สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ความย้อนแย้งที่ค้นพบกับการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 – The Industry 4.0 Paradoxes:

โดย ... ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการ ด้านพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย

ทุกวันนี้โลกกำลังตื่นตัวกับเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ หรือ The Industry 4.0 ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกเลยก็ว่าได้ ที่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ผลักดันและทำให้หลาย ๆ อย่างที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้  ทำให้ขอบเขตเชิงภูมิศาสตร์จางและบางลงเรื่อย ๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจและภูมิทัศน์ในการแข่งขันทางธุรกิจ   แม้แต่ในประเทศไทย รัฐบาลเองยังนำเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้เป็นนโยบาย “Thailand 4.0” ในการปฏิรูปประเทศ จากเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ คืออะไร

การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูง,  ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT)

รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงและสามารถเชื่อมต่อได้ในทุก ๆ ที่นั้น เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่  ถ้าจะให้พูดสั้น ๆ ว่าอุตสาหกรรม 4.0 คืออะไร พูดง่าย ๆ เลยคือ โรงงานอัจฉริยะ ถ้าจะอธิบายให้ละเอียดยิ่งขึ้น  มันเป็นการรวมและเชื่อมต่อโลกดิจิตอลกับโลกทางกายภาพเข้าไว้ด้วยกัน  ทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ฉลาดมากขึ้น  ไม่เพียงแค่เราสามารถควบคุมสั่งงานในระยะไกลผ่านระบบดิจิตอลเท่านั้น  แต่เครื่องจักรยังสามารถคิด วิเคราะห์ และทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง รวมไปถึงความสามารถในการ ‘พูดคุย’ กับเครื่องจักรอื่น ๆ เพื่อทำงานร่วมกัน รวมถึงแจ้งเตือนหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง   ไม่ใช่เครื่องจักรในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ที่มีความสัมพันธ์ในรูปแบบเพียงแค่ ‘มนุษย์-เครื่องจักร’ อีกต่อไป แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ในแบบ ‘มนุษย์-เครื่องจักร-เครื่องจักร-มนุษย์’

 เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น เราคงต้องมองย้อนกลับไปและทำความเข้าใจในเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งสามครั้งก่อนหน้านี้  การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ที่เครื่องจักรไอน้ำและพลังงานไฮดรอลิกเครื่องแรกของโลกทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนั้นในปลายศตวรรษที่ 19  พลังงานไฟฟ้าและระบบการผลิตแบบสายการประกอบ  ทำให้เกิดการผลิตแบบเน้นจำนวนมากเพื่อให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งนำเราไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ที่เกิดขึ้นราวปี 1960 เมื่อมีการนำระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยทำให้สามารถตั้งโปรแกรมและควบคุมเครื่องจักรให้ทำงานในแบบอัตโนมัติได้

อุตสาหกรรม 4.0 มีความหมายอะไรต่ออุตสาหกรรมการผลิต

ประโยชน์ที่ชัดเจนประการแรก คือ สายการผลิต โรงงานสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการขจัดปัญหาเรื่องการหยุดทำงานของเครื่องจักรที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าสายการผลิตจะไม่ขาดตอน ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิต เช่น คน เครื่องจักร และ วัตถุดิบต่าง ๆ สามารถทำงานสอดประสานเป็นอย่างดีด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อันทันสมัย และ Internet of Things (IoT) และเมื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ และเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ  ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมาก อีกทั้งขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้า โดยปราศจากการสะดุดหรืออุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์และศักยภาพที่แท้จริงของ อุตสาหกรรม 4.0 นั้นจะมีนัยยะสำคัญก็ต่อเมื่อองค์กรหรือบริษัท นั้น ๆ ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง โดยการทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจ สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ หรือออกแบบโครงสร้างขององค์กรเสียใหม่

ผลการสำรวจโดยดีลอยท์

เพื่อทำความเข้าใจว่าบริษัทต่าง ๆ มีการลงทุนใน อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิตอล (Digital Transformation) อย่างไร  ดีลอยท์ได้ทำการสำรวจจากผู้บริหาร 361 คนใน 11 ประเทศทั่วโลก การสำรวจครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก จากอุตสาหกรรมหลัก 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยานและยุทโธปกรณ์การรบ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ โลหะการและเหมืองแร่  ปิโตรเคมี และ อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

ผลสำรวจได้เผยให้เห็นถึง  ความกระตือรือร้นในการที่จะลงทุนและแผนในการลงทุนในอนาคตขององค์กร  อีกทั้งแสดงให้เห็นว่า แผนที่องค์กรวางไว้กับการปฏิบัติจริงยังไม่ไปด้วยกัน   ผลสำรวจพบว่ามีความย้อนแย้ง 5 ประการ ในการที่องค์กรจะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิตอล ได้แก่ กลยุทธ์ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของห่วงโซ่อุปทาน ความพร้อมของบุคลากรที่มีความสามารถ การลงทุนในนวัตกรรม และในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงจรการทำงานแบบ กายภาพ-ดิจิตอล-กายภาพ

นี่แสดงให้เห็นว่า องค์กรมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการที่จะเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอล แต่ส่วนใหญ่ยังพยายามหาทางที่จะสร้างสมดุลในการปรับปรุงวิธีการดำเนินธุรกิจด้วยโอกาสที่มากับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในเรื่องนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงของโมเดลธุรกิจ

ความย้อนแย้งด้านกลยุทธ์ (The Strategy Paradox)

ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 94) ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิตอล (Digital Transformation) เป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์อันดับต้น ๆ สำหรับองค์กรของพวกเขา อย่างไรก็ตาม องค์กรเองก็ยังไม่ได้มีการสำรวจวิเคราะห์อย่างเต็มที่ถึงกลยุทธ์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิตอล  และมีเพียงแค่ร้อยละ 68  ที่มองว่าการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอลเป็นช่องทางในการทำกำไร

ความย้อนแย้งด้านห่วงโซ่อุปทาน (The supply chain paradox)

ผู้บริหารต่างระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ที่องค์กรจะลงทุนเพื่อการแปลงไปสู่ดิจิตอลทั้งในปัจจุบันและอนาคต  อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารห่วงโซ่อุปทานที่ดูแลการดำเนินธุรกิจในแต่ละวันและเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้งานนั้น  กลับไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการลงทุนด้านการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอล

ความย้อนแย้งด้านบุคลาการที่มีความสามารถ (The talent paradox)

เป็นปกติที่ความคิดริเริ่มต้องเกิดจากมนุษย์ บุคลากรที่มีความสามารถมีบทบาทสำคัญในการการผลักดัน (หรือต่อต้าน) การเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารมั่นใจว่าองค์กรของตนมีบุคลากรที่มีความสามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอล  แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าบุคลาการที่มีความสามารถนั้นก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเช่นกัน ผู้บริหารมองว่า การเสาะหา ฝึกอบรม และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถนั้น เป็นความท้าทายสูงสุดสำหรับองค์กร และการสร้างวัฒนธรรมขององค์กร

ความย้อนแย้งด้านนวัตกรรม (The innovation paradox)

ผู้บริหารระดับสูงต่างบอกว่าการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นดิจิตอลนั้นมาจากความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ พูดง่าย ๆ คือเพื่อทำสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้น  ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับการศึกษาของดีลอยท์ก่อนหน้านี้ ที่แสดงถึงรูปแบบเดียวกันของการนำเทคโนโลยีมาช่วยการดำเนินธุรกิจระยะใกล้ มากกว่าจะใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิตอลอย่างแท้จริง

ความย้อนแย้งด้านวงจรกายภาพกับดิจิตอลและดิจิตอลกับกายภาพ (Around the physical-digital-physical loop paradox)

วงจรกายภาพ-ดิจิตอล-กายภาพ  คือวงจรในการนำข้อมูลในโลกกายภาพ สร้างเป็นข้อมูลดิจิตอล ทำการวิเคราะห์และแปลงข้อมูลไปเป็นแผนในการปฏิบัติจริงในโลกกายภาพ   ความสามารถในการควบคุมข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจ เป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาองค์กรเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นปัจจัยที่หลาย ๆ องค์กรยังไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ผลจากการสำรวจพบว่าองค์กรเกินกว่าร้อยละ 50 ไปได้เพียงครึ่งทางของวงจรเท่านั้น ในขณะที่บางองค์กรกำลังพยายามทำในส่วน ดิจิตอล-กายภาพ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของวงจร  เป็นส่วนที่ท้าทายที่สุด และสำคัญที่สุดในการที่จะเป็นโรงงานอัจฉริยะ หรือ อุตสาหกรรม 4.0 นั่นเอง

ทะลายความย้อนแย้งต่าง ๆ

หนทางในการไปสู่ Industry 4.0 ไม่ได้มีเพียงหนทางเดียว   และไม่ได้มีความย้อนแย้ง (paradox) อันใดอันหนึ่งที่สำคัญกว่าอันอื่น การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอลไม่ใช่เป็นความพยายามเชิงนามธรรมที่แยกจากกลยุทธ์และวัตถุประสงค์หลักขององค์กร  เมื่อองค์กรได้เริ่มดำเนินการไปสู่การเป็นดิจิตอลแล้ว มันจะกลายเป็นศูนย์กลางขององค์กรและมีผลกับทุกแง่มุมของบริษัท การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอลนั้นเป็นมากกว่าแค่การสิ่งที่ทำอยู่ให้เร็วขึ้น หรือถูกลง

การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอลไม่ได้มีคำจำกัดความเดียว ท้ายที่สุดมันคือแล้วแต่บริษัทและเป็นไปตามวัตถุประสงค์เฉพาะขององค์กร และความคาดหวังให้บรรลุผลสำเร็จตามนั้น  การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอลแตกต่างไปตามความต้องการของแต่ละองค์กร  ไม่มีอันไหนที่เหมือนกันทุกประการ

การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิตอลอาจส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อบุคลากรที่มีความสามารถขององค์กร  องค์กรดิจิตอลจะต้องทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการของบุคลากรที่มีความสามารถขององค์กร  รวมถึงการช่วยให้เข้าใจว่าบทบาทของพวกเขาอาจต้องเปลี่ยนไปอย่างไร

องค์กรดิจิตอลควรจะมีวัฒนธรรมที่คำนึงถึงและให้ความสำคัญกับคนทุกคนในองค์กร  เนื่องจากพนักงานในทุกระดับต่างมีส่วนในการขับเคลื่อนองค์กรในการเปลี่ยนแปลง และการสร้างความมั่นใจในการทำงานในแต่ละวัน ทุกเสียงของพนักงานมีความสำคัญ ดังที่ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ เคยกล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรมกินกลยุทธ์เป็นอาหารเช้า” ซึ่งหมายถึง วัฒนธรรมองค์กรมีความสำคัญกว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจนั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงที่มาจาก การทำ digital transformation อาจจะวิวัฒนาการไปในแนวทางที่อาจไม่มีใครเดาได้ เนื่องจากเทคโนโลยีพื้นฐานต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และเป็นตัวผลักดันไปสู่ digital transformation นั้นมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  แต่ที่แน่นอนก็คือ ไม่ว่าการวิวัฒนาการนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหนก็ตาม  ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้เกิดขึ้นแล้ว

Political News