สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

“สยามคูโบต้า”จับมือ“สุโขทัย”สร้าง"สุโขทัย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission"

 บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เดินหน้าแผน KUBOTA NET ZERO EMISSION มุ่งมั่นสร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืน ยกระดับเกษตรปลอดการเผา สู่นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดสุโขทัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ สร้างโมเดล “สุโขทัย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission" เป็นจังหวัดที่ 9 ดึงองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มุ่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมีโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัยร่วมมือรับซื้อใบอ้อยสดเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยกว่า 50% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน สยามคูโบต้าได้ดำเนินกิจกรรมโซลูชันเกษตรปลอดการเผาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีการทำเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มาปรับใช้

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการจัดลงนามความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ไปแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดราชบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอุดรธานี ส่งผลให้ลดการเผาในภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสร้างรายได้และคืนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พี่น้องเกษตรกร

ปัจจุบันสยามคูโบต้าได้ยกระดับโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) สู่เป้าหมาย KUBOTA NET ZERO EMISSION มุ่งมั่นสร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสุโขทัยเป็นแห่งแรก ด้วยเล็งเห็นศักยภาพและมีความพร้อมในการต่อยอดโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวทางสยามคูโบต้ามีแผนที่จะศึกษาและส่งเสริมให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรและภาคการเกษตร พร้อมทั้งจับมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายผลสู่ระดับประเทศต่อไป

 ด้าน นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า “พืชที่มีการเผาเศษวัสดุมากที่สุดในจังหวัดสุโขทัย คือ อ้อยโรงงาน และข้าว แต่จากสถิติปีที่ผ่านมาปริมาณการเผาไร่อ้อยก่อนการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลลดลง อันเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ และความร่วมมืออย่างเคร่งครัดของเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล แต่กลับพบว่าการเผาเศษใบอ้อยหลังการตัดอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จังหวัดสุโขทัยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมมือกันจัดงาน “วันรณรงค์ชาวไร่อ้อยสุโขทัย ร่วมใจหยุดเผา เพื่อเรา เพื่อโลก” พร้อมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Net Zero Emission จังหวัดสุโขทัย เพื่อร่วมกันบูรณาการกิจกรรม Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกับทางสยามคูโบต้า เพื่อผลักดันนโยบายการงดเผาฟางข้าวและใบอ้อย อีกทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดมูลค่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในนามจังหวัดสุโขทัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) รวมถึงมุ่งแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เพื่อสร้าง “สุโขทัย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission” ให้เกิดขึ้นได้จริง”

 นอกจากนี้ นายทรงพล จันทร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด กล่าวเสริมว่า พื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีการลดลงของอ้อยไฟไหม้อย่างชัดเจน และมีปริมาณอ้อยสดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐ ความร่วมมือของชาวไร่อ้อย โดยโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย มีนโยบายหลักในการรับซื้ออ้อยสดคุณภาพดีเพื่อนำไปสู่รายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรและการลดอ้อยไฟไหม้โดยใช้ 3 มาตรการหลักคือ 1. ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการเพิ่มศักยภาพชาวไร่อ้อย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตฟรี สนับสนุนเงินเกี๊ยวหรือเงินส่งเสริมให้กับชาวไร่อ้อยอย่างเต็มที่ 2. ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย โรงงานมีการนำเทคโนโลยี ด้าน GIS และระบบสารสนเทศอื่นๆ นำมาควบคุมติดตามการนำอ้อยเข้าหีบ และมีระบบ war room ติดตามรถตัดอ้อย เพื่อให้การตัดอ้อยมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 3. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย สนับสนุนชาวไร่อ้อยไว้ใบหลังตัดเพื่อ รักษาความชื้น เพิ่มอินทรียวัตถุในแปลง ยืดอายุการไว้ตอ โดยใช้วิธีการจัดการใบหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยไม่ว่าจะเป็นฉีดน้ำหมักยูเรียเร่งการย่อยสลายใบอ้อย การใช้ผาลพรวนคลุกสับใบอ้อยเพื่อเพิ่มปุ๋ยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและเพิ่มมูลค่าใบอ้อยโดยตรง อีกทั้งสนับสนุนการลดมลพิษทางอากาศโดยการจำหน่ายใบให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยปัจจุบันปีการผลิต 2565/66 มีปริมาณอ้อยสดที่ 96.58 % มีปริมาณอ้อยสดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศจากจำนวนโรงงานทั้งหมด 57 โรงงาน การรับซื้อใบอ้อยเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลมากกว่า 130,000 ตัน/ใบอ้อยงาน”

 “ก่อนหน้านี้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการเผาอ้อย เพื่อให้ทันฤดูเปิดหีบของโรงงานน้ำตาล แต่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ มลพิษทางอากาศ สุขภาพเสื่อมโทรมจากการได้รับฝุ่นควัน ราคาผลผลิตต่ำกว่าการตัดอ้อยสด รวมถึงผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของดินในการเพาะปลูก หลังจากที่ภาครัฐและเอกชนเข้ามาเสนอโครงการไม่เผาสนับสนุนเครื่องจักรและรับซื้ออ้อยสด ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเครือข่ายในจังหวัดสุโขทัย รวมตัวกันศึกษาถึงผลกระทบ และเข้าร่วมโครงการนี้ โดยเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีแบบไม่เผา ช่วยให้ไม่ทำลายจุลินทรีย์และแร่ธาตุในดิน หลังจากใบอ้อยย่อยสลายก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ยและค่าแรงงานและคุณภาพดินดีขึ้น” นายอมร อับดุลย์ ชาวไร่อ้อยที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเศษใบอ้อย กล่าว

 อย่างไรก็ตามสยามคูโบต้ายังคงมุ่งมั่นผลักดันแนวคิดเกษตรปลอดการเผาสู่การสร้าง “เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission” ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือของโครงการฯ ในปี 2566 เพิ่มอีก 5 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีการผลักดันองค์กรและสินค้าของคูโบต้าให้เป็นองค์กรที่มีนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ของโครงการ Net Zero Emission อย่างครบวงจร ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50 % ภายในปี 2573 พร้อมขยายผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2593 สอดรับกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามการตอบรับความตกลงปารีส (Paris Agreement)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สยามคูโบต้าร่วมผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า มอบแทรกเตอร์ เพื่อทำแนวกั้นไฟป่าในภารกิจพิชิตไฟป่าและ PM 2.5

สยามคูโบต้า จับมือ“เลย”สร้างเมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission สร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืน

สยามคูโบต้า เปิดตัว โดรนเพื่อการเกษตร รุ่น AGRAS T25 และ AGRAS T50 ให้ทุกงานเป็นเรื่องง่าย

“สยามคูโบต้า” ไทย ปักธงสู้ทุกความท้าทาย ตั้งเป้าปี 2024 คว้ายอดขาย 60,000 ล้านบาท เตรียมจุดแคมเปญใหญ่ “เป็นมากกว่าเกษตรกร”

เจ๋ง! “สยามคูโบต้า” เจ้าแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับเปลี่ยนระบบ DMSใช้คลาวด์ร่วมกับ Proaxia VSS และ S/4 Hana

โครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานฯ พร้อมศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

Political News