สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

อพท.เปิดเส้นทางท่องเที่ยว“ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”ปั้นแหล่งท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนสร้างรายได้เข้าชุมชน

อพท. ผนึกภาคี ร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยกระดับฐานทุนทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สู่แนวทางการท่องเที่ยววิถี “โหนด-นา-เล” ปั้น 5 เส้นทางท่องเที่ยวตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่  ยืนยันเป็นหน่วยงานกลาง บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป้าหมายใช้การท่องเที่ยวยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

“ลุ่มน้ำทะเลสาบลงขลา” พื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง  การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบของ “พื้นที่พิเศษ” จะสามารถช่วยให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความยั่งยืน ด้วยการใช้หลักการเชิงวิชาการ เชิงเทคนิค มาวิเคราะห์และกำหนดสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวที่มีความสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่

การประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นับเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ โดยมีองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ และเป็นผู้ประสานงานกับท้องถิ่นหรือเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  หรือ อพท.  มีความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว  รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีที่เกี่ยวข้องด้วยการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษอย่างมีส่วนร่วม ตามหลักการทำงานแบบ Co-Creation & Co-Own  โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว

ในขณะนี้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช.  เป็นที่เรียบร้อย อพท. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว และความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.  กล่าวว่า  อพท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดไว้  5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน  2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถี เขา-โหนด-นา-เล 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5.ยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการดำเนินการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาของ อพท. จะใช้วิธีบูรณาทำงานร่วมกัน โดยดึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบน  ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืด ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย ซึ่งอยู่ตอนบนของจังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน  มีพื้นที่ราบเหมาะต่อการทำการเกษตร  และไหลบรรจบที่ ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จังหวัดสงขลา จึงเป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ประกอบกับความโดดเด่นด้านฐานทุนวัฒนธรรมจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติ จึงนำมาสู่การพัฒนาภายใต้ธีม “ โหนด นา เล”

ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามที่กล่าวมา อพท. จะนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย(CBT) มายกระดับมาตรฐานการให้บริการของชุมชน และผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอ 5 เส้นทางการท่องเที่ยว ภายใต้วิสัยทัศน์ของแผนการขับเคลื่อนที่กำหนดไว้ว่า “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน”   ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนดนาเล เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และเส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก

“อพท. ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภายใต้แนวคิด โหนด นา เล โดยในความหมายของ “โหนด” มาจากคำว่า “ตาลโตนด” ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์พืช พันธ์สัตว์  ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ  “นา” คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหารด้วยเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงมีการทำนา และมีข้าวพันธ์ดีคือข้าวสังข์หยดที่มีชื่อเสียง โดยข้าวสังข์หยดที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากข้าวพื้นเมือง ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์  ส่วน “เล” แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา  ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อน 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราชให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน  โหนด- นา- เล จึงสะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมเดิมๆ” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว

“โหนด-นา-เล” สัมผัสวิถีความอุดมสมบูรณ์แห่งทะเลสาบสงขลา

“เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ทะเลสาบลุ่มน้ำสงขลา” ปัจจุบันมีการพัฒนาการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว อพท. จึงได้ร่วมบูรณาการดึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบน  ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืด ใน จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย ซึ่งอยู่ตอนบน จังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน  ซึ่งพื้นที่ราบ เหมาะต่อการทำการเกษตร  และไหลบรรจบที่ ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จังหวัดสงขลา ทำให้เป็นพื้นที่ทะเลสาบแบบ “ลากูน” ซี่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีทุนวัฒนธรรมจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติ จึงนำมาสู่การพัฒนาภายใต้ธีม “ โหนด นา เล”

ซึ่งประกอบด้วย “โหนด” มาจากคำว่า “ตาลโตนด” ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์พืช ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ “นา” คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหาร เช่น ข้าวสังข์หยดที่มีชื่อเสียง โดยข้าวสังข์หยดที่ถูกพัฒนาขึ้นจากข้าวพื้นเมือง ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์  ส่วน “เล” แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา  ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อนสงขลาให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน  โหนด- นา- เล จึงสะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมเดิมไว้โดยเริ่มจากเส้นทาง “เมืองเก่าสงขลา” อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางของการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงไปยังพื้นที่เป้าหมาย และชุมชนอื่น ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์

ลุ่มน้ำสงขลา เมืองเก่าวิถีแห่ง 3 วัฒนธรรม

“เมืองเก่าสงขลา” จากการออกแบบร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ได้ดึงความชัดเจนในอัตลักษณ์ของเมืองเพื่อสร้างจุดขาย ด้วยการเดินชมบรรยากาศเมืองเก่าสัมผัสวิถีชีวิต ผ่านสตรีทอาร์ตสวย ๆ ความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบจีนที่มีอายุกว่า 100 ปี เช่นบ้านนครใน บ้านโบราณ ที่ยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ที่บ่งบอกเรื่องราวของความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อาหารพื้นถิ่น ที่เป็นซิกเนเจอร์และเป็นมรดกตกทอดจากอดีตที่มีวิวัฒนาการ ก่อร่างสร้างเมืองในอดีตที่เรียกว่า “ซิงกอร่า” หรือ “สิงขระนคร” ที่เคยตั้งอยู่ฝั่งเขาหัวแดง และเขาสน ก่อนเปลี่ยนเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบัน ที่มีการผสมผสาน 3 วัฒนธรรม เรียกว่า “พหุสังคมวัฒนธรรม” คือ พุทธ จีน และอิสลาม ทำให้เกิดความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม มาเป็นจุดขายใหม่อีกครั้ง

สัมผัสวิถีทางทะเล ความอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา

“ปากประ” เป็นชุมชนไฮไลท์ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง เป็นวิถีชาวเลที่สืบทอดกันมา  ของ อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง สามารถพัฒนาเป็นจุดท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้ จากความโดดเด่นของ “วิถีการยกยอ” ซึ่งเป็นประมงพื้นบ้านที่ทำมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่อยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบสงขลาที่ชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือการทำประมง ก่อให้เกิดทิวทัศน์ที่แปลกตา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น มีบรรยากาศที่สวยงามของธรรมชาติ พร้อม ๆ ไปกับการได้ลิ้มรสชาติอาหารสด จากทะเลสาบสงขลา ไม่ว่าจะเป็นกุ้งสามน้ำ ปลาสดจากทะเล ที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้าน ที่สำคัญ อพท. ยังได้เตรียมนำพื้นที่ “ปากประ” นำเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล มาตรฐานการท่องเที่ยวในระดับสากล เช่น เมืองสร้างสรรค์ และ Green Destination TOP-100 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ทะเลสาบสงขลา แหล่งรวมพื้นที่ UNSEEN

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแมกเนตที่สำคัญ ซึ่งเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมภาคใต้ และเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดโนราห์  ที่มีศาลครูต้นโนราห์ดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษ ผ่านการร่ายรำ ที่เป็นอัตลักษณ์ของคนภาคใต้ และยังมีกิจกรรมทางน้ำ ที่เป็นไฮไลท์ ในทะเลน้อย และทะเลสาบสงขลา นักท่องเที่ยวสามารถชมความแปลกของวิถีชาวบ้านที่สืบทอดกันมา มีการนำฝูงควายไปเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก  จนได้ชื่อเรียกกันในท้องถิ่นว่า “วิถีเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย ”   ในพื้นที่ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 

ในขณะที่นักท่องเที่ยว ยังสามารถเลือกล่องเรือขึ้น ในทะเลสาบสงขลาตอนบน เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ตั้งแต่บริเวณ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา จนถึง “ทะเลน้อย” อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง หากโชคดีจะได้พบกับ “โลมาอิรวดี หรือโลมาน้ำจืด” ที่ออกมาเล่นน้ำใกล้ๆ เรือ นับเป็นอันซีนอีกแห่งหนึ่ง เพราะเป็นฝูงสุดท้ายที่เหลือเพียง 14 ตัว เท่านั้น ในทะเลสาบสงขลา  และยังมีให้พบเห็นได้ในประเทศอินเดีย อินโดนีเชีย เมียนม่าและ กัมพูชา    ซึ่งเป็นที่หวงแหนของคนในพื้นที่ เพื่อเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์ ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์

“ตลาดน้ำคลองแดน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีน(UNSEEN)ที่ อยู่บริเวณ จุดเชื่อมของ 3 คลอง หรือที่เรียกว่าสามคลอง 2 เมือง บนพื้นที่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่มีบ้านเรือนอายุนับ 100 ปี มีตลาดเก่าที่ชาวบ้านนำสินค้าและอาหารพื้นถิ่นออกมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวในทุกวันเสาร์ในช่วงเย็น  พร้อมจะเปิดบริการอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้   ส่วนเส้นทางล่องทะเลสาบสงขลา ตอนล่าง ที่หลายคนสามารถชมเกาะ แก่งต่าง ๆ โดยเฉพาะ “เกาะคำเหียง”  หรือ “อุทยานแห่งรัก”  ตั้งอยู่ที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นเกาะที่ที่มี “ม่านรากไม้” ที่กำลังได้รับความนิยม และยกระดับเป็นแหล่งอันซีนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ตามรอยหลวงปู่ทวดเส้นทางท่องเที่ยวแสวงบุญ

“วัดพะโคะ”  เป็นเส้นทางสายบุญ เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต กับแหล่งต้นกำเนิดบุญของหลวงปู่ทวด เพื่อกราบสักการะในหลายวัดในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้ถูกพัฒนาเป็นเส้นทางเชื่อมโยงตามรอยหลวงปู่ทวด  ที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายของหลวงปู่ทวดที่จำพรรษา ก่อนออกแสวงบุญ ไปยังวัดช้างไห้ ที่จ.ปัตตานี  ซึ่งมีสิ่งของที่เหลืออยู่ให้รำลึกถึงหลวงปู่และกราบไหว้  และยังมี “วัดต้นเลียบ”  ซี่งอยู่ใกล้กับวัดพะโคะ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติเกี่ยวข้อง เป็นสถานที่ฝังรกของหลวงปู่ทวด ให้สักการะบูชา 

Political News