาแน่น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า บริบทความคุ้มทุนของธุรกิจเอทีเอ็มเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ดังจะสังเกตได้จากปริมาณธุรกรรมต่อจำนวนตู้ที่เริ่มปรับตัวลดลง อันส่งสัญญาณถึงทิศทางความคุ้มทุนในเชิงตัวเงินที่เริ่มลดลงตาม

                4.ช่วงไม่คุ้มทุน จากแนวโน้มความต้องการใช้เงินสดของประชากรที่ลดลง และอาจลดลงสู่ระดับที่ต่ำมากในอนาคตอาจส่งผลต่อจุดให้บริการตู้เอทีเอ็มที่ไม่คุ้มทุนให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งหากตู้เอทีเอ็มที่เกิดความไม่คุ้มทุนคิดเป็นสัดส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนตู้เอทีเอ็มของสถาบันการเงินทั้งระบบอาจส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจเอทีเอ็มในอนาคตให้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมในปัจจุบัน

บริบทของเอทีเอ็มในอนาคตขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่เปลี่ยนแปลงตามเวลา ความต้องการ และความเหมาะสม ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังรอบด้าน

                จากความท้าทายที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญท่ามกลางการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในปัจจุบัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องทบทวนบทบาทการลงทุนในธุรกิจเอทีเอ็มในอนาคต ที่อาจก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าจากการลงทุนโดยต้องประเมินสถานการณ์ด้วยความระมัดระวังรอบด้าน ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทของเอทีเอ็มในอนาคตอาจพิจารณาได้ ดังนี้

  • -รูปแบบการดำเนินธุรกิจเอทีเอ็มในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจำแนกเป็น ผลประโยชน์ของลูกค้า อาทิ ความต้องการใช้เงินสด ความสะดวกสบายของลูกค้าในการเข้าถึงบริการของธนาคาร ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ และผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ ที่อาจพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน เช่น ต้นทุนและรายได้ในการดำเนินงาน เป็นต้น และ ผลประโยชน์ที่มิใช่ตัวเงิน อาทิ ภาพลักษณ์ (Branding) ของผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มที่อาจได้รับผลกระทบจากโมเดลการดำเนินธุรกิจเอทีเอ็มรูปแบบใหม่ในอนาคต
  • -ขณะที่ ในปัจจุบันมีการริเริ่มจากธปท.ที่ต้องการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนของสถาบันการเงินทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาถึงรูปแบบการดำเนินงานธุรกิจเอทีเอ็มที่เหมาะสมในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ อาทิ การใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกัน การใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกัน อันจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนของธนาคารพาณิชย์ได้ แต่กระนั้น อาจต้องแลกกับภาพลักษณ์ (Branding) ที่อาจหายไป และรายได้ค่าธรรมเนียมที่อาจลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าธรรมเนียมการให้บริการระหว่างธนาคาร (Interchange Fee) ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจตั้งต้นในธุรกิจเอทีเอ็มของธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งหากเป็นธนาคารที่มีการลงทุนมากในธุรกิจเอทีเอ็มทั้งจำนวนตู้และฟังก์ชั่นการทำงานของตู้เอทีเอ็ม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นธนาคารที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจเอทีเอ็มก็จะได้รับผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างมาก ในขณะที่ ธนาคารที่มีการลงทุนในธุรกิจเอทีเอ็มเป็นจำนวนน้อยจะได้รับผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างน้อย และรูปแบบการดำเนินธุรกิจเอทีเอ็มแบบใหม่อาจเป็นผลดีมากกว่าผลเสียต่อธนาคารที่มิใช่เจ้าตลาดในโมเดลธุรกิจเอทีเอ็มตั้งต้น เนื่องจากเป็นการขยายการให้บริการลูกค้าธนาคารของตนโดยลงทุนในสัดส่วนที่น้อยกว่าการดำเนินการเอง
  • -อย่างไรก็ดี หากในอนาคตความต้องการใช้เงินสดลดลงจนถึงระดับที่ต่ำมากอาจก่อให้เกิดการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันระหว่างกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งอาจขยายขอบเขตการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันไปถึงผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนในธุรกิจเอทีเอ็ม (ที่กำลังเคลื่อนเข้าหาช่วงไม่คุ้มทุน) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คำนวณถึงต้นทุนที่อาจลดลงได้ของสถาบันการเงินทั้งระบบ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากการลดจำนวนตู้เอทีเอ็มที่ติดตั้งซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกันของธนาคารพาณิชย์ บนสมมติฐานที่ว่า การลดจำนวนตู้เอทีเอ็มจะเกิดขึ้นเฉพาะตู้เอทีเอ็มที่ติดตั้งนอกพื้นที่สาขาของธนาคารเท่านั้น และเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณธุรกรรมหนาแน่น หากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดจำนวนตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศที่ติดตั้งซ้ำซ้อนกันลงทุก ๆ 5% ของจำนวนตู้ทั้งระบบที่มีในปัจจุบัน จะสามารถลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจเอทีเอ็มของสถาบันการเงินทั้งระบบได้ 5,220 – 5,580 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.03 ต่อจีดีพีโดยประมาณ ซึ่งต้นทุนที่ลดลงนี้ ประกอบด้วย ต้นทุนทั้งหมดในการดำเนินงาน และปริมาณเงินที่ต้องสำรองไว้ในตู้เพื่อรองรับการเบิกถอน อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่จะลดลงยังคงขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้เอทีเอ็มร่วมกันในอนาคตตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่จะประกาศใช้ในระยะข้างหน้า และการเจรจาร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แม้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเอทีเอ็มยังเป็นประเด็นติดตาม แต่แนวโน้มการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยสนับสนุนภาพการลดต้นทุนการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้เงินสดที่ลดลงช่วยให้ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินสด อาทิ การผลิตธนบัตร การขนส่งธนบัตร ปริมาณเงินที่ต้องสำรองไว้ในตู้เอทีเอ็มเพื่อการเบิกถอน ให้มีจำนวนลดลงด้วย ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันของระบบสถาบันการเงินในระยะต่อไป

Political News