สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

การสื่อสารกับธรรมาภิบาลในธุรกิจครอบครัว

โดย..พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร ลีดเดอร์ ดีลอยท์ไพรเวท ดีลอยท์ ประเทศไทย ,ผศ.ดร.ธีริน วาณิชเสนีผู้อำนวยการ ดีลอยท์ไพรเวท ดีลอยท์ ประเทศไทย

การสื่อสารถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจครอบครัว แต่ในธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวมักจะมีความซับซ้อนที่เกี่ยวกับ ช่องว่างระหว่างวัย บทบาทหน้าที่ในครอบครัว เครือญาติที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นคนในครอบครัว ตลอดจนในเรื่องของความสัมพันธ์ ดังนั้น การสื่อสารอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนสำหรับสมาชิกในธุรกิจครอบครัว

บทความจากดีลอยท์ ไพรเวท (Osry M, 2020, Good family governance: Driven by good family communication, Private company issues and opportunities 2020, Family business edition, Deloitte Private) พบว่า ในทางปฏิบัติ ธุรกิจครอบครัวที่มีธรรมาภิบาลที่ดี จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ มีการสื่อสารที่โปร่งใสและเปิดเผย แต่ก็พบว่าธุรกิจครอบครัวเป็นจำนวนมาก มักจะขาดการตัดสินใจร่วมกัน โดยเฉพาะการตัดสินใจสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจและครอบครัว โดยทั่วไปสมาชิกในธุรกิจครอบครัวมักจะพยายามหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่มีความอ่อนไหว ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยจำนวนมากยังได้กล่าวถึงปัญหาจากการสื่อสารอันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความล้มเหลวในการส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สมาชิกในครอบครัวสามารถพัฒนาและเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารได้ โดยดีลอยท์ได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการสื่อสารในธุรกิจครอบครัว ไว้ดังนี้

  • +เนื่องจากสมาชิกในครอบครัว มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ อาทิ สถานะทางธุรกิจ ความสนใจ บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความเป็นหุ้นส่วน หรือแม้แต่ความเข้าใจในธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้การสื่อสารมีความซับซ้อนขึ้น
  • +ความโปร่งใส ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้น และเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารในธุรกิจ วัฒนธรรมครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องของหลักความอาวุโส อาจเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร การวิเคราะห์และตีความข้อมูล รวมถึงเรื่องของความรู้ อำนาจการบริหาร/ความรับผิดชอบ และความเป็นหุ้นส่วน
  • +เรื่องของอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว ทำให้ประเด็นบางเรื่องไม่สามารถแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาได้ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ทำให้มีความท้าทายในการแยกเรื่องของธุรกิจ กับครอบครัวออกจากกัน
  • +ยิ่งธุรกิจมีการเติบโตและมีความสำคัญมากขึ้น ก็จะมีสมาชิกในครอบครัวในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ที่ต้องการมีสิทธิและส่วนร่วมในธุรกิจ ทำให้ในบางครั้ง การบริหารจัดการธุรกิจกลับกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและวุ่นวายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจครอบครัวยังมีข้อได้เปรียบเหนือธุรกิจแบบอื่น ๆ ตรงที่ ธุรกิจนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ ที่เจ้าของธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และค่านิยมของครอบครัวได้ ซึ่งเราสามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้ เป็นเครื่องมือในการสร้างทักษะการสื่อสารและผนวกเข้ากับระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้

การสื่อสารภายใต้กรอบธรรมาภิบาลที่ดีนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ คำมั่นสัญญา ตลอดจนความอดทนจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งนี้ การที่มีคนกลาง หรือที่ปรึกษาก็สามารถช่วยให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วม ทั้งยังสามารถช่วยแก้ไขประเด็นที่มีความอ่อนไหว ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอดีตที่เคยเป็นอุปสรรคได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สามารถนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (Corporate Governance Code for listed companies 2017) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์มาเป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้มีการสื่อสารที่ดีและยั่งยืนในธุรกิจครอบครัวได้เช่นกัน โดยหลักปฏิบัติดังกล่าวรวมถึง การเสริมสร้างประสิทธิผลในการทำงานให้แก่คณะกรรมการ โดยคณะกรรมการควรต้องมีบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้นำองค์กรที่ชัดเจน มีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล มีการบริหารจัดการบุคลากรอย่างเหมาะสม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

ในส่วนของการสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นนั้น ดีลอยท์มองว่า ควรดูแลให้สมาชิกในครอบครัว (ผู้ถือหุ้น) มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกรรมการ ผู้ถือหุ้น สภาครอบครัว หรือการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของสมาชิกในครอบครัว อีกทั้ง ยังควรดูแลให้การประชุม หารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเอื้อให้สมาชิกในครอบครัว (ผู้ถือหุ้น) มีโอกาสและสามารถใช้สิทธิของตน นอกจากนั้น ยังควรมีการเปิดเผยข้อมูล ผลการหารือ มติที่ประชุม และมีเอกสารรายงานการประชุมหารือในเรื่องที่สำคัญ ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน

โดยสรุปแล้ว นอกเหนือจากแนวปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น การสื่อสารพบปะพูดคุยกันบ่อย ๆ ของสมาชิกในครอบครัวยังสามารถช่วยลดความขัดแย้ง เสริมสร้างความเข้าใจ แก้ไขปัญหา และสร้างความรับผิดชอบร่วมกันอีกด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่า หากธุรกิจครอบครัวสามารถสร้างการสื่อสารภายใต้ระบบธรรมาภิบาลที่ดี ก็จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งธุรกิจ และครอบครัวไปได้พร้อม ๆ กัน

Political News