สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

กรุงศรี รุดหน้าสร้างตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมส่งมอบบริการด้านวาณิชธนกิจที่ครบทุกมิติ

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เผยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจปี 2567 ชูธง ESG Finance มุ่งสร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านวาณิชธนกิจที่ครบวงจร ตอกย้ำความสำเร็จในการให้บริการสินเชื่อโครงการ การซื้อขาย ควบรวมกิจการ และการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ เพื่อก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “กรุงศรีประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อเติบโต คิดเป็นอัตราประมาณ 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังคงให้การสนับสนุนสินเชื่อและการระดมทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน อาทิ การให้การสนับสนุนสินเชื่อ และการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรและหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่หลายองค์กรสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังให้การช่วยเหลือในการปรับตัวผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายความยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน คือการได้มีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และอีก 13 เครือข่ายองค์กร เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”

ปิดดีลใหญ่ หนุนธุรกิจโตได้ โตไกล อย่างยั่งยืน

สำหรับปีที่ผ่านมา กรุงศรี ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนผ่านดีลสำคัญมากมาย อาทิ

    การเป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วมและผู้ประสานงานด้านดัชนีความยั่งยืน สนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ให้กับบริษัท   ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 11,500 ล้านบาท

    การเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแต่เพียงผู้เดียว ให้กับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) จำนวน 3,000 ล้านบาท

    การให้การสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) แก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท

    การเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับหลายองค์กรสำคัญ ได้แก่

        พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจำนวน 3,500 ล้านบาท

        หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 8,000 ล้านบาท

        หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)  จำนวน 7,000 ล้านบาท

        หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debenture) โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,500 ล้านบาท

        หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000 ล้านบาท

        หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางกรุงศรี ได้ระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากความเชี่ยวชาญและความสำเร็จทางธุรกิจในด้าน ESG กรุงศรียังได้ให้บริการที่ปรึกษาในดีลสำคัญอีกมากมาย อาทิ

    การสนับสนุนการทำธุรกรรม Index Transition ให้กับลูกค้าตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เปลี่ยนผ่าน Index ของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจาก Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) เป็น Thai Overnight Repurchase Rate (THOR)

    ความร่วมมือกับ MUFG ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ Structured Trade Finance เพื่อบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

    การนำเสนอบริการด้านดิจิทัล อาทิ บริการ Direct Debit API, Payment API, One Payment Application, Cash Link, Corporate CHQ และ Credit Product Program เพื่อช่วยยกระดับการบริหารจัดการ และช่วยอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงินให้กับลูกค้า

รุดหน้าสร้างโซลูชันเพื่อธุรกิจ ยกระดับบริการที่ปรึกษา ตอบโจทย์การแข่งขันให้ธุรกิจแบบครบวงจร

ด้วยการเติบโตของความต้องการด้านเงินทุน แนวโน้มการขยายธุรกิจสู่เวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ และแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น การดำเนินงานของกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจในปี 2567 จึงมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมกันกับการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านวาณิชธนกิจ เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยแผนการดำเนินงานดังนี้

    มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อส่งเสริมลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านสู่เส้นทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยฝ่าย ESG Finance (ESG Finance Department or EFD) เดินหน้าให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืน (ESG Finance) รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยวางแผนในช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยจะปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่าย MUFG พร้อมเดินหน้าจัดระเบียบพอร์ตสินเชื่อของธนาคารตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) นอกจากนี้ จะยังคงสานต่อกิจกรรมการให้ความรู้ผ่านเวทีสัมมนาต่างๆ โดยจะจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 เพื่อช่วยส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืนให้กับประเทศไทย

    เพิ่มศักยภาพการบริการด้านวาณิชธนกิจ โดยมุ่งเน้นการให้บริการด้านการให้คำปรึกษาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ผ่านการร่วมมือกับทุกหน่วยงานของกรุงศรี กรุ๊ป เครือข่ายระดับโลกของ MUFG และเครือข่ายธนาคารพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนการให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วนและตรงตามความต้องการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การระดมทุนจากการกู้ยืม การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (Debt Capital Markets) การทำสินเชื่อโครงการ (Project Finance/Structure Finance) ในหลายๆ อุตสาหกรรมทั้งพลังงานหมุนเวียน ศูนย์ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน การซื้อขายและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) การระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุน (Equity Capital Markets) โดยในปีที่ผ่านมามีการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้กับหลายบริษัท เช่น บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (SAV) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยประกอบธุรกิจให้บริการบริหารจัดการควบคุมการจราจรทางอากาศของประเทศกัมพูชาภายใต้สัมปทานแต่เพียงผู้เดียว

และขณะนี้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไอเน็ต (INETREIT) ในการเพิ่มการลงทุนในทรัพย์สินประเภทศูนย์ข้อมูล ให้บริการการเสนอขายหุ้น IPO กับองค์กรในอีกหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง นอกจากนั้นกรุงศรียังให้บริการที่ปรึกษาในการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการร่วมทุนในโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยรวมกับพันธมิตรซึ่งเป็นนักลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน

“เรายังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้รากฐานของการบริการที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และด้วยองค์ความรู้ ทีมงานมืออาชีพ และความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายของกรุงศรี กรุ๊ป และ MUFG เรามั่นใจว่าจะสามารถนำเสนอโซลูชันที่ครบวงจรและเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมครอบคลุมตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญจะยังคงสานต่อการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG โดยเฉพาะในช่วงเวลาปรับตัว เพื่อนำพาลูกค้าก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกันกับเรา โดยในปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตด้านสินเชื่อที่ 4-6%” นายประกอบ กล่าวปิดท้าย

Political News