สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

TBCSD จี้รัฐเร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5

จากวิกฤตปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้ง                              อีกหลายจังหวัดในประเทศไทย ทำให้ปัญหา PM2.5 ได้ถูกยกระดับกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ                  (Country Issue) เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศในวงกว้าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand  Business Council for Sustainable Development :TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้จัดงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้ง นำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะต่อระดับนโยบายต่อไป

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า                     ประเด็นปัญหาเรื่อง PM2.5 ปัจจุบันได้ยกระดับกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ที่ต้องมีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยทุกภาคส่วน เนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาจึงต้องพิจารณาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ และที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน โดย TBCSD ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว และมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เป็นสำนักเลขาธิการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบนเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน TBCSD ได้สั่งสมประสบการณ์และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา TBCSD ได้ประกาศแนวทางการขับเคลื่อน TBCSD ในก้าวต่อไป ภายใต้ TBCSD New Chapter ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญในการรวมพลังกันของธุรกิจชั้นแนวหน้าในประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นเพื่อ “ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน”

ปัจจุบัน TBCSD มีองค์กรสมาชิกจากกลุ่มธุรกิจหลักของประเทศกว่า 40 องค์กร จากการร่วมพลังความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจไทย TBCSD จะดำเนินการขับเคลื่อนงานไปยังประเด็นกรณี PM2.5 ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องใช้พลังความร่วมมือ ในการรวบรวมองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และปรับระบบการทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา โดยต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดำเนินงานร่วมกัน จึงได้มีการหารือกันทั้งภายในสมาชิกเอง กับองค์กรพันธมิตรและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางที่เป็นไปได้ในการป้องกันปัญหา แก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของปัญหาในด้านต่างๆ อันนำมาสู่บทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 “ปัญหา PM2.5 จะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนาน และต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง     ต้องมีการตั้งเป้าหมาย มีตัวชี้วัด มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำแค่เฉพาะตอนที่มีปัญหาเกิดขึ้น และหยุดตอนที่ปัญหาหมดไป ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าสาเหตุหลักของปัญหา PM2.5 ว่าเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล เกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องมองให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน” นายประเสริฐ กล่าว

ดร.ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร มีแหล่งกำเนิดหลักจากไอเสียของรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล โดยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่                       21 มกราคม 2563 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคม (คค.) จึงได้การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาคคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แบ่งออกเป็นมาตรการ 3 ระยะ ดังนี้

                1) มาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2563 – 2564) ได้มีการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา อย่างเข้มข้น ตามแนวคิด ตรวจ ปรับปรุง ป้องกัน อาทิ มาตรการซ่อมบำรุงรักษารถของหน่วยงาน รถและเรือโดยสารสาธารณะของหน่วยงาน ตรวจจับรถร่วมโดยสารสาธารณะและเรือโดยสารควันดำอย่างเข้มงวด รถโดยสาร/เรือโดยสารสาธารณะ และรถไฟเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B20 บริหารจัดการหน้าด่าน จ่ายค่าธรรมเนียมทางด่วน ชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ปล่อยฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นและเข้มงวดให้ผู้รับเหมาฉีดน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

                2) มาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2565 – 2569) อาทิ การส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เพิ่มทางเลือกการเดินทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนเครื่องยนต์รถโดยสาร/เรือโดยสารสาธารณะเป็นพลังงานสะอาด (NGV/EV) ปรับภาษีสรรพสามิตและภาษียานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด การจำกัดการใช้รถยนต์เก่า การบูรณาการสวัสดิการกับนโยบาย เช่น การจัดรถ Shuttle Bus ที่ใช้พลังงานสะอาด รับ-ส่ง เจ้าหน้าที่ระหว่างหน่วยงานราชการกับ บัตรรถโดยสารสาธารณะรายเดือนราคาประหยัด และเร่งติดตั้ง EV Charging Station ในหน่วยงานราชการ เป็นต้น

                3) มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2570 – 2575) อาทิ การบังคับใช้มาตรการทางภาษีและการจัดการความต้องการในการเดินทาง เปลี่ยนท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยว/ผู้โดยสาร/Port City จำกัดการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในเมือง และเปลี่ยนให้รถโดยสารสาธารณะเป็น EV ทั้งหมด

                ทั้งนี้ ระหว่างช่วงเกิดสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM 2.5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมมาคม (นายศักดิ์สยาม                  ชิดชอบ) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด คค. รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการระยะสั้นเป็นประจำทุกวัน เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิดและให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

                ทางด้าน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการรับสัมผัส PM2.5 ส่งผลผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายส่วน ได้แก่ ปริมาณของ PM2.5 ระยะเวลาที่ได้รับสัมผัส และปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละบุคคล เช่น อายุ โรคประจำตัว เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการดูแลคุ้มครองสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่  เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และคนทำงานกลางแจ้ง และมีมาตรการสำคัญในการคุ้มครอง ดูแลสุขภาพประชาชน ได้แก่ 1) การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสุขภาพ 2) การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวกับมลพิษอากาศ  3) การสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และความรอบรู้แก่ประชาชน 4) การจัดระบบบริการและดูแลสุขภาพประชาชน และ 5) การใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด สิ่งที่สำคัญ ขอให้ประชาชนทุกคนป้องกัน ดูแลตนเองให้ปลอดภัย โดยติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และลดการสัมผัสฝุ่นโดยการลดระยะเวลาอยู่กลางแจ้ง หรือใส่หน้ากากป้องกัน และร่วมลดการปล่อยฝุ่นละอองจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างอากาศที่ดีและนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีต่อไป

                ปิดท้ายกันที่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่าแนวทางความร่วมมือของสมาชิก TBCSD เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นผ่านมาตราการ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) มาตรการที่สมาชิกดำเนินการเองโดยสมัครใจ 2) มาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤติ (ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม) และ 3) การสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป (เพื่อสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา) ดังนี้ มาตรการที่ดำเนินการเองโดยสมัครใจ สมาชิก TBCSD ดำเนินการตรวจเช็คสภาพรถและเครื่องยนต์อยู่เสมอ (Engine Efficiency) การบรรทุกและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Loading Efficiency) และการมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (Driving Behavior) ในส่วนของมาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤติ สมาชิก TBCSD เลือกใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based (น้ำมัน B ต่าง ๆ) หรือ ก๊าซธรรมชาติ (CNG) หรือน้ำมันที่มีสารกำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10 ppm) หรือ ตามมาตรฐาน Euro 5 เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า ลดการนำรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ลดการใช้รถใช้ถนน และส่งเสริมการทำเกษตรที่ไม่เผาชีวมวล ในส่วนของการสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป สร้างการรับรู้ถึงปัญหา ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลถึงคนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM2.5 นอกจากนี้ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นธุรกิจชั้นนำของประเทศเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบในทุกด้านทั้งในช่วงวิกฤตและในระยะยาว

ในส่วนของ TBCSD ได้รวบรวมข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 2. สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อย PM2.5 3. เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 4. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนในทุกมิติที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 5. พัฒนาเครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และ 6.การสื่อสารข้อมูล PM2.5 ให้เป็นเอกภาพ พร้อมสร้างแนวร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป อันนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการ PM2.5 ของประเทศต่อไป

การแก้ไขปัญหา PM2.5 ถือเป็นวาระสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเร่งหาทางออกและผ่านวิกฤตมลพิษทางอากาศครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างสมดุลและยั่งยืน

Political News