สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เส้นทางชีวิตนักสู้ "ครูนันท์"อภินันท์ ดำศรีใหม่ จากพนักงานแบงก์ สู่พ่อค้า-ครู-ยูทูบเบอร์

เปิดเส้นทางชีวิตนักสู้ที่น่าใจ “ครูนันท์”อภินันท์ ดำศรีใหม่ เจ้าของยูทูบสอนภาษาอังกฤษช่อง Krunan Channel และพ่อค้าขายขนม ใน อ.เมือง จ.ตรัง  ต้นแบบนักสู้ชีวิต ไม่ยอมท้อแท้ ยอมแพ้กับโชคชะตา ถือเป็นอีกหนึ่งในผลผลิตจากรั้ว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)

วันนี้ แม้ อภินันท์ ดำศรีใหม่ จะยังพูดไม่ได้เต็มปากมากนัก กับความสำเร็จทั้งในด้านอาชีพนายแบงก์ ครูภาษาอังกฤษ พ่อค้าขนม และยูทูบเบอร์ แต่สิ่งที่เขาทำ ล้วนเกิดจากความทุ่มเท เป็นแบบอย่างของคนที่ไร้โอกาส ต่อสู้ พยายามผลักดันตัวเอง สู่จุดเป้าหมายของชีวิตได้ในระดับหนึ่ง แม้ชีวิตจะมีขึ้น มีลง แต่ทุกอย่างล้วนอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุจริต และความตั้งใจจริง

โดยชีวิตที่ผ่านมาจะล้มลุกคลุกคลาน ต่อสู้มาทั้งชีวิต จนเปรียบประดุจหนึ่ง “แมว 9 ชีวิต”ที่มีขึ้นมีลง เป็นเพราะอะไร? การใช้ชีวิตที่ผิด?แนวคิดที่ผิด?เพราะเป็นคนใจร้อน? หรือเพราะวิบากกรรมของชีวิต? เดี๋ยวเราไปติดตามกัน เพื่อให้ทราบถึงทัศนะคติ แนวคิด หลักการใช้ชีวิต

"ถ้าส่วนไหนดีก็นำเอาเป็นแบบอย่างได้ แต่ส่วนไหนที่ไม่ดีก็จงใช้วิจารณญาณแยกแยะนะครับผม”

อภินันท์ ถ่ายทอดเล่าประวัติให้ฟังคร่าวๆ ว่า เดิมชื่อ”เด็กชายสุมา ดำศรีไหม”ถือกำเนิดลืมตาดูโลก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2510 ที่ ต.พ่วงพรมคร อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ในครอบครัวที่มีพี่น้องพ่อแม่ท้องเดียวกันตั้งทีมฟุตบอลได้ 1 ทีมนั่นคือ 11 คน  โดย ด.ช.สุมา เป็นบุตรคนที่ 2 ชีวิตในวัยเด็กจึงค่อนข้างลำบาก

สมัยเป็นเด็กเรียน  เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตทุรกันดาร จนต้องขี่ม้าไปเลยที่ ในสมัยนั้น ถือว่าเป็นถิ่นคอมมิวนิสต์ล้วนๆ มีทหารขับเฮลิคอปเตอร์มาทิ้งระเบิดบริเวณใกล้ๆ กับโรงเรียน เป็นประจำ เด็กๆ นักเรียนเห็นจนชินตา และก็สนุกไปตามประสาเด็กที่เป็นเรื่องสนุกสนาน

อย่างไรก็ตาม  ด.ช.สุมา เป็นคนชอบเรียนหนังสือ หัวดี ความจำดี ไม่ขี้เกียจไปโรงเรียน วันไหนไม่ขี่ม้าไปโรงเรียนก็ต้องเดิน และหนทางที่เดินไปโรงเรียนก็ส่วนหนึ่งเป็นทางเดินที่มีหญ้าคาสูงท่วมหัวต้องเอาไม้ตีน้ำค้างนำหน้าไปก่อน ไม่งั้นโดนน้ำค้างเปียกหมด ขยันเรียนแม้กระทั่งตอนป่วยก็ยังให้คุณพ่ออุ้มไปสอบ

พรสวรรค์อีกอย่างคือเป็นคนชอบเขียนเรียงความมาตั้งแต่เรียนอยู่ป.5-6 วิชาเรียงความหรือเขียนจดหมาย ด.ช.สุมาต้องได้คะแนนมากกว่าคนอื่นๆ พอเรียนจบป.6 ซึ่งเป็นรุ่นแรกของโรงเรียนบ้านสี่แยกคลองศิลา จบรุ่นแรกแค่ 6 คน.เด็กชายสุมาสอบได้ที่ 2 ต้องการจะเรียนต่อ แต่ไม่มีโรงเรียนมัธยมที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียนมัธยมในสมัยนั้นก็ต้องไปเรียนที่อำเภอพระแสง คือโรงเรียนพระแสงวิทยาคม ซึ่งอยู่ไกลไป 15 กิโลเมตร ไม่มียานพาหนะในการเดินทาง ทั้งหมู่บ้านมีรถยนต์เข้าออกหมู่บ้านแค่ 2 คัน ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง(รถยนต์ส่วนตัวไม่มีเลยสักคันทั้งตำบล) รถยนต์โดยสารจะเริ่มรับผู้คนไปตลาดพระแสง-บ้านส้อง (ระยะทางขาเดียวประมาณ 40 กม.)ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ประมาณเที่ยงๆ ก็จะกลับมา

“คุณพ่อเห็นว่าลูกชายอยากจะเรียนก็ไม่รู้จะให้เรียนที่ไหน การเดินทางไปโรงเรียนก็ทั้งลำบากและไกล เงินจะส่งให้เรียนก็ไม่มี เหมือนกับเคยทำบุญร่วมกันมาชาติปางก่อน มีเพื่อนบ้านย้ายมาอยู่ใหม่ ให้คำแนะนำว่าให้ไปบวชเรียน เพื่อนบ้านคนนั่นคือ น้าข้วย-น้ารี  ทั้งน้าข้วยน้ารีและคุณพ่อก็เลยพาผมไปบวชที่ สำนักสงฆ์ศรีสมนึกบำรุงธรรม ต.ทุ่งเตา อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2523 ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร กับท่าน พระอาจารย์สมนึก เขมธโร ซึ่งเป็นพระหนุ่มในขณะนั้นท่านอายุ 35 ปีท่านเป็นเจ้าอาวาสณ สำนักสงฆ์แห่งนั้น ท่านได้บวชสามเณรภาคฤดูร้อนมา 5 ปี สามเณรสุมาได้บวชเป็นรุ่นที่ 6 เมื่อได้บวชแล้ว ความโดดเด่นของสามเณรสุมา จากการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นคือเป็นคนเขียนเรียงความ,จดหมายเก่ง เมื่อบวช ได้รับการฝึกให้พูดวาทศิลป์ สามเณรสุมาก็กลายเป็นคนเด่นที่สามารถพูดได้ค่อนข้างเก่ง หรือกล้าพูด กล้าแสดงออกมากกว่าสามเณรรูปอื่นๆ”

หลังจากได้เรียนรู้อยู่ในสำนักสงฆ์พอสมควร ก็ได้เวลาสามเณรสุมา ขยับก้าวสู่การเรียนที่สูงขึ้นไปอีก         เมื่อท่าน พระอาจารย์สมนึก ได้ส่งไปเรียนทั้งทางโลกและทางธรรมที่วิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณวัดแจ้ง ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2523 โดยเข้าเรียนต่อชั้นม.1 และเรียนนักธรรมชั้นตรี และบาลี ปธ.1-2 ไปด้วย ในปีแรกสามเณรสุมา สามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ และเข้าเรียนชั้นม.2 แต่บาลีสอบตก

สำหรับวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณวัดแจ้ง เป็นแหล่งบ่มเพาะให้การศึกษากับพระภิกษุ และสามเเณร ที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน

“ผมจะเล่าเรื่องลำบากให้ท่านฟังสัก 2-3 เรื่องซึ่งอาจจะน้อยคนนักที่ไม่ได้บวชจะได้เจอประสบการณ์แบบนี้ในชีวิต คือถึงวันโกนพระเณรทั่วประเทศต้องโกนศีรษะ แต่เนื่องจากวัดแจ้งมีสามเณรในขณะนั้นประมาณ 150 รูป เมื่อจะโกนศีรษะก็ผลัดกันโกน ใบมีดที่ใช้โกนก็ต้องใช้ร่วมกัน ใบมีดใบเดียวใช้โกนถึง10-20 หัว ดังนั้นถ้าใครคิวที่10กว่าๆ ใบมีดก็จะไม่คมแล้ว เมื่อโกนก็จะเจ็บและสามเณรอายุแค่ 13-14 ก็ทนความเจ็บไม่ค่อยได้ถึงกับร้องไห้ จะเปลี่ยนใบมีดใหม่ก็ไม่มีเงินซื้อ อีกตัวอย่างคือ เมื่อโรงเรียนปิดเทอมก็จะนั่งรถบัสประจำทางจากนครศรีธรรมราช กลับไปยังสำนักสงฆ์ศรีสมนึกบำรุงธรรมที่สุราษฎร์ธานี ค่ารถสมัยนั้นน่าจะ 20 บาทเมื่อถึงตัวจังหวัดสุราษฎร์จะต่อนั่งรถต่อไปสำนักสงฆ์ศรีสมนึก แต่ไม่มีเงินค่ารถโดยสารก็ชวนกันเดินประมาณ 4-5 รูป ระยะทางก็ประมาณ 20 กิโลเมตร ตอนนั้นใกล้ค่ำพอดีก็เลยเดินกันจนมืดค่ำพอค่ำเมื่อไม่มีรถผ่านมา(นั่นก็คือไม่มีแสงไฟ) พวกเราก็พากันโจงกระเบนถกสบงรวบจีวรวิ่งกัน เพื่อต้องการให้ถึงไวๆ ก็เดินๆวิ่งๆ กันจนถึงวัด 20 กม.นี้คือประสบการณ์ที่น้อยคนนักจะได้เจอ”

นอกจากนี้ สิ่งที่ สามเณรอภินันท์ เชี่ยวชาญ คือการพูดวาทศิลป์ ที่มีความคล่องตัวชนิดหาตัวจับยาก สำหรับสามเณรในวัยเดียวกัน ในช่วงที่เรียนนักธรรมชั้นตรี ก็สามารถเทศน์ปากเปล่าได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด ไม่ต้องอ่านตำราได้นานถึง30-60 นาที เลยทีเดียว

พระอาจารย์สมนึก มองเห็นความสามารถนี้ ก็เลยให้โอกาสไปเทศน์ทางสถานีวิทยุอำเภอบ้านนาสาร และทีวัดแจ้งทางวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ(ชื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่สามเณรเรียนม.1-3)ก็ได้ส่งให้สามเณรสุมาและคณะออกไปเทศน์ทุกๆวันพระตามอำเภอต่างๆในจ.นครศรีธรรมราชทุกอำเภอ เพื่อหาเงินมาบำรุงวิทยาลัยสงฆ์.ฯ เมื่อสามเณรสุมาอายุ 13-15 ปีก็ได้เดินสายออกเทศน์ตลอดทั้ง 3 ปี

หลังจากจบ.ม.3 ก็ได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนมุจลินท์ปริยัติธรรมสามัญศึกษา วัดมุจลินทวาปีวิหาร ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในระดับชั้นม.4-6 ไปเรียนที่นั่นที่ลำบากสุดๆ คืออาหารในการฉันไม่เพียงพอ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิม บางวันบิณฑบาตได้ข้าวสุก 4-5 ช้อน ได้ขนมมา 1 ห่อได้กล้วยมา 1 ใบ สามเณรสุมาก็เลยต้องฉันข้าวสุกกับขนมหรือกล้วย และเมื่อจะกลับสุราษฎร์ธานีก็มีเงินไม่เพียงพอในการซื้ออาหารฉัน มีแต่ค่ารถไฟ โดยขึ้นรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์ปัตตานีไปสุราษฎร์ เมื่อไม่มีมีเงินซื้ออาหารฉันก็แอบเข้าไปในห้องน้ำรถไฟแล้วใช้เท้าเหยียบเพื่อให้น้ำในก๊อกไหลออกมาแล้วเอามือป้องเพื่อดื่มประทังแก้หิว..(น้ำที่ใช้ล้างหน้าในอ่างห้องน้ำรถไฟ)

 อย่างไรก็ตาม แม้จะลำบากสักเพียงใด แต่ก็มีความประทับใจในการเรียนม.4-6ที่ปัตตานีคือได้อาจารย์ดีในการสอนวิชาภาษาอังกฤษ คืออาจารย์วิมล มณีนิยม ทำให้สามเณรสุมา ดำศรีไหม ซึ่งในปีนั้นได้ไปเปลี่ยนชื่อและนามสกุล เป็น สามเณรอภินันท์ ดำสีใหม่ เกิดชอบในวิชาภาษาอังกฤษ และได้สร้างผลงานคือ เขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษส่งประกวดในหนังสือพิมพ์ Student Weekly ในสมัยนั้นได้รางวัลที่ 2 เป็นการจุดประกายในการคิดที่จะเอาดีทางภาษาอังกฤษ

                เมื่อจบม.6จึงได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วัดมหาธาตุฯ กทม.ในคณะมนุษยศาสตร์ เอกวิชาภาษาอังกฤษ เป็นการขึ้นกรุงเทพครั้งแรกในชีวิต พอนึกถึงวันนั้นยังจำไม่ลืม ซื้อตั๋วรถทัวร์เสร็จแอบบเข้าห้องน้ำที่สถานีขนส่งสุราษฎร์ธานีเพื่อดูรายละเอียดในตั๋วว่านั่งตรงไหน? อย่างไร? เพราะเป็นการนั่งรถทัวร์ครั้งแรกในชีวิตด้วย.

                จากความเดิมที่บอกว่าได้อาจารย์ดีจึงทำให้ชอบวิชาภาษาอังกฤษ เมื่อเรียนอยู่ที่มจร.ในปีที่4 ทางมจร.ได้คัดนิสิตที่มีผลการเรียนดี ถ้าจำไม่ผิดเทอมนั้นได้เกรดเฉลี่ย 3.89 จึงได้รับทุนการศึกษาจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และไม่นึกว่าชีวิตนี้ได้เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพในเวลาต่อมา และสิ่งที่น่าภูมิใจสมัยเรียนมจร.คือท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง(จำชื่อไม่ได้)ได้คัดเลือกพระนิสิตที่เรียนเก่งวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อไปเป็นตัวแทนพระสงฆ์ไทยเข้าร่วมประชุมสัมนาพุทธสมาคมนานาชาติ ที่ดร.ยรรยงค์ ว่องวานิช เจ้าของบริษัทแป้งอังกฤษตรางูได้จัดขึ้น ในปี 2532 สามเณรอภินันท์ ดำสีใหม่ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1ใน 4 ของพระสงฆ์ไทย ก็รู้สึกภูมิใจจนถึงทุกวันนี้

                “สึกออกมาเผชิญกับโลกภายนอก”

                อย่างไรก็ตาม ชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังเรียนจบปริญญาตรีที่มจร. แล้วก็ได้ลาสิกขาออกมา เป็นนายอภินันท์ เผชิญกับโลกภายนอกที่ไม่ค่อยคุ้นชิน ประเดิมทำงานที่แรกที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสันสุขุมวิท ในตำแหน่ง พนักงานบริการลูกค้าต่างชาติ คือเป็นไกด์พูดคุยกับลูกค้าชาวต่างชาติเมื่อเข้ามาซื้อสินค้าในห้างโดยพนักงานขายพูดไม่ได้ก็จะเรียกใช้พนักงานที่นายอภินันท์และเพื่อนๆประมาณ5-6คนซึ่งทำหน้าที่นี้. หลังจากนั้นเมื่อพ.ศ.2536ก็ได้สอบเข้าทำงานในตำแหน่ง พนักงานโอนเงินต่างประเทศ ที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด(มหาชน) สาขาสุรวงศ์ กทม.เป็นสาขาแรก และทำอยู่นานถึง 20 ปี สมัยทำงานที่ธนาคารกรุงเทพสุรวงศ์ตอนเย็นก็อยู่บูตแลกเงินต่างประเทศเมื่อไม่มีลูกค้า อภินันท์ก็นั่งแต่งกลอนเพื่อส่งให้หนังสือ”มวยโลก” เพราะเป็นคนชอบแต่งกลอนและชอบกีฬามวยเป็นพิเศษ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ”มวยโลก” ติดตามมาตั้งแต่สมัยบวชเณรอยู่ปัตตานีบทกลอนที่แต่งก็ได้รับการลงในหนังสือ”มวยโลก”หลายฉบับ

                อภินันท์ เล่าว่า งานธนาคารเป็นงานที่ชอบ เพราะมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ได้ทำหน้าที่อยู่บูตแลกเงินพูดคุยกับชาวต่างชาติ และพิมพ์เอกสารส่งเรียกเก็บเช็ค,ดร๊าฟต่างประเทศ แต่ได้ย้ายกลับภูมิลำเนา ไปสาขาเวียงสระ อ.เวียงสระ สุราษฎร์ธานีเมื่อปี 2539 ก็เป็นพนักงานรับฝาก-ถอนเงินหน้าเคาน์เตอร์..ผู้บริหารทราบว่าเก่งภาษาอังกฤษก็เลยขอตัวไปทำงานที่สาขาเกาะสมุย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้แต่งงานกับภรรยาที่จ.ตรังก็ได้ย้ายไปสาขาปะเหลียน สาขากันตัง

ในที่สุดความความเป็นนายแบงก์ ก็มาถึงจุดสิ้นสุด รวมระยะเวลาทำงานธนาคารกรุงเทพ 20ปี หลังเกิดความเบื่อหน่าย เพราะโลกยุคใหม่แห่งวงการการเงินการธนาคาร พนักงานธนาคารต้องทำได้หลายอย่าง เป็นเซลล์แมนที่ขายทุกอย่าง เช่นประกันภัยรถยนต์,ประกันวินาศภัย,ประกันชีวิต,เงินฝาก,สินเชื่อ,บัตรเครดิตฯลฯ เป็นต้น ทุกๆ ตอนเย็นนอกจากงานประจำที่ต้องเสี่ยงกับการทำเงินผิดพลาดและต้องควักกระเป๋าจ่าย อยู่บ่อยๆแล้วก็ยังต้อง โดนผู้จัดการสาขาเรียกเข้าไปรายงานว่าวันนี้ขายอะไรได้บ้าง..ซึ่งเขาก็เป็น 1 ในจำนวนพนักงานที่ขายไม่เก่ง ก็ต้องโดนตำหนิโดนด่าทอบ่อยๆ จึงนึกเบื่อในอาชีพที่ตัวเองคิดว่ามั่นคงที่ทำมา 20 ปี

อีกทั้งเจ้าตัว เป็นคนใจร้อน และกล้าทำในสิ่งที่ตัวเองคิด ไม่กลัวว่าปัญหาอะไรมันจะเกิด ค่อยมาแก้เอาระหว่างทางก็แล้วกัน ด้วยความคิดเช่นนี้ จึงได้ลาออกจากธนาคารกรุงเทพมาประกอบธุรกิจร้านขายของชำ(มินิมาร์ทเล็กๆ)ที่ อ.เมือง จ.ตรัง  แต่ด้วยการที่ด้อยประสบการณ์และกู้ธนาคารมาลงทุนเกินตัว ประมาณ 3-4 ล้านบาท จึงไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ จนถึงขึ้นต้องปล่อยให้ธนาคารยึดทรัพย์สินบ้านเรือนที่ทำธุรกิจในเวลาต่อมา และไม่มีที่อยู่อาศัย จึงย้ายครอบครัว 4 คน(ภรรยาและลูก 2 คน) ไปขออาศัยอยู่กับพ่อตาแม่ยายซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก  ชีวิตหักเหกลายเป็นคนตกงานไม่มีรายได้

ตอนนั้นเครียดถึงขึ้นทำให้ อภินันท์ เคยคิดสั้นอยากปลิดชีพตัวเอง แต่ด้วยความที่เคยได้บวชได้เรียน ทำให้นำเอาคำสอนของพระพุทธองค์ที่เคยได้ศึกษามา ช่วยแก้ปัญหา ช่วยรั้งความคิดที่จะฆ่าตัวตายไว้ได้..จึงคิดสู้ต่อไปด้วยการ ทำขนม และกรีดยาง เลี้ยงชีวิต และครอบครัว

โดยได้ ภรรยา คู่ชีวิต คิดสูตรขนมขึ้นมาคือขนมทองพับไส้หมูหยอง,ไก่หยอง,และลูกเกด นอกจากนี้ ได้ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง รวมทั้ง ได้เริ่มฝึกเป็นยูทูบเบอร์ ถ่ายทอดภาษาอังกฤษ ตามความถนัดของตัวเองให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้

Political News