สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

รฟท.-กลุ่ม ซีพี ลงนามเปิดหวูดโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบินมูลค่า 2.24 แสนล้านบาท

รฟท.-กลุ่มซีพี พร้อมพันธมิตร เซ็นสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท พร้อมเปิดกว้างพันธมิตรใหม่เข้าร่วมทุน ก่อนผลักดันเข้าตลาดหุ้นหรือออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสาม สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบคมนาคมในทุกด้าน ทั้งทางบก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ทางเรือ เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงทางอากาศ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างงานสร้างอาชีพ

“รู้สึกดีใจกับความก้าวหน้าของโครงการนี้ที่มีการทำงานมาตลอด 2 ปี วันนี้ถือเป็นการนับหนึ่งที่มีการลงนามในสัญญาและการเริ่มต้นการก่อสร้าง โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท และถือเป็นโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับไม่ใช่เพียงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟไทย-จีนด้วย  "ขอให้เชื่อมั่นไว้วางใจว่า เราเดินหน้ามาถึงตรงนี้ได้ ถือว่าเดินก้าวที่หนึ่งแล้ว จึงอยากให้ทุกคนสนับสนุนให้เราเดินก้าวที่สองได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี  ยืนยันว่า การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจะต้องเป็นไปตามสัญญา ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมทางออกในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นปัญหาไว้แล้ว เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล  โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานในเรื่องนี้

“อยากให้โครงการนี้ถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้วด้วยที่ได้เริ่มต้นโครงการไว้ จนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่สามารถลงนามในสัญญาได้ ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาล มองว่า การก่อสร้างโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ เกิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ แต่ต้องลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ด้วย   ทุกสถานนีที่จอดมีโอกาสเติบโตทั้งสิ้น มีการทำคมนาคมเชื่อมต่อเข้ามา ทางรถยนต์ ทางราง เพื่อเปิดเส้นทางใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลางด้วยเชื่อมต่อทางบก ทางเรือ ทางอากาศ อันนี้คืออนาคตของเรา ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะขับเคลื่อนให้ได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานโดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฎว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

“เราจะพยายามปิดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดแล้ว ซึ่งมากกว่าโครงการอื่นที่ผ่านมา จากนี้ไปปีแรกคงยังไม่เห็นรูปร่างโครงการ แต่ยอมรับว่าผู้รับเหมาก่อสร้างไทยมีความสามารถที่จะดำเนินโครงการ หรือ เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่เรียนรู้จากต่างชาติ ในการควบคุมการเดินรถ และ การซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นหรือเหตุผลอื่นใดให้ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ทั้งหมด และเปิดได้บางส่วน ก็สามารถเบิกจ่ายให้เอกชนได้ แต่ต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ด EEC และครม. ซึ่งเป็นไปตามทีโออาร์ข้อที่ 18 นอกจากนี้ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กลุ่ม CPH จะต้องนำเงินมาเพื่อลงทุนในกิจการแอร์พอร์ตเรลลิงค์เป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้กลุ่ม CPH ก็จะมาทำดิวดิลิเจนซ์แอร์พอร์ตเรลลิงค์ต่อไป”

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร (กม.) โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 66 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร:CPH) คู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะทาง 220 กม.มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า หลังจากลงนามสัญญาวันนี้แล้วบริษัทจะเริ่มงานก่อสร้างโดยเร็วภายใน 12 เดือน แต่ไม่เกิน 24 เดือน ซึ่งยอมรับว่าในช่วงดอนเมือง-พญาไท เป็นช่วงก่อสร้างที่ยากที่สุด ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การนำบริษัทร่วมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นนโยบายของ EEC ว่าเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่จะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตนได้ขอให้ทางตลาดหลักทรัพย์ส่งทีมมาช่วยดูแลแล้ว

ทั้งนี้ งานโยธาจะมี บมจ.ช.การข่าง (CK) และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นต์ (ITD) จะเข้ามาดำเนินการ ส่วนระบบรางรถไฟความเร็วสูงจะเป็น China Railway Construction Corporation (CRCC) จะเข้ามาดูแล ส่วนการดำเนินการเดินรถจะมีบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี ( Ferrovie Dellio Stato Intaliane S.P.A.) พันธมิตรทั้งหมดจะหารือกันในรายละเอียด ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้

สำหรับแหล่งเงินทุน จะใช้จากเงินกู้ ซึ่งจะมีสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ใช้เงินบาทส่วนใหญ่เป็นงานโยธา สัดส่วนลงทุน 65-70% และอีก 30-35% เป็นเงินสกุลดอลลาร์ที่ลงทุนด้านระบบและเทคโนโลยี รวมทั้งจะได้รับเงินสนับสนุนของทั้งรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้ยังต้องหารือในรายละเอียดเสียก่อน

ขณะที่ในส่วนทุนมีแนวโน้มจะมีผู้ร่วมทุนเข้ามาเพิ่มเติมอีก ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มผู้ถือหุ้นจะมีการแจ้งกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับทราบ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ปิดกั้นพันธมิตรในประเทศที่จะเข้ามาร่วมด้วย

สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด จะไม่ต่ำกว่า 51% ในช่วงระหว่างก่อสร้าง หรือ ภายใน 6 ปีจากนี้ เพราะต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด และเพื่อทำให้โครงการเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว จากในทีโออาร์ที่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องไม่ต่ำกว่า 40%

ทั้งนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ที่เหลือเป็น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือ 10% CK ถือ 5% ITD ถือ 5% และ CRCC ถือ 10%

อย่างไรก็ตาม  ในอนาคตหากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเปิดดำเนินการได้ และเห็นแนวโน้มรายได้ชัดเจน ก็มีแผนจะนำบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

 "ภาคเอกชนกลัวที่สุดคือความเสี่ยง เงินลงทุนร่วมแสนล้าน และมี consortium อยู่หลายราย ถ้าดำเนินการแล้วขาดทุนมันก็จะไม่ใช่แสนล้าน เรื่องนี้เราได้ศึกษากันอย่างละเอียดเราก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้สำเร็จได้ ดังจะเห็นได้ว่าทางคณะกรรมการก็มีความเข้มงวดมาก การเจรจาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพราะว่าเราเป็นโครงการแรกที่เป็น PPP ทีโออาร์ที่ออกมาก็เป็นทีโออาร์แรกที่ใช้กับ PPP เป็น size ที่ใหญ่กว่าที่เราทำหลายเท่า มีต่างประเทศเข้ามาช่วยดูด้วย เพราะฉะนั้นก็หวังว่าตัวโครงการนี้น่าจะเป็นโครงการนำร่องไปสู่โครงการ PPP อื่น การปฏิบัติสิ่งหนึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ในโครงการต่อๆไป"นายศุภชัย กล่าว

ส่วนคณะผู้บริหารโครงการ จะมีตัวแทนจะจากภาครัฐ เช่น รฟท. อีอีซี และเอกชนเข้ามาร่วมกันบริหาร โดยใช้ระเบียบของ อีอีซี

Political News