สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ทรู คอร์ปอเรชั่นผุด “Cell Broadcast” ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ

ทรู คอร์ปอเรชั่นเผยความสำเร็จทดสอบ “Cell Broadcast” ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านจอมือถือสำเร็จในห้องแลปเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา กำลังเจรจาความร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หวังเปิดระบบให้คนไทยได้รับทราบข้อมูลเหตุฉุกเฉิน 5 ระดับทุกพื้นที่ทั่วไทย แบบเจาะจงพื้นที่เกิดภัยพิบัติเพื่อความปลอดภัย อาทิ ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น เป้าหมายเพื่อป้องกันอันตรายความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ใช้งานคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เราเดินหน้าทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้ใช้งานมือถือทรูและดีแทคทั่วประเทศไทย โครงการริเริ่มนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่น ด้านความปลอดภัยสาธารณะผ่านนวัตกรรมโซลูชันโทรคมนาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมมือกับภาครัฐเพื่อนำไปใช้งานจริง ซึ่งระบบนี้ประเทศไทยยังไม่เคยนำมาใช้งาน นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่ทางทรู คอร์ปอเรชั่นเร่งเดินหน้าพัฒนาและร่วมมือสู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อเปิดใช้งานโดยเร็ว”

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast คือระบบแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ จากเสามือถือทุกพื้นที่ทั่วไทย และสามารถเจาะจงพื้นที่เฉพาะที่เกิดเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งจะส่งข้อความเตือนไปยังมือถือของลูกค้าทรู และดีแทค ทุกเครื่องในพื้นที่ต้องการแจ้งเหตุซึ่งต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง โดยจะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายให้ทราบพร้อมกันแบบรอบเดียว ทำให้ผู้ใช้งานมือถือทุกท่านทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ แค่มีมือถือเท่านั้นไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ สามารถได้รับการแจ้งเหตุทันที

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ของทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย

  1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
  2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่นภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
  3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย
  4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
  5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast สามารถนำมาใช้งานอย่างสะดวกเพื่อประชาชนที่มีมือถือโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ และสามารถรับข้อมูลได้ทันทีผ่านการเตือนทั้งระบบเสียงเตือนภัย ข้อความแจ้งเหตุที่ทางทรู คอร์ปอเรชันนำมาทดสอบสามารถรองรับ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ด้วยการแจ้งเหตุเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทรู ดึงพลัง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสร้างประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส ประกาศ 3 กลยุทธ์หลัก ปูทางเติบโตอย่างยั่งยืน

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยผลประกอบการปี 2566 กำไร EBITDA ดีต่อเนื่อง 4 ไตรมาส พร้อมรายได้รวมโต และ Synergy เกินเป้า

ศูนย์บริการลูกค้าทรูและดีแทคเปลี่ยนเอกสารสู่ดิจิทัล “เลิกใช้กระดาษ 100%” เซฟเวลา 4 แสนชั่วโมงต่อปี

ทรู คอร์ปอเรชั่นก้าวสู่บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำ พร้อมเผยผลควบรวมสร้างมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท

ทรูยกระดับความปลอดภัยขั้นสุด เผยโฉม “True I dtac SECURITY” ให้ลูกค้ามั่นใจยิ่งขึ้น

“สามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 9” เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดมเหยงคณ์ อยุธยา ชมสด 12 สามเณรน้อย

Political News