สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ชาวบ้านภูเก็ต “ก้าวข้าม” วิกฤติโควิด รุกจัดการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนสำเร็จ

ภูเก็ตเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวราโคโรนา 2019 ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ซบเซาลงไปอย่างมาก ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงปิดตัวลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ภายใต้ความเงียบเหงาลงของเมือง 6หมู่บ้าน ในตำบลกมลา อำเภอกระทู้ กลับกำลังเบิกบานและพัฒนาตัวเอง สามารถสร้างการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนได้เองผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยการสนับสนุนของทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นางลัดดา คาวิจิตร ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 2019 ชาวบ้านที่นี่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจด้านการบริการ ทั้งร้านอาหาร และโรงแรมที่เคยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้จังหวัดภูเก็ตต้องซบเซาลง รายได้ที่เคยมีมากมายกลายเป็นศูนย์ กระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ลัดดาจึงเข้าร่วมโครงการฯ พัฒนาทักษะอาชีพจากทุนเดิมของชุมชนเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป

“เมื่อก่อนชาวบ้านพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงทางเดียว แต่เมื่อเกิดวิกฤตซึ่งเป็นช่วงที่โครงการของ กสศ.เข้ามาในพื้นที่พอดี ทำให้พวกเราหันมาเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองบนฐานทุนทรัพยากรที่เรามี ทำให้เราได้เรียนรู้ทักษาอาชีพที่เราเคยทิ้งไปอย่างการปลูกพืชผักผลไม้ ผลผลิตที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน แต่ยังต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพใหม่”

ขณะที่ดร.อภิรมย์ พหรมจรรยา ผู้รับผิดชอบโครงการและอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต คณะการบริหารและการท่องเที่ยว เล่าว่า ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด 2019 ชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้านในตำบลกมลา ประกอบไปด้วย บ้านบางหวาน บ้านเหนือ บ้านโคกยาง บ้านกมลา บ้านหัวควน และบ้านนาคา ได้เรียนรู้และปรับตัวทั้งด้านอาชีพและวิถีชีวิต โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือการเปิดรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศหรือภายในจังหวัดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกันในเวลาต่อมา ก่อนจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ จากผลิตภัณฑ์ของแต่ละหมู่บ้าน โดยเชื่อมโยงทุนธรรมชาติและทุนวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน เช่น ‘ส้มควายกมลา’ ผลส้มขึ้นชื่อในพื้นที่ที่นำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด รวมไปถึงผ้าเพ้นท์ลายสโนติส ผ้าปาเต๊ะเพ้นท์กากเพชร และปาเต๊ะเพ้นท์ลาย ที่วางขายภายในชุมชน นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินงานผ่านการขายออนไลน์ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด 2019 ทำให้ปัจจุบันชุมชนนอกจากจะยังมีความมั่นคงทางอาหารแล้วยังสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์วิกฤติได้อีกด้วย

“ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือชาวบ้าน มี ‘ตลาดนัดชุมชน’ เป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านกมลากับหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การเชื่อมโยงแต่ละหมู่บ้านยังรวมไปถึงการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ จนเกิดเป็นการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ไม่เพียงแต่ผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ภายในโครงการฯ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า อย่างการเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ จากเดิมขายผืนละ100 – 200 บาท กลายเป็นผืนละ 1,500 – 2,000 บาท ส่วนเศษผ้าที่เหลือยังสามารถนำมาเย็บเป็นของที่ระลึกสร้างรายเพิ่มขึ้นอีกทาง”

ท่ามกลางความยากลำบากจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว 3 ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ สำหรับการสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนคือ ‘การรวมกลุ่ม’ ระหว่างคนแต่ละชุมชนและคนทุกช่วงวัย ‘การใช้เทคโนโลยี’ เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ขยายตลาดให้กว้างขึ้น และที่สำคัญคือการ ‘ใช้ฐานชุมชน’ เป็นจุดแข็งในการสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น จนเกิดการสร้างวงจรการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

Political News