สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

กทม.เดินหน้าขับเคลื่อนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย

                   นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้ กทม.เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดว่า ปัจจุบันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ได้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการแล้วเสร็จร้อยละ 40 ได้แก่ ค่าชดเชยสิ่งก่อสร้างในแนวพื้นที่ทหารและค่าเวนคืนที่ดินเอกชนด้านฝั่งธนบุรีบางส่วน โดยไม่มีปัญหาการคัดค้าน หรือการต่อต้านใด ๆ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 หากได้รับงบประมาณจะสามารถเวนคืนที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีความพร้อมในการก่อสร้างโครงการฯ โดยวางรูปแบบเป็นการก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 4 - 6 ช่องจราจร เชื่อมฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ความยาว 5.9 กิโลเมตร เริ่มจากถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ - ข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ - ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา - ผ่านแยกเกียกกาย - ถนนทหาร - แยกสะพานแดง - ถนนประดิพัทธ์ - ถนนกำแพงเพชร 5 - ถนนกำแพงเพชร มายังถนนพหลโยธิน บริเวณสวนจตุจักร โดยมีรายละเอียดของงาน ประกอบด้วย การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 6 ช่องจราจร ความยาว 350 เมตร ก่อสร้างถนนระดับดินและขยายถนนเดิม (ใต้ทางยกระดับ) ขนาด 6 - 8 ช่องจราจร และการขยายถนนสามเสนบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร ซึ่งจะแบ่งการก่อสร้างทั้งหมดเป็น 5 ช่วง เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ แต่ละแห่งมีระยะห่างกันมาก

ที่ผ่านมาการดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ไม่เป็นไปตามแผนงาน เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคการคัดค้านจากผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ศึกษาและหาแนวทางแก้ไข รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายอย่างครบถ้วน ส่งผลให้ปัจจุบันได้ปรับปรุงแนวเส้นทางและรูปแบบการก่อสร้างที่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาข้อกังวลของผู้คัดค้านโครงการฯ ได้ครบทุกประเด็น ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงรูปแบบสะพานและแนวการก่อสร้างสะพานไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ อีกทั้งจัดให้มีมาตรการลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้างตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ การตรวจวัดค่าความเข้มเสียง การตรวจวัดค่าการสั่นสะเทือน การทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดค่าฝุ่นละออง รวมถึงจัดแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง เพื่อรองรับผลกระทบด้านการจราจร

 

Political News