สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ttb analytics ประเมินทิศทางค่าเงินบาทสิ้นปี 2566 จะกลับมาอยู่ที่ระดับ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จากการที่ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี 2565 อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี โดยอยู่ที่  38.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ อ่อนค่าลงกว่า 14% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมากจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว หนุนดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในปีหน้า ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นเล็กน้อย  อยู่ที่ระดับ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วถึง 3.00% และคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 50 Basis Points (BPS) อีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคมของปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเพียง 25 BPS ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้  เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัวของภาคบริการ ประกอบกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นจนทำให้ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างไทยเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 17,688 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) จากทั้งสองปัจจัย ส่งผลให้ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง แม้ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย จะยังไม่พบสัญญาณที่ผิดปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นักลงทุนต่างชาติยังมีฐานะเป็นการซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1.6 แสนล้านบาทและขายสุทธิในตลาดพันธบัตรที่ 0.5 แสนล้านบาท

เงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า โดยการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อผู้ส่งออก โดยจะได้รายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการมากขึ้นเมื่อคำนวณกลับมาในสกุลเงินบาท อย่างไรก็ตาม แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงเกือบ 60% (ข้อมูล ณ ปี 2564) แต่การอ่อนค่าของเงินบาทกลับไม่ได้ส่งผลดีกับการส่งออกมากนัก เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยไม่ได้มีแค่สหรัฐอเมริกา แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ค่าเงินมีการอ่อนค่าลงมากกว่าไทยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  เช่น เงินเยน เงินยูโร เงินปอนด์ เงินวอน เป็นต้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับอ่อนค่าลงเพียง 2% เท่านั้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า คู่แข่งสำคัญทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Trade in Value Added ของ OECD ปี 2018 พบว่า สินค้าส่งออกจากไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้า (Import Content) สูงถึง 34.6% จึงทำให้การส่งออกของไทยไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่ามากเท่าที่ควร เนื่องจากต้องหักผลกระทบและต้นทุนที่สูงขึ้นของการนำเข้าออก

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อน คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในเมืองไทยที่จะมีกำลังซื้อมากขึ้น หนุนให้ภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวรวดเร็ว และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.5 ล้านคนในปี 2566 จาก 9.5 ล้านคนในปี 2565 นี้

ในทางกลับกัน ผู้นำเข้าก็จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง เนื่องจากต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่สูงขึ้น จากผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ถึง 75% ถูกตั้งราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การอ่อนค่าลงของเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ อาจส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มเติมได้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจึงอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศได้จากการส่งผ่านต้นทุนนำเข้าสินค้า ทำให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศปรับสูงขึ้นได้หากเงินบาทยังอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศ ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า เพราะต้องชำระหนี้ในจำนวนที่สูงขึ้นเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเนื่องจากครบกำหนดชำระก่อน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลหนี้ต่างประเทศของ ธปท. พบว่า หนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ถึง 60% ของไทยอยู่ในระยะยาว จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูง ท้ายที่สุดคือ กลุ่มนักลงทุนในประเทศ ที่อาจได้รับผลกระทบจากผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ลดลงจากแรงเทขายสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติในกรณีที่เงินบาทอ่อนค่า ในทางกลับกันหากนักลงทุนมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือกองทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศก็อาจได้รับผลตอบแทนในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่สูงขึ้นเช่นกัน

ระยะต่อไป คาดว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงมาก แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดย ttb analytics มองว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้น ขณะที่การปรับดอกเบี้ยของเฟดมีแนวโน้มสูงสุดที่ 4.75% ในช่วงกลางปี 2566  และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขยับขึ้นไปที่ระดับ 2% อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ที่ความเกี่ยวข้องกับค่าเงิน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ttb analytics คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและวันหยุดพิเศษปี 2567 ทำเงินสะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

ทีทีบี ร่วมฉลองโกลบอลเฮ้าส์ มอบโปรสุดคุ้ม บัตร ttb Global House และบัตรเครดิต ttb ทุกประเภท ผ่อน 0%

ทีทีบี ชู4แผนกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจปี67 มุ่งมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าตอกย้ำการเป็นพันธมิตรเคียงข้างเอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจ

ttb analytics ประเมินสัดส่วนยอดขายรถใช้น้ำมันจะหายไปมากกว่า 40% ภายในปี 2573

ทีทีบี เผยกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลปี 2567 มุ่งส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกมิติ

ทีทีบี จับมือ พฤกษา มอบโปรสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3 ปีแรก 1.99% ช่วยลดภาระรายจ่าย

Political News