สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

พุทธจิตวิทยากับการจัดการตนเองในวิกฤตสถานการณ์โควิด-19

โดย...ผศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา

ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย Email : [email protected]

จากสถานการณ์ไวรัสโควิค 19 แพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้เราต้องหันกลับมาทำความเข้าใจโลกและชีวิตกันมากขึ้น คนเรามนุษย์ปุถุชนทั่วไป ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญเหตุการณวิกฤตในชีวิตได้ ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ วินาศกรรม โรคภัย ความเจ็บป่วย หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นแพร่กระจายทั่วโลกในขณะนี้ แต่เราสามารถเลือกพัฒนาปัจจัยปกป้องให้เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถเผชิญและผ่านพ้นเหตุการณวิกฤติต่างๆ ในชีวิตได้ด้วยสภาวะจิตใจที่สมดุล อาจใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการเรียนรูและพัฒนาจิตใจให้งอกงามยิ่งขึ้นไป

สมัยพุทธกาลมีเรื่องเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นหรือไม่: พุทธวิธีในการเผชิญวิกฤตเป็นอย่างไร

สถานการณ์โรคระบาดมีทุกสมัยในสมัยพุทธกาล ในสมัยหนึ่งเมืองเวสาลีเกิดโรคระบาด ในขณะนั้นชาวเมืองคิดว่า เกิดโรคระบาด ฝนแล้ง ขาดแคลนอาหาร มีคนอดอยากล้มตายมากมาย ซากศพถูกโยนทิ้งนอกเมือง พวกอมนุษย์ได้กลิ่นศพก็พากันเข้ามาในเมือง ทำอันตรายคนให้ตายมากขึ้นอีกด้วย สมัยนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรัตนสูตร ประกาศใช้ปัดเป่าภัยโรคระบาด การสวดมนต์ปัดเป่าภัยพิบัติด้วย“บทรัตนสูตร” ในครั้งนั้น เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระอานนท์น้อมเอาคุณของพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดเป็นอานุภาพขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลาย

เมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลเกี่ยวข้องการเผชิญวิกฤตชีวิต ยกตัวอย่างกรณี การสูญเสียบุคคลอันที่รักของ นางปฏาจารา เป็นหญิงแม่บ้าน ดูแลลูก ครอบครัว นางไม่มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิตและโลก ขาดโอกาสการฝึกสติ เมื่อประสบการณ์เหตุการณ์สูญเสียสามี บุตรทั้ง 2 คน  บิดา มารดา ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้นางโศกเศร้าเสียใจจนขาดสติ เมื่อขาดสติจิตก็ปรุงแต่งจมอยู่กับความทุกข์ ความโศกเศร้า พระพุทธองค์ทรงเป็นกัลยาณมิตรชี้แนะแนวทางพัฒนาสติ ตรัสว่า "จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง” เมื่อได้นางปฏาจาราได้รับรู้ถึงความเข้าใจความเห็นอกเห็นใจ มองเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีที่สุด  นางจึงได้สติคืนกลับมา ก็คลายความโศกเศร้าเสียใจลงได้ ความทุกข์นั่นจะเบาบางลง เมื่อมี “สติ”เป็นเครื่องคุ้มกันทางจิตใจ ทำให้ความทุกข์เบาบาง สภาวะจิตใจมีความสมดุล ทำให้สามารถเผชิญปัญหาและวิกฤตชีวิตได้

การตั้งรับสถานการณ์ที่ดี: การทำเข้าใจความจริงของชีวิตและโลกอย่างไร

สถานการณ์แพร่กระจายของโรคไวรัสโควิค-19 มีลักษณะแตกต่างกับการแพร่ของเชื้อโรคอื่นที่ผ่านมาในอดีต เนื่องจากเชื้อโรคแพร่กระจายทั่วโลกแบบไม่จำกัดพื้นที่ ฉะนั้นการปฏิบัติตัวและวางใจต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร นับว่าเป็นวิกฤติของโลกครั้งใหญ่ที่กระทบทั้งวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับวิกฤติที่ไม่ได้เตรียมพร้อมตั้งรับมาก่อน เพราะมนุษย์ได้เพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตแบบเสพบริโภคความเจริญทางเทคโนโลยี มีความสุขจากการใฝ่บริโภคจนเคยชิน ทำให้รู้สึกว่าความสุขที่เกิดจากภายนอกหายไป ทั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก การตกงาน การว่างงาน การสูญเสีย การเจ็บป่วย ฯลฯ ล้วนทำให้เกิดความทุกข์ทางใจทั้งสิ้น

พระพุทธศาสนาได้อธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับความทุกข์และการปฏิบัติเพื่อความไม่ทุกข์ไว้อย่างชัดเจน หลักธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งสร้างความเข้าใจต่อโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริง มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้ เราบัญญัติทุกข์และการดับทุกข์” เราจะเห็นได้ว่า อาการความโศกเศร้าจะลดลงมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับว่าเรายอมรับความจริงมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเราฝึกพิจารณา ทำความเข้าใจความจริงของชีวิตและโลกบ่อยครั้งเพียงใด จิตใจ เราจะพร้อมที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในที่เกิดขึ้นในโลก ล้วนเป็นสิ่งไม่แน่นอน ขอยกหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้ฝึกพิจารณายอมรับความจริง 5 ประการ คือ

1 เราจะต้องแก่เป็นธรรมดา

2 เราจะต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา

3.เราจะต้องตายเป็นธรรมดา

4.เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

5.เรามีกรรมเป็นของเฉพาะตน เมื่อทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น

ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ว่า แม้เราจะพัฒนาเทคโนโลยีสูงสุดก็ตาม มนุษย์ก็ไม่สามารถพิชิตโรคที่มองไม่เห็นได้ทุกอย่างด้วยยาปฏิชีวีนะและการสร้างภูมิคุ้มกันโดยวัคซีนต้านไวรัสโควิค-19 ได้ในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราควรหันกลับมาใฝ่รู้ภายในจิตใจ หันมาพัฒนาใจ เรียนรู้จากประสบการณ์ภายใน ตั้งคำถามชีวิตคืออะไร ชีวิตเพื่ออะไร เพื่อเป้าหมายอะไร ทำให้อย่างไรให้เกิดการพัฒนาปัญญา พัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งได้อย่างไร ความสุขกับความทุกข์เป็นสิ่งที่คู่กัน เราปกป้องกันทุกข์ได้อย่างไร ถ้าต้องการความสุข เราจะทำปฏิบัติอย่างไร เมื่อมีความสุขเกิดขึ้น เราจะเสริมสร้างความสุขอย่างไร ฉะนั้นการรับมือสถานการณ์ด้วยการใช้วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เข้มแข็ง สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตด้วยหัวใจความเบิกบานใจ การกำหนดสติ การตั้งสติ และการใช้สติ ในการดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เราจำเป็นต้องอาศัยหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือนำทางชีวิตในการฝ่าฟันวิกฤตได้อย่างไร

พุทธจิตวิทยา: วัคซีนทางใจต้านไวรัสโควิค-19

การใช้หลักพุทธจิตวิทยาในการจัดการตนเองต่อเหตุการณ์โควิค-19 เราสามารถน้อมนำหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามาฉีดวัคซีนทางใจ เพื่อป้องกันความทุกข์และเป็นหลักที่พึ่งทางใจ สำหรับคนในทุกวัย ทุกเพศ ทุกสถานะ ไม่ว่า คนรวยหรือคนจน ต่างประสบปัญหาอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์เดียวกันและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้แตกต่างกัน เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความร่ำรวย หรือจน ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อโรคได้อย่างเสมอภาค ทำให้ผู้คนเกิดการตื่นตระหนก หวาดระแวงคนใกล้ตัว ถึงแม้ไม่รู้จักก็ตาม มองว่าคนรอบตัวเราอาจมีเชื้อหรือติดเชื้อแล้ว ความรู้สึกนี้ติดลบต่างๆ ทำให้เกิดจิตอกุศลเกิดขึ้นในใจได้

ดังนั้นขอนำเสนอวิธีคิดและวิธีปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่น และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ใหญ่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีสอนเด็ก เยาวชน ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศ ได้เข้าใจและปฏิบัติอย่างไรให้เผชิญกับภาวะวิกฤตเช่นนี้

           1.เมื่อฝึกคิดให้ใจอยู่กับปัจจุบัน เพราะติดตามข่าวสารมาก ความคิดปรุงแต่ง จิตไหลไปอดีตและจิตล่องลอยไปคิดเรื่องอนาคตตลอดเวลา คิดถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเศรษฐกิจ อาชีพ โรคภัยต่างๆ ทำให้ทนสภาพปัจจุบันไม่ได้ จนไม่ทันเห็นภัยที่คุกคามใจอยู่ตลอดเวลา ความเครียด ความวิตกกังวล ความท้อแท้ ความโกรธ ที่บั่นทอนจิตใจทำให้ทุกข์มาก เราจำเป็นเป็นต้องพาใจมาอยู่บ้าน คือ สติ

  1. สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ คือ การฝึกความรู้สึกตัว ในอิริยบถต่างๆในชีวิตประจำวัน ฝึกภาวนาอยู่กับลมหายใจเข้าออก ทำความรู้สึกตัว ถ้าใจเราเผลอแวบ หมกมุ่นความคิด รู้ตัวเมื่อไร เราก็พาใจมาอยู่กับปัจจุบัน โดยมีลมหายใจมีตัวเชื่อม ตัวขจัดความกลัวจนขาดสติ
  2. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู จะต้องร่วมมือกันพัฒนาเด็ก และเยาวชน เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนการแก้ปัญหาและอุปสรรคพร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตนเองและต่อผู้อื่น ช่วยลดปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาด เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัวที่เกิดจากการสูญเสียต่างๆ และฝึกการยอมรับความจริงจากเหตุการณ์ครั้งนี้

4.ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กและเยาวชนรู้จักการบริหาจัดการรอารมณ์จิตใจอย่างไร ให้ความสำคัญของจิตใจให้มากขึ้น เมื่อเจอสภาวะกดดัน ทำใจยอมรับความผิดหวัง สอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติของโลก เราจะอยู่อย่างไรกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน

5.ตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ เราเอาชนะความกลัวในใจได้อย่างไร การเตรียมพร้อมกับการใช้ชีวิตแบบ New normal  ฝึกพิจารณาทบทวนสถานการณ์ครั้งนี้ มีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง เตือนใจให้ตระหนักว่า เราต้องอยู่กับโรคติดเชื้อไปอีกนาน แม้เวลาผ่านพ้นไป ก็อาจมีโรคชนิดใหม่เกิดขึ้นอีก เราต้องสร้างภูมิคุ้มทางกาย และสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจเตรียมความพร้อมในการรับมือในวันข้างหน้า ฝึกการคิดแบบเร้ากุศล นำบทเรียนมาพัฒนาตนเองเองได้อย่างไร

6.ฝึกพิจารณาแยกแยะข่าวสารจากสื่อต่างๆ อย่าด่วนสรุปข่าวเกินไปทำให้เกิดตื่นตระหนก และฝึกทำใจยอมรับ ปล่องวางกับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ฝึกวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการกับเหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิต พิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผลให้เป็นนิสัย

7 ฝึกการแบ่งปันให้ผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เมื่อก่อนเราคิดจะทำความดีให้ใครหรือไม่ เมื่อเราสบาย มีความสุข ถ้าเรารู้สึกว่า สงสารคนอื่น อยากทำความดีเพื่อคนอื่น จิตพร้อมที่คิดสิ่งดีงาม พร้อมที่จะทำสิ่งเป็นประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นความสุขที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร

         8.การใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท อย่าให้ความกลัวมาปิดกั้นสติสัมปชัญญะ รู้ทันความกลัว อย่าให้ครอบงำใจ สร้างความรังเกียจ ซ้ำเติมผู้อื่น

9.ในช่วงวิกฤติ ให้แสดงความเห็นอกเห็นใจ คิดดี ทำดี มีเมตตา ให้อภัยซึ่งกันและกัน  ฝึกการแสดงความรัก กำลังใจ ความเข้าใจ และให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ประสบปัญหาผ่านพ้นเหตุการณ์ปัญหาต่างๆไปได้

10.เรียนรู้ที่ช่วยตัวเองให้มากขึ้น เมื่อมีปัญหา ด้วยการฝึกสติ สร้างสุขนิสัยใหม่ให้กับตัวเอง รักษากติกาทางสังคม มีจิตสำนึกความรับผิดชอบทางสังคมร่วมกัน  ไม่เอาตัวรอดเฉพาะตัว

11.ปรับวิธีคิดบวกต่อคนอื่น ระมัดระวังตัว ดูแลตนเอง ป้องกันตนเอง ไม่สร้างปัญหาให้กับคนอื่น แทนที่จะโทษคนอื่น เช่น เราปรับวิธีคิดของตัวเอง เราอาจจะมีเชื้อที่แพร่ไปคนอื่นได้ ทำให้เราต้องดูแลตัวเอง เราจะไม่ทำตัวเป็นปัญหาคนอื่น ไม่ต้องเรียกร้องให้เขาเข้าใจเรา วิธีนี้ทำให้เราคิดเป็นกุศลมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นได้ดี

12 แสวงหาหลักธรรมที่เป็นที่พึ่งทางใจมากขึ้น หันสนใจความรู้สึกของตนเอง จิตใจเป็นอย่างไร ลดความต้องการภายนอกใช้ชีวิตให้ง่าย สุขให้ง่าย ทุกข์ให้ยาก พึ่งพาความสุขภายนอกให้น้อยลง

                           

Political News