สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

CMMU เปิดวิจัย“การตลาดผู้สูงวัย”เผย“ไลน์”ขึ้นแท่นสื่อทรงอิทธิพลและใช้งานสูง

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยข้อมูลผลการวิจัยการทำการตลาดกับกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าสื่อที่ผู้สูงอายุมีการใช้งานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. Line ร้อยละ 50 2. โทรทัศน์   ร้อยละ 24 และ 3. Facebook ร้อยละ 16 โดยสื่อที่ผู้สูงอายุใช้เพื่อเข้าถึงโฆษณาน้อยที่สุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์  ตามมาด้วย ยูทูป (YouTube)  และเว็บไซต์  นอกจากนี้รูปแบบโฆษณาที่เข้าถึงมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  โฆษณาทีวี (TVC)   วิดีโอคลิป  รูปภาพ บทความ และ Infographic ตามลำดับ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบว่า ผู้สูงอายุ 93% รู้จักและรู้วิธีการใช้งาน Search Engine เพื่อการสืบค้นข้อมูล   ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงาน“สื่อสารโดนใจ รุ่นใหญ่วัยสีเงิน” (Silver Age Content Marketing) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 2 ถนนวิภาวดี สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th และเฟสบุคแฟนเพจ www.facebook.com/silveragecontentmarketing

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2568 ทำให้กระแสต่างๆหันมาสนใจเทรนด์การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน  9.4 ล้านคน  คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร  โดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน  และคาดว่าภายใน ในปี 2568  ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)  ซึ่งจะมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน  หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้ทำการวิจัยการตลาดกับกลุ่มผู้สูงอายุ 55-70 ปี จำนวน  604 คน พบว่าสื่อที่มีการใช้งานมากที่สุด   3 อันดับแรก ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่   

อันดับ 1  แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line)  จำนวนร้อยละ 50  เนื่องจากใช้งานง่ายในการติดต่อสื่อสาร โดยเมื่อเจาะลึกถึง Insight พบว่า เมื่อผู้สูงอายุอ่านเนื้อหาที่ชื่นชอบ จะใช้การส่งสติ๊กเกอร์แทนการพิมพ์ข้อความตอบโต้ เนื่องจากไม่ถนัดในการพิมพ์ทีละตัวอักษร

อันดับที่ 2  โทรทัศน์ จำนวนร้อยละ 24  สื่อโทรทัศน์ถือเป็นสื่อดั้งเดิมที่ยังคงมีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 61 เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนช่อง  และเปิดไว้เป็นเพื่อนเพื่อคลายเหงา

อันดับที่ 3  Facebook  จำนวนร้อยละ 16 โดยผู้สูงอายุมองว่า Facebook นั้น ใช้งานยากกว่า Line เวลาจะแชร์ข้อมูลให้ผู้อื่นต่อก็ไม่แน่ใจว่าจะกดปุ่มใดต่อ ต้องกดหลายครั้ง ต้องพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยสอนการใช้หลายครั้ง ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากที่จะใช้ Facebook มากนัก เนื่องจากไม่อยากเป็นภาระต่อผู้อื่น 

ดร.บุญยิ่ง เปิดเผยเพิ่มเติมถึงผลการวิจัยการเข้าถึงการรับสื่อในรูปแบบของการโฆษณา พบว่า อันดับที่ 1 เป็นสื่อโทรทัศน์ มีจำนวนร้อยละ 52 ด้วยพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ ดูไปเรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนช่อง ทำให้โอกาสที่จะได้รับข้อมูลทางการตลาดโดยการฟังหรือการมองเห็นภาพนั้นมีมากกว่าสื่อในช่องทางอื่นๆ  โดยการโฆษณาบนโทรทัศน์มักมีทั้งภาพและเสียงไปพร้อมกัน  ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกตื่นเต้น และจูงใจ  ตามมาด้วย อันดับที่ 2  LINE จำนวนร้อยละ 19 โดยผู้สูงอายุมีการใช้ Line เพื่อการสื่อสารหรือการโต้ตอบกับผู้อื่น เมื่อเพื่อนหรือคนรู้จักส่งเนื้อหาที่เป็นภาพ ข้อความ บทความ หรือคลิปวิดีโอมาให้ ผู้สูงอายุจะเลือกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือเป็นเรื่องราวที่ตัวเองสนใจเท่านั้น   และผู้สูงอายุจะชอบใช้สติ๊กเกอร์ฟรี เมื่อกดแอด Line แล้ว ผู้สูงอายุบล็อก (Block) Line ไม่เป็น เมื่อมีโฆษณาผ่านช่องทางนี้ ทำให้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องรับข้อมูลทางการตลาดผ่านสื่อ Line ไปโดยปริยาย

และ อันดับที่ 3  FACEBOOK ร้อยละ 18 ผู้สูงอายุมีการรับสื่อทางการตลาดหรือโฆษณาจาก Facebook รองจากโทรทัศน์และ Line เนื่องจากมีการใช้ที่ยุ่งยากมากกว่าเมื่อเทียบกับสื่ออื่น แต่เหตุผลที่ผู้สูงอายุมักชื่นชอบช่องทางนี้เนื่องจากมีเนื้อหาหลากหลายที่น่าสนใจ แต่ผู้สูงอายุมักไม่ทราบว่าเนื้อหาที่ตนเองสนใจนั้นเป็นการสื่อทางการตลาดหรือโฆษณาในรูปแบบหนึ่ง          ซึ่งการโฆษณาของ Facebook สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย  ( Target Audience ) ได้ ทำให้เวลาผู้สูงอายุเข้าFacebook ก็จะเห็นโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ในส่วนของช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุใช้งาน สามารถแบ่งได้ตามช่วงเวลาดังนี้  ช่วงเช้า ผู้สูงอายุจะมีการใช้งาน Line ในอัตราที่สูงมากเพื่อเช็คข้อมูลข่าวสารและติดต่อสื่อสาร ช่วงกลางวัน ผู้สูงอายุมักจะใช้ Facebook เพื่ออัพเดทสังคม ติดต่อสื่อสารและดูเพจต่างๆ และใน ช่วงเย็น ผู้สูงอายุจะใช้เวลาอยู่กับ โทรทัศน์ เพื่อดูข่าว รายการ และละคร  การใช้งาน Search Engine หรือ เครื่องมือในการค้นหาข้อมูล

โดยรูปแบบโฆษณาที่เข้าถึงคนวัยสีเงินได้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  1. โฆษณาทีวี (TVC)  2.  วิดีโอคลิป   3.  รูปภาพ   4. บทความ และ 5. Infographic  นอกจากนี้ด้านประเภทเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มผู้บริโภค Silver Age พบว่า 4 ประเภทเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มคนวัยสีเงินมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่เนื้อหาประเภท  สาระประโยชน์ จำนวนร้อยละ 61% ที่ให้ประโยชน์ เช่น การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ อาหารการกิน และข้อมูลที่ยกระดับคุณภาพชีวิตต่างๆ   ตามมาด้วยเนื้อหาประเภท  บันเทิง จำนวน ร้อยละ 22% เช่น ละคร รายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสนุกสนานและมีความหลากหลาย รวมถึงคลิปที่มีเนื้อหาตลกคลายเครียด  อันดับสาม เนื้อหาประเภท เตือนภัยและข้อควรระวัง ร้อยละ 9% เนื้อหาที่เน้นด้านความห่วงใย การเตือนภัย และข้อควรระวังต่างๆ  และสุดท้าย เนื้อหาประเภท สร้างแรงบันดาลใจ ร้อยละ 8% ที่มีเนื้อหาช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

อย่างไรก็ตามในด้านสื่อที่ผู้สูงอายุเข้าถึงการรับโฆษณาได้น้อยที่สุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ ถือเป็นสื่อที่ผู้สูงอายุไม่สนใจอ่านหน้าโฆษณา เนื่องจาก ตัวอักษรมีขนาดเล็ก อ่านยาก และไม่น่าสนใจ  ตามมาด้วย ยูทูป (YouTube) ที่ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกขัดอารมณ์เมื่อมีโฆษณาขึ้นมาคั่นรายการที่ตนกำลังรับชมอยู่ และสุดท้ายได้แก่ เว็บไซต์  เนื่องจากไม่กล้ากดเข้าไปดูเพราะกลัวอุปกรณ์จะติดไวรัส สำหรับประเด็นเรื่องการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ทีมวิจัยยังพบว่าพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันข้อมูลให้คนสนิทรวมถึงเพื่อนๆ ถึงร้อยละ 65  ผ่านช่องทาง Line  การพูดคุยบอกต่อกับเพื่อนฝูง  และ ช่องทาง Facebook  นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นคือพบว่า ผู้สูงอายุ 93% รู้จักว่า Search Engine คืออะไรและใช้งานอย่างไร  และการใช้งานเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูล  Search Engine ที่ผู้สูงรู้จักมากที่สุด ได้แก่ Google  ดร.บุญยิ่ง กล่าวปิดท้าย 

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดกิจกรรม "งานสัมมนา “สื่อสารโดนใจ รุ่นใหญ่วัยสีเงิน”    (Silver Age Content Marketing) เจาะลึก INSIGHT การรับและใช้สื่อของคนวัยสีเงิน Silver Age ระหว่างอายุ 55-70 เมื่อเร็วๆ นี้     ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 2 ถนนวิภาวดี โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ คุณฐิตารี  อยู่วิทยา รองประธานกรรมการบริหารโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้  คุณไกรวิน วัฒนะรัตน์  CEO & Co-Founder บริษัท AHEAD.ASIA   คุณกัญลย์กวี  นพนิตย์ หัวหน้าทีมขายงาน InterCare Asia คุณณัฐพงศ์ กำเหนิดงาม กรรมการผู้จัดการ ChiroHealth สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

Political News