สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร สานต่อโครงการชุมชนนวัตกรรม ปี 2 ลดรายจ่าย สร้างงาน สานต่ออาชีพ

คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร สานต่อโครงการชุมชนนวัตกรรม ปี 2 ลดรายจ่าย สร้างงาน สานต่ออาชีพ

ผศ.ดร.สุริยา แก้วอาษา คณบดีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เปิดเผยว่า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน ได้จัดโครงการชุมชนนวัตกรรมคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดรโฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มทร.อีสาน เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการชุมชนนวัตกรรมคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ และเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษา นำความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องเรียนมาปรับใช้ในโครงการทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน ให้สมกับการเป็น “บันฑิตนักปฏิบัติ มทร.อีสาน” การจัดโครงการนี้ ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งจัดขึ้น ณ บ้านพอกใหญ่ ตำบลพอกน้อย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และปีนี้มีการเพิ่มหมู่บ้านเป้าหมายมาอีก 1 หมู่บ้านจากปีที่ผ่านมา คือบ้านถ้ำติ้ว ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันหอมระเหย การผลิดหน้าการอนามัยแบบผ้าเพื่อใช้เองและจำหน่าย การผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอลล์ การก่อสร้างโรงเรือนเพาะต้นกล้าที่สามารถความคุมระบบน้ำและอุณภูมิที่สามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตต้นกล้าที่แข็งแรงในทุกฤดูได้ นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดกิจกรรมจากโครงการชุมชนนวันตกรรมปี 1 ที่เคยสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดไว้ โดยการติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อใช้ในการจ่ายกระแสไฟให้กับโรงเรือนเพาะเห็ดและระบบประปาหมู่บ้านอีกด้วย  โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิเช่น ที่ทำการปกครองอำเภอ นายอำเภอ พัฒนาชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น

            คณะผู้บริหารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เกิดจากแนวคิด และการพัฒนานวัตกรรมของบุคลากรในคณะฯ จึงได้หารือแนวทางที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านวิชาการไปช่วยเหลือชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากเดิมเราได้จัดโครงการในลักษณนี้เพียงปีละ 1 หมู่บ้าน แต่ในปีนี้ เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จึงมีมติร่วมกันในการเพิ่มชุมชนกลุ่มเป้าหมายเพิ่มอีก 1 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านนี้ แต่เดิมมีรายได้จากการปลูกดอกดาวเรือง เพื่อตัดดอกส่งขายเป็นอาชีพรองจากการทำนา แต่เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถ ดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ ส่งผลให้ขาดรายได้ในส่วนนี้ไป

            นายศราวุธ อุตหลุด ผู้ใหญ่บ้าน บ้านถ้ำติ้ว ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่าประชากรในบ้านถ้ำติ้วส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนาและกรีดยางเป็นหลัก และช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ก็มีรายได้เสริมจากการปลูกดอกดาวเรืองเพื่อส่งขาย โดยมีพ่อค้ามารับถึงหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากบ้านถ้ำติ้วมีความพร้อมในด้านของทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านและคนในชุมชนยังขาดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสาธิตการทำหน้ากากอนามัย เพื่อหารายได้และการทำการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากการถ่ายทอดวิชาการมาเป็นการฝึกสอนให้ความรู้ พาชาวบ้านลงมือทำ ให้คำปรึกษาทุกเรื่องในครั้งนี้ ทำให้ผมและชาวบ้านในชุมชนรู้สึกว่า การตลาดนั้นไม่ได้ยากอีกต่อไป และพวกเราสามารถทำได้หากมีความพยายามเรียนรู้ จดจำและฝึกฝนฝีมือเสมอ ขอขอบคุณคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญเช่นนี้ โครงการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนา และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนครับ

            นายเกียรติศักดิ์ บุตรแสง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านพอกใหญ่ ตำบลพอกน้อย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เข้ามาจัดกิจกรรมครั้งแรก ปีที่ 1 โดยระดมคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษามาสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดแบบอัตโนมัติร่วมกับชาวบ้านพอกใหญ่ และใส่องค์ความรู้ด้านการตั้งเวลากับสปริงเกอร์น้ำ เพื่อควบคุมความชื้นและรดน้ำตามเวลาที่กำหนด โดยลดกำลังคนในการมารดน้ำ เหลือเพียงคนที่มาเก็บผลผลิตและนำออกไปจำหน่ายเท่านั้น จุดนั้นทำให้เห็นที่ได้มีปริมาณมาก ลดความเสียหายของเห็ด เกิดรายได้ในชุมชนอย่างชัดเจนมาก  และในปีนี้คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านพอกใหญ่เป็นปีที่ 2 ด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่ใช้ในการสูบน้ำ ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนในการผลิตลงไปได้เป็นจำนวนมาก ตนและชาวบ้านรู้สึกดีใจที่คณะ ไม่ลืมชาวบ้านพอกใหญ่ และเข้ามาพัฒนาชุมชนและต่อยอดการพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านพอกใหญ่ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในสถานการณ์การแพร่รบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ผมขอเป็นตัวแทนในการขอบคุณคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน ที่เข้ามาช่วยเหลือเราเป็นปีที่ 2 และภายใต้สภาวการณ์ที่ดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากตอนนี้ เราทุกคนมีกำลังใจและสัญญาว่าจะดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างดีที่สุดครับ

            อย่างไรก็ตามโครงการชุมชนนวัตกรรมคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เป็นกิจกรรมที่คณะฯ มุ่งหวังในการช่วยเหลือชุมชนที่อยู่ใกล้กับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และในปีต่อๆ ไป จะมีการขยายและเพิ่มจำนวน “ชุมชนนวัตกรรมคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ความรู้ด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ของคณะฯ ที่ว่า “บูรณาการศาสตร์ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคม” ผศ.ดร.สุริยา กล่าวทิ้งท้าย

Political News