สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เอ็นไอเอโชว์ 5 ยุทธศาสตร์เร่งด่วน ตอบโจทย์กระทรวงใหม่ ดันไทยสู่“ประเทศแห่งนวัตกรรม”

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดแผนการดำเนินงานภายใต้การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยเตรียมยกระดับหน่วยงานเป็น “บูรณากรระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันของระบบนิเวศนวัตกรรม และพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังมีแผนงานเร่งด่วนที่จะเพิ่มความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมใน 5 ด้าน ประกอบด้วย การปรับปรุงกฎหมายและข้อจำกัดทางการบริหารระบบนวัตกรรม การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในภูมิภาค การสร้างนักรบเศรษฐกิจนวัตกรรมใหม่ การเงินและการลงทุนนวัตกรรม และการสร้างภาพลักษณ์ประเทศแห่งนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.นั้น NIA ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะมีหน้าที่ในการพัฒนากำลังคน ระบบนิเวศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ พร้อมด้วยบทบาทในการผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและดำเนินการไปในทิศทางที่มีความเชื่อมโยงและสอดรับกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ - วิจัยของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในการควบรวมหน่วยงานและปรับโครงสร้างครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ และจะช่วยให้หลายภาคส่วนมีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา NIA ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมกับภารกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานทั้ง 5 ด้าน จากเดิมที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านการให้เงินทุนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็น 4 ปีแห่งการเตรียมความพร้อมด้านรากฐานที่สำคัญ เพื่อก้าวสู่ 10 ปี แห่งการสร้างการบูรณาการเชิงระบบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่ง NIA พร้อมจะก้าวสู่การเป็น ผู้สร้างระบบนิเวศ (ecosystem builder) และ สะพานเชื่อม (system integrator) ระหว่างหน่วยงานพันธมิตร นวัตกร และผู้ประกอบการ โดยมีองค์ความรู้ ระบบนิเวศ ไอเดียทางธุรกิจ การเผยแพร่แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด รวมถึงโอกาสใหม่ๆ มาใช้ต่อยอดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ การปรับบทบาทดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค การเข้าถึงทรัพยากรและการบริการ ลดอุปสรรคในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนขยายผลความร่วมมือไปสู่กิจกรรมเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับในอนาคตของการดำเนินงานภายใต้กระทรวงใหม่ NIA กำลังเร่งทำแผนและนโยบาย โดยเรื่องแรกจะยกระดับ NIA ให้เป็น “บูรณากรระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ใน 2 มิติ คือ 1) การบูรณาการแนวระนาบเพื่อพัฒนาอุปทานทางนวัตกรรม (Horizontal System Integrator 4 Supply-side Development) ด้วยการเชื่อมโยงและประสานงานหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันของระบบนิเวศนวัตกรรม และ 2) การบูรณาการแนวดิ่งเพื่อพัฒนาอุปสงค์ทางนวัตกรรม (Vertical System Integrator 4 Demand-side Development) โดยเชื่อมโยงและประสานงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับแผนงานต่อมาเป็นแผนงานเร่งด่วน (ระหว่างปี 2563 – 2566) ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเป็นแผนงานในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของ “ระบบนวัตกรรม” 5 ด้าน ประกอบด้วย

  • -ปรับปรุงกฎหมายและข้อจำกัดทางการบริหารระบบนวัตกรรม โดยลดข้อจำกัดและสร้างสภาพแวดล้อมเชิงระบบที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรม เช่น การปรับปรุงกฎหมายสตาร์ทอัพ พ.ร.บ. สำหรับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และการประกอบธุรกิจ
  • -การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในภูมิภาค เป็นการยกระดับความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างเข้มแข็งของระบบนวัตกรรม ด้วยการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมที่เข้มแข็งในพื้นที่ โดย NIA จะทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนราชการท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน โดยมีเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ 1) การทำให้ความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนนวัตกรและองค์กรนวัตกรรมในพื้นที่ 2) การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุน และ 3) การส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการขยายผลการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของพื้นที่
  • -การสร้างนักรบเศรษฐกิจนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นสร้างนวัตกรและนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจนวัตกรรมที่เติบโตได้ในระดับโลก และการสร้างงานแห่งอนาคต (Jobs for the future) โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 20,000 งาน
  • -การเงินนวัตกรรม โดยมุ่งกระตุ้นการเติบโตนวัตกรรมด้วยเงินสนับสนุนและการลงทุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน รวมทั้งการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการ
  • -การสร้างภาพลักษณ์ประเทศแห่งนวัตกรรม ด้วยการสร้างการยอมรับและความร่วมมือด้านนวัตกรรมด้วยยุทธศาสตร์การทูตนวัตกรรม และ Innovation Thailand Campaign ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งความเชื่อมั่นในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และทำให้นานาประเทศรู้จักกับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวนโยบายที่จะดำเนินการในอนาคต NIA ยังจะมีการยกระดับแผนงานเดิมให้มีความเข้มข้นและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม GROOM GRANT และ GROWTH โดย GROOM จะเป็นการส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งกระจายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในระดับส่วนกลางและภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น GRANT จะเน้นสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่หลากหลายและเข้มแข็ง ขณะที่ GROWTH จะมุ่งยกระดับความสามารถธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยสู่เวทีนานาชาติ และสร้างโอกาสลงทุนเพิ่มในธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากพันธมิตรต่างประเทศให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ (Area Based Innovation) ไม่ว่าจะเป็น ระเบียงนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และย่านนวัตกรรม การส่งเสริมสตาร์ทอัพภายใต้โปรแกรม STARTUP THAILAND หน่วยงานเพื่อการยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านนวัตกรรม เช่น สถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC Center) สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม เป็นต้น ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด หรือสนใจขอรับทุนการการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th  , facebook.com/NIAThailand

Political News