สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

รีวิว 8 ทักษะจำเป็น นอกตำราเรียน สำหรับเยาวชนผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร..?” ประโยคคำถามสุดคลาสสิคของผู้ใหญ่ที่มักเอ่ยถามเหล่าลูกหลานทุกครั้งที่พบเจอ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการวาดฝันและหาคำตอบว่า “เราอยากประกอบอาชีพอะไร” ในครั้งวัยเยาว์เราทุกคนล้วนมีความฝันที่แตกต่างกันออกไป หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ถึง 20 ปีก่อน หมอ วิศวกร นายกรัฐมนตรีและตำรวจ คงเป็นคำตอบยอดฮิตของเหล่าเยาวชน แต่ด้วยปรากฏการณ์เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ชุมชนเสมือนบนโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือแอปพลิเคชันปฏิวัติวงการคมนาคมอย่างแกรบ (Grab) และอูเบอร์ (Uber) ฯลฯ ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำและยุติความจำเจของการทำงานในออฟฟิศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด คำตอบของคำถามสุดคลาสสิคที่ผู้ใหญ่มักถามเด็ก จะเปลี่ยนไปเป็น “เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ”

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เยาวชนที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ควรเตรียมความพร้อมด้านการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และด้านความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เป็นพิเศษ โดยความพร้อมทั้ง 3 ด้านนี้ เยาวชนจะต้องมี 8 ทักษะ ดังต่อไปนี้

         การใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ได้หมายถึงการริเริ่มไอเดียใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกใช้ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่าง ในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นี้ มีความจำเป็นอย่างมากในการต่อสู้และสร้างความโดดเด่นในสนามธุรกิจอันดุเดือด

         การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Co-Creation)

แน่นอนว่าการประกอบธุรกิจย่อมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว โดยการทำงานเป็นทีมนี้หากสมาชิกเกื้อหนุนกัน ย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจ ดังนั้นการรับฟังและยอมรับความเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น เพื่อนำมาประยุกต์และต่อยอดในการพัฒนาชิ้นงานและแก้ไขปัญหาของทีม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ

         การลงมือทำและความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

การมีไอเดียที่สดใหม่และแตกต่างนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำธุรกิจ แต่การนำไอเดียดังกล่าวไปสร้างเป็นธุรกิจจริง จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจกลไกของธุรกิจ รวมทั้งสามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเองได้อย่างถูกต้อง เพราะหากไอเดียดีเพียงไร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ ธุรกิจดังกล่าวย่อมไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง

          การสื่อสาร (Communication)

การทำธุรกิจย่อมหนีไม่พ้นการนำเสนองาน ทั้งกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ (Partner) ตลอดจนเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ความสามารถในการถ่ายทอดความคิดและทัศนคติ ได้อย่างถูกต้องและชัดเจน รวมทั้งมีทักษะการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ จึงเป็นทักษะที่สำคัญ นอกจากสร้างความเข้าใจแล้ว การสื่อสารที่ดียังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย

         การคิดและมองแบบองค์รวม (Holistic)

หากการเรียนรู้ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ไม่สามารถทำความเข้าใจได้แค่ลักษณะพื้นที่ของกรุงเทพฯ การทำธุรกิจก็เช่นกัน การเป็นผู้ประกอบการที่ดีจึงไม่ควรโฟกัสเพียงแต่ธุรกิจของตนเอง โดยไม่สนใจสภาะแวดล้อมรอบข้าง อาทิ รูปแบบการตลาดของคู่แข่ง ฯลฯ และการมีความเข้าใจในมิติความรู้ที่หลากหลายและรอบด้าน รวมทั้งเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ สังคมและสภาพแวดล้อม ย่อมเป็นหนทางสู่การสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ

         การเข้าใจปัญหา (Understanding)

ทุกปัญหามีทางออกและทุกอุปสรรคมีโอกาสเสมอ หากสามารถค้นหาสาเหตุ ข้อจำกัดและเงื่อนไขของปัญหานั้นได้ และนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งนำมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป ตลอดจนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีก

         การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและวัสดุ (Material and Technology Literacy)

การนำเทคโนโลยีมาใช้ทุ่นแรงในการทำธุรกิจ มิใช่เพียงหนทางของการลดเวลา ลดต้นทุนและเพิ่มผลเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางแห่งการสร้างโอกาสและความแตกต่าง หากมีความเข้าใจในระบบสั่งการและสามารถใช้งานเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีความรู้ในวิทยาการด้านวัสดุ

         การจัดการความเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลว (Change and Failure Management)

ทุกธุรกิจย่อมมีความล้มเหลว แม้ในเริ่มต้นอาจสวยหรูแต่ย่อมมีจุดตกต่ำในวันหนึ่ง ความเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินธุรกิจนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ รวมทั้งยินดีหากต้องเริ่มต้นใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ทั้งนี้ 8 ทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ผ่านชาเล้นจ์ในโครงการ "ชมรมนักออกแบบรุ่นเยาว์" หรือ “YOUNG DESIGNER CLUB” (YDC) อาทิ การออกแบบโลโก้ THE STORY TELLER  การออกแบบแนวทางการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์ การสร้างสรรค์เครื่องแบบนักเรียนแนวใหม่และการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาดราม่าในงานกีฬาสี ซึ่งชาเล้นจ์ต่าง ๆ ล้วนส่งเสริมทักษะที่แตกต่างกันออกไป นอกจากทักษะที่จะได้พัฒนาแล้วนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสได้พบปะและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ผ่านกิจกรรมการลงพื้นที่และการทำเวิร์กช็อป จึงอยากเชิญชวนให้เหล่าเยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จรวมกลุ่มกัน มาร่วมโครงการดังกล่าว โดยสามารถสมัครและดูรายละเอียดได้ที่ www.youngdesignerclub.com นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก
เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7400 หรือเว็ปไซต์ youngdesignerclub.com หรือ www.facebook.com/youngdesignerclub

Political News