สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

สวทช. ร่วมกับ SCB จัดค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ปี 6เสริมความรู้สะเต็ม ปูทางสู่นักวิทยาศาสตร์อนาคต

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) จัดกิจกรรม “ค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์” ปีที่ 6 เพื่อให้เป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมนักเรียนที่มีศักยภาพสูง ให้ได้รับโอกาสบ่มเพาะเรียนรู้ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา พร้อมฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ปูเส้นทางสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต โดยมีน้อง ๆ นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจาก สสวท. จำนวน 35 คนจาก 13 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 15 -18 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการจัดกิจกรรมถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ปีที่ 6 เพื่อบ่มเพาะให้เยาวชนตั้งแต่ชั้นระดับวัยเยาว์ ได้มีโอกาสเรียนรู้ เปิดโลกทางวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) เพื่อฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการคัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับเหรียญรางวัลในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี 2561 ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีเยาวชนได้รับคัดเลือกจำนวน 35 คน เป็นเด็กชาย 27 คน และเด็กหญิง 8 คน จากโรงเรียนทั้งสิ้น 13 แห่งทั่วประเทศ

“ค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ปีนี้นี้ มีกิจกรรมให้น้อง ๆ ได้ทดลองลงมือทำเพื่อเสริมความรู้และทักษะในด้านสะเต็มอย่างหลากหลาย ทั้งกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เช่น การเรียนรู้ปัญหาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา การรับฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Jobs in 2030” โดยผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และหัวข้อ “A Day in the Life of a Surgeon” โดยกุมารศัลยแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการทัศนศึกษานอกสถานที่ ตลอดจนกิจกรรมการทำจรวด นำโดยรุ่นพี่ JSTP รุ่น 6 และอาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เป็นต้น” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

หนึ่งในวิทยากร คุณยิ่งยศ ฐาปนกุลศักดิ์ Mind Director บริษัท มาร์เก็ต เซิร์ฟ จำกัด เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่นำมาให้น้อง ๆ ได้ทดลองลงมือทำว่า “ในการออกแบบกิจกรรมจะมองที่ตัวเด็กเป็นหลัก เพราะในปัจจุบัน เด็กจะอยู่กับดิจิทัลหรือสมาร์ทโฟนเสียมาก อาจทำให้ทักษะการคิดแบบเป็นระบบหรือการคิดแบบรับผิดชอบ รวมถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม การเป็นผู้นำ หรือการคิดเชิงระบบ เป็นต้น ขาดหายไป ฉะนั้น ในการออกแบบ Workshop อย่างกิจกรรม ‘พละ 5’ ในวันแรกของค่าย ได้สร้างกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ใช้พละกำลังของตนเองเพื่อให้รู้ว่าตนเองมีกำลังมากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างพลังใจและพลังความคิด แล้วจึงประยุกต์เข้าสู่เนื้อหาเรื่องของพลังงาน ซึ่งในส่วนเนื้อหาเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยคาดหวังให้เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้และประยุกต์ได้กับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน”  

อีกหนึ่งวิทยากร อ.สังคม สัพโส อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก กับกิจกรรมจรวด เล่าให้ฟังว่า “กิจกรรมการทำ ‘จรวด’ เป็นกิจกรรมด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหา ด้วยการแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาทำงานวิจัยในเรื่องการของยิงจรวด ให้ทดลองออกแบบจรวด ติดตั้งปีก และจุดระเบิดโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวจุดระเบิด โดยเริ่มต้นจากให้เขาเห็นว่าจรวดที่ไม่ได้ติดตั้งปีก และทำการจุดระเบิดเป็นขวดเปล่า ๆ เป็นอย่างไร จากนั้นจึงอธิบายให้น้อง ๆ ฟังถึงทฤษฎีว่ามีหลักการทำงานอย่างไร มีจุดลอยตัว จุด CP (ศูนย์กลางแรงดัน) จุด CG (จุดศูนย์ถ่วง) ให้รู้ว่าแต่ละจุดนั้นมีคุณสมบัติเช่นไร จากนั้นจึงมาสอนในเรื่องการออกแบบปีก ซึ่งแบบของปีกต่าง ๆ จะมีผลต่อการบินของจรวด ต่อด้วยขั้นตอนการสร้างและติดตั้งปีกให้แล้วเสร็จ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นของการทดลองยิงจรวดจริง ซึ่งกิจกรรมนี้ประโยชน์ที่น้อง ๆ จะได้รับคือ ได้ฝึกความคิดในการออกแบบดีไซน์และจินตนาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการออกแบบก่อน ก่อนที่จะทำการทดลอง เช่น การออกแบบครีบ ครีบเฉียง ครีบปีกใหญ่ ครีบวงโค้ง ลักษณะการหมุนจะเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และคิดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้ นับเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ฝึกให้นักเรียนรุ่นเยาว์มีความคิดแบบเป็นนักวิจัย เพราะสอนให้คิด วิเคราะห์ เสนอแนะ และนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง ครบทุกกระบวนการของวิทยาศาสตร์”

ด้านน้อง ๆ ที่เข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ด.ญ.อิสรีย์ สังขพันธ์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.หาดใหญ่ บอกว่า “ดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกมาค่ายนี้ เพราะได้ทั้งเพื่อนใหม่และประสบการณ์ ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในห้องเรียน โดยจะนำสิ่งที่ได้ไปต่อยอดในด้านการเรียน และการสอบเข้าเรียนต่อ รวมถึงเป็นการเปิดโลกกว้างที่ทำให้เรียนรู้เรื่องของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้ด้วย” ขณะที่ ด.ช.ณัชพล นิมิตนนท์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี บอกว่า “รู้สึกสนุกและได้รับความรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรมใหม่ของโลกที่ยังไม่เคยรู้ รวมถึงเรื่องเทรนด์อาชีพในอนาคตปี 2030 ที่จะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ ที่โรงเรียนมีการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในโครงงานให้ดีขึ้นได้ และคาดหวังว่าจะช่วยเหลือประเทศชาติให้ดีขึ้นได้ด้วย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ แต่งตั้ง พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่

ถอดประสบการณ์ SCBX กับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Fin Tech

SCG x SCB จับมือร่วมสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวผลักดันอาคารยุคใหม่สู่สังคม Green อย่างยั่งยืน

SCB ส่ง“UP เงินทันใจ”สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สร้างแรงบันดาลใจให้พ่อค้าแม่ค้าอัปธุรกิจได้ไว ผ่านแคมเปญ''รู้จัก UP ไว ธุรกิจก็โตทันใจ"

ไทยพาณิชย์ร่วมกับศศินทร์มอบรางวัลเชิดชูเอสเอ็มอีไทย 5 บริษัทคว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin

สวทช.ผนึกกำลัง มธ.และ OR ร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

Political News