สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2558 พร้อมเปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คือ ศ.ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมีและหน่วยวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี

 

ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2558 ได้แก่ ผศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผลงานวิจัยการทำงานเกี่ยวกับวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าใน “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน” รศ.ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานวิจัย “เคมีอินทรีย์-อนินทรีย์สังเคราะห์” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างโมเลกุลที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ และ ดร.เพียงพักตร์ สุขรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ “อนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ (Systematics) ของไบรโอไฟต์ (Bryophytes)” ซึ่ง ไบรโอไฟต์มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การมอบรางวัลดังกล่าวมูลนิธิฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายเพื่อให้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือสาขาวิชาที่คาบเกี่ยวในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ให้ได้รับความสนใจและเกิดการกระตุ้นให้มีนักวิจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะวิกฤติที่ไทยกำลังประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนนักวิจัย

“แม้ประเทศไทยจะมีแนวโน้มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน กลับพบว่ามีงานวิจัยค่อนข้างน้อย จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยประมาณ 11 คน ต่อประชากร 1หมื่นคน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีนักวิจัย 100 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน โดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ในอันดับ 3 ส่วนอันดับ 2 ที่นำหน้าไทยคือประเทศมาเลเซีย ขณะที่ประเทศที่มีการลงทุนสูงที่สุดในด้านนี้คือ ประเทศสิงคโปร์”

ทั้งนี้ การพัฒนานักวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ควบคู่กับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยประชากรจะมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น สามารถลดความเหลื่อมล้ำ และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น

ด้านศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะเป็นแรงบันดาลใจของนักวิทยาศาสตร์ ในการผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้จำกัดเพียงการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการบริการพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรโลกอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News