สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ออมสิน จับมือ 56 สถาบันอุดมศึกษา ดันชุมชนกว่า 10,000 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

ธนาคารออมสิน เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2562 ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนให้มีศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป

                รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดโครงการความร่วมมือ ระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนการทำงานพลังนักศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ภายใต้ “โครงการอาสาประชารัฐ” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา 56 แห่ง 411 องค์กรชุมชน และหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกองทุนการออมแห่งชาติ เข้าร่วมงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมถอดบทเรียนการดำเนินงานของปี 2562 การนำเสนองานวิจัยเชิงลึก และขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันในปี 2563

                นางพัชลีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการส่งมอบงานกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2562 ภายใต้โครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” โดยธนาคารออมสินร่วมกับมหาวิทยาลัยนำนักศึกษาที่มีไอเดียและวิทยาการสมัยใหม่ เข้าไปช่วยคนในชุมชนปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดความแปลกใหม่ ทั้งรสชาติ คุณภาพ แพ็กเกจให้ทันสมัย เพื่อส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพของกลุ่มองค์กรชุมชน ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้การทำงานร่วมกันให้กับเยาวชน ซึ่งจะก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกลุ่มองค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา และธนาคารออมสิน 

                สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการ 56 แห่งทั่วประเทศ นักศึกษา 3,920 คน กลุ่มองค์กรชุมชน 411 กลุ่ม มีสมาชิกและผู้รับประโยชน์ 2,800 ครัวเรือน กว่า 10,000 คน ได้พัฒนาศักยภาพด้านการตลาด การผลิต การบัญชี และช่องทางการจัดจำหน่าย จนทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักศึกษาเห็นคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และมีโอกาสพัฒนาเป็นอาชีพ เพื่อมีรายได้เลี้ยงตนเองต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่นักศึกษาและกลุ่มองค์กรชุมชน ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ จึงได้มอบรางวัล Best of the Best ให้กับนักศึกษาที่มีผลงานยอดเยี่ยม จำนวน 6 ทีม แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ประเภท กินดี จาก วิสาหกิจชุมชนฉัตรหลวง (ข้าวแต๋นแบบแท่ง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อยู่ดี จาก ว.ทวีฟาร์ม (ฟาร์มสเตย์หมูออร์แกนิคหนองโน Agro Life) มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สวยดี จาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรสร้างสรรค์ (เซรั่มเห็ด 3 ชนิด) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ดูดี จาก วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ทำมือบ้านจงเจริญ (ผ้าปักมือ Hug Village) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, รักษ์ดี จาก กลุ่มตีเหล็กบ้านใหม่ (มีดไทยโบราณ) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และ คิดดี จาก วิสาหกิจชุมชนบ้านคลองไทร (ผักเคล ready to eat) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และได้มอบรางวัล The Best ให้แก่ทีมนักศึกษาและกลุ่มองค์กรชุมชนอีกจำนวน 50 ทีมด้วย นอกจากนี้ภายในงานสถาบันอุดมศึกษาได้ร่วมกับองค์กรชุมชน นำผลิตภัณฑ์/บริการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นและโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน มาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมกับบูธนิทรรศการของธนาคารออมสิน  

                “ผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว สามารถเสริมสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่กลุ่มองค์กรชุมชน โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการดำเนินโครงการ ชุมชนมีค่าใช้จ่ายลดลง รายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าและบริการถึง 300% มีช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังได้รู้จักวิธีการจดบันทึกบัญชีรายได้ รายจ่าย อย่างเป็นระบบ และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” นางพัชลีพร กล่าว

                ทั้งนี้โครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 56 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านกลไก 3 สร้าง คือ สร้างความรู้/อาชีพ เพื่อฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน สร้างตลาด/รายได้ เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษา สร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ผ่านโครงการ GSB Startup Academy และ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยให้นักศึกษาเข้าร่วมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มโอทอป ด้วยการนำความรู้สมัยใหม่ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างรายได้และอาชีพให้แก่สมาชิกในชุมชน

Political News