สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

SME ภาคเกษตรฯ มองภัยแล้งกระทบรายได้ อีก 3 เดือนไม่กระเตื้อง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ในไตรมาส 2 ลดลงหลังเหตุภัยแล้งกระทบภาคเหนือ อีสานและกลางทำเม็ดเงินหายจากภูมิภาค 3.3 หมื่นล้านบาท ชี้เร่งมาตรการระยะสั้นส่งเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่ควบคู่มาตรการระยะยาวแก้ภัยแล้ง เปลี่ยนโครงสร้างพืชเกษตรอย่างจริงจัง

 

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 2/2558 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME 1,240 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 38.7 ปรับลงจากระดับ 43.7 หรือลดลงร้อยละ 11.4 จากไตรมาสก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า รายได้ในปัจจุบันมีความไม่แน่นอน เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 53.8 ปรับลงจากระดับ 59.3 ในไตรมาส 1 คิดเป็นการปรับตัวลดลงร้อยละ 9.3

 

“นอกจากความเชื่อมั่นของเจ้าของธุรกิจ SME โดยรวมจะลดลงเนื่องจากปัญหาต่างๆ รุมเร้าในช่วงที่ผ่านมา หากพิจารณาความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ลดลงค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน สาเหตุเนื่องมาจาก SME มองว่ารายได้ของธุรกิจจะแย่ลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง จากปัญหาภัยแล้งช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องหยุดหรือเลื่อนการเพาะปลูก ส่วนที่เพาะปลูกแล้วอาจได้ผลผลิตไม่เต็มที่เนื่องจากขาดน้ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง และกระทบต่อเนื่องกับธุรกิจ SME ในภาคการเกษตร รวมถึงธุรกิจอุปโภคบริโภคที่อาศัยกำลังซื้อเกษตรกรในพื้นที่” นายเบญจรงค์กล่าว

 

สำหรับปัจจัยที่ธุรกิจ SME กำลังกังวล กว่าร้อยละ 60 เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งถือเป็นระดับความกังวลสูงในรอบ 3 ปีตั้งแต่เริ่มสำรวจความคิดเห็น สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นด้านรายได้ที่ปรับตัวลดลง

 

TMB Analytics คาดว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตนาปีของทั้ง 3 ภาคลดลงเหลือ 21.5 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.3 ล้านตัน ประเมินมูลค่าเม็ดเงินที่หายไปจากครอบครัวเกษตรกรประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

 

นายเบญจรงค์กล่าวเสริมอีกว่า “เกษตรกรถือว่าเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เกษตรที่สำคัญและประชากรส่วนใหญ่ก็มีอาชีพทำการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปี ซึ่งภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเลื่อนการเพาะปลูก ข้าวที่ปลูกไปแล้วขาดน้ำ ผลผลิตจึงต่ำกว่าที่ควร ล้วนทำให้รายได้เกษตรหายไป รายจ่ายสำหรับซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เคมีภัณฑ์ต่างๆ ลงลงตามไปด้วย ขณะที่เกษตรกรเองก็เป็นผู้บริโภคหลักของพื้นที่ก็ลดการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคลง ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ลดลงไปด้วย”

 

“ไม่ใช่เพียงเม็ดเงินรายได้ของเกษตรกรที่หายไปจากท้องถิ่นเท่านั้น แต่เม็ดเงินดังกล่าวเกษตรกรจะใช้จ่าย กลายเป็นรายได้ของธุรกิจ SME ในท้องถิ่น ธุรกิจ SME ก็ใช้รายได้ที่ได้มาจากเกษตรกรในการซื้อสินค้าเพื่อขายหรือซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิต ว่าจ้างแรงงาน เกิดการส่งต่อและหมุนเวียนเม็ดเงินในท้องถิ่น เมื่อเม็ดเงินรายได้เกษตรกรลดลงมาก ธุรกิจ SME จึงเชื่อว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ดังนั้น นอกเหนือจากมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นเพื่อพยุงรายได้เกษตรกรและส่งเม็ดเงินลงสู่ภูมิภาคแล้ว จำเป็นต้องเร่งหามาตรการระยะยาวเพื่อลดการใช้น้ำภาคการเกษตร ลดการพึ่งพาพืชเศรษฐกิจบางชนิดเป็นหลัก เพราะนอกจากประหยัดทรัพยากรน้ำแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้นและราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพมากขึ้นอีกด้วย” นายเบญจรงค์สรุป

Political News