สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

“ศักดิ์สยาม”สั่งทล.ผนึก ทช.-อปท.เร่งเชื่อมจุดมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา (M6)มอบแนวทางให้ ทล. ร่วมกับ ทช. จังหวัดนครราชสีมา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อระหว่างมอเตอร์เวย์ ตอน 40 กับทางหลวงชนบท นม.1120 (สามแยกปักธงชัย) ใช้งบปี 64 ไปดำเนินการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงฯ นางสาวดุจดาว เจริญผล ผู้ตรวจราชกระทรวงฯ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และ นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายปริญญา แสงสุวรรณ วิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างทาง กรมทางหลวง (ทล.) หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย บางปะอิน – สระบุรี - นครราชสีมา ตอนที่ 40 บริเวณทางหลวงหมายเลข 204

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า ได้รับฟังบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ตอนที่ 34 (คลองไผ่) และตอนที่ 40 โดยได้มอบแนวทางให้ ทล. ร่วมกับ ทช. จังหวัดนครราชสีมา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อระหว่างมอเตอร์เวย์ ตอน 40 กับทางหลวงชนบท นม.1120 (สามแยกปักธงชัย) ซึ่งห่างกันประมาณ 300 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเป็นทางเลี่ยงเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา

“เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบ และเกิดประโยชน์สูงสูดต่อประชาชนตามนโยบายกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอของบประมาณประจำปี 2564 ต่อไป รวมทั้งให้ ทล. วางแผนจัดการจราจรในเส้นทางสายหลักร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะทางขึ้นเนินคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ตอนที่ 34 และเป็นช่วงที่มีการจราจรชะลอตัว เนื่องจากมีรถโดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุกใช้ช่องจราจรร่วมกับรถทั่วไป ส่งผลกระทบต่อการจราจร”

โดยให้ ทล. ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ช่องทางการจราจรและความเร็วที่เหมาะสมกับรถประเภทต่าง ๆ พิจารณาปรับรูปแบบจุดกลับรถในเส้นทางสายหลักทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นำร่อง (ถนนเพชรเกษม ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนพหลโยธิน) ให้มีพื้นที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย ไม่ตัดกระแสจราจร และติดตั้งป้ายเตือนก่อนถึงจุดกลับรถ

“ให้ ทล. และ ทช. พิจารณารูปแบบการใช้อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยที่ผลิตหรือมียางพาราเป็นส่วนผสม โดยมุ่งเน้นไปที่ยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง”

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่านอกจากนี้ให้ ทล. เสนอแผนปรับปรุงขยายทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา - บุรีรัมย์ ซึ่งมีขนาด 2 ช่องจราจร อีก 5 ช่วง ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร  เพื่อดำเนินการขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง และให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ทล. ทช. การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้มีภาคประชาชน สมาชิกผู้แทนราษฎรในพื้นที่ และตำรวจ เข้าร่วม เพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างทางลอดบริเวณถนนสืบศิริ (แยกสีมาธานี) ทดแทนสะพานข้ามแยกของ ทล. ซึ่งจะมีการรื้อถอนในระยะต่อไป เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับของโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงผ่านบริเวณดังกล่าวให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

“ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทั้งหมดของกระทรวงฯ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้ส่งผลดีต่อจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) อีกด้วย เพราะจังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคอีสาน”

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ทั้ง 2 ตอน และได้รับข้อเสนอจากเทศบาลตำบลคลองไผ่ ที่ต้องการให้ ทล. ก่อสร้างจุดกลับรถแบบเกือกม้า บริเวณถนนมิตรภาพ กม.ที่ 88+200 โดยให้ ทล. พิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง และเปิดรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ

สำหรับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ตอนที่ 40 มีจุดเริ่มต้นที่ กม.ที่ 188+800 - กม.ที่ 195+943 (รวมทางแยกต่างระดับนครราชสีมา) ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ ลักษณะผิวทางเป็นแบบคอนกรีตและแอสฟัสต์คอนกรีต ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา และสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดขอนแก่นได้

ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้า 76.09% ช้ากว่าแผนงาน 19.3% เนื่องจากมีการปรับรูปแบบโครงการให้เหมาะสมกับพื้นที่ และได้ขยายเวลาการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 273 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 ส่วนโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ตอนที่ 34 เป็นส่วนหนึ่งของทางยกระดับเรียบอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จุดเริ่มต้น กม.ที่ 140+040.000 - กม.ที่ 141+810.000 แยกออกจากถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 17 กม. ขนาด 6 ช่องจราจร ไป - กลับ โครงการมีความคืบหน้าการก่อสร้าง 95% เร็วกว่าแผนเล็กน้อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียด อาทิ การตีเส้นจราจรและไฟฟ้าส่องสว่าง คาดว่าจะสามารถคืนพื้นที่การก่อสร้างได้ก่อนเทศกาลปีใหม่ 2563

สำหรับภาพรวมของโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ทั้งโครงการ ระยะทาง 196 กิโลเมตร จำนวน 40 สัญญา มีความคืบหน้า 76% ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด 13 % เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่างๆของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาจราจรระหว่างภาค ส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังทั่วทุกภูมิภาค เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ

Political News