สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

กระทรวงวิทย์ฯผนึกกำลัง3หน่วยใหญ่ ยกระดับ“ผ้าทออีสาน-ล้านนา ร่วมสมัย”ด้วยนวัตกรรม

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนึกกําลัง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดงานแสดงโชว์ผลงาน “นวัตกรรมผ้าทออีสาน - ล้านนา ร่วมสมัย” ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานด้วยนวัตกรรม ประจําปี 2561 มิติใหม่ของวงการทอผ้าไทย ที่ร่วมผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (OTOP) และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสาน และ 3 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 110 กลุ่ม รวม 1,034 คน ให้มีความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายของอีสาน – ล้านนา ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาสาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ผสมผสานกับการออกแบบบนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า ความแตกต่าง และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสามารถต่อยอดทางธุรกิจกับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นและวัยทํางานหันมาให้ความสําคัญการสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจําวัน ที่มีการผสมผสานนวัตกรรมและถูกดีไซน์ออกมาให้เหมาะสมและทันสมัย พร้อมทั้งกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใช้สอยผลิตภัณฑ์ของไทยให้มากยิ่งขึ้น

ดร.นพ. ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “สําหรับ โครงการนี้ ได้ริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก ที่มุ่งเน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้กับผ้าทออีสานและล้านนาทั้งรูปแบบผ้าผืน และแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่า เสริมสร้างศักยภาพ และผลักดันผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (OTOP) และ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในพื้นที่ 10 จังหวัด ทางภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ และ 3 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ ลําพูน เชียงราย และ แพร่  โดยนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เช่น

  1. การเลือกใช้วัสดุเส้นใยชนิดใหม่ (New Fiber) เช่น เส้นใยไผ่ เส้นใยฟิลาเจน
  2. การตกแต่งสําเร็จเพื่อเพิ่มคุณสมบัติบนผ้าผืน (Functional Textile) เช่น สะท้อนน้ำ ต้านแบคทีเรีย
  3. การเลือกใช้ชุดสีและอารมณ์ของสี (Color /Color Mood) เป็นการนำวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สิมบ้านบัว หรือโบสถ์บ้านบัว และดอกกล้วยไม้ช้างกระ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสีและลวดลายผ้า
  4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Textile) เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การใช้แปรรูปวัสดุคงคลัง
  5. และสุดท้ายการใช้เทคนิคการทอ (Weaving Technique) เช่น เป็นการทอด้วยเส้นไหมขนาดเล็กละเอียดและเนื้อนุ่ม, การทอผสมเส้นไหมและเส้นใยธรรมชาติ เพื่อให้สวมใส่สบาย ระบายความชื้นได้ดี เป็นต้น”

       สำหรับโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานด้วยนวัตกรรม ประจําปี 2561 ได้รับความร่วมมืออย่างดีกับ 3 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย

          กรมวิทยาศาสตร์บริการ เน้นการนำนวัตกรรม คัลเลอร์ไอดีเลเบลลิง (Color ID Labeling) เป็นมาตรฐานสีที่บ่งบอกอัตลักษณ์ได้อย่างแม่นยํา ควบคู่กับการใช้สื่อดิจิตอลประเภท คิวอาร์โค้ด (QR Code) และ เออาร์โค้ด (AR Code) เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของ ผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ วิถีชีวิต และความพิถีพิถันในการออกแบบลวดลายของผลิตภัณฑ์ ด้วยวิธีแบบดั้งเดิมให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยผ่านทางแอพพลิเคชั่น ที่ได้พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเทคนิคการทอผ้ายีนส์จากเส้นฝ้ายและเส้นไหม โดยใช้วิธีการทอมือด้วยกี่ดั้งเดิม และการย้อมเส้นใยด้วยครามธรรมชาติ ทําให้เกิดผ้ายีนส์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อีก 1 หน่วยงาน ที่นําความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นให้มีความทันสมัย โดยใช้ลักษณะเด่นของลวดลายและสีสันของผ้าทอแต่ละจังหวัด เช่น  ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าขาวม้า และผ้าไหมตีนแดง นํามาออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้ง เสื้อผ้าสตรี ชุดลําลอง กระเป๋าเป้ และของที่ระลึกต่างๆ พร้อมการเพิ่มมูลค่าโดยการนำนวัตกรรม และคุณสมบัติพิเศษเสริมให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การสะท้อนน้ำ การทำนุ่ม การหน่วงไฟ ที่สามารถนํามาใช้ในชีวิตประจําวันได้จริง

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นอีกหน่วยงานที่ได้มุ่งการสนับสนุนด้านนวัตกรรมผ้าทออีสานด้วยการเลือกใช้วัดสุเส้นใยใหม่ (เส้นใยไผ่ และเส้นใยฟิลาเจน) นวัตกรรมการตกแต่งสำเร็จ    (ผ้าสะท้อนน้ำ ผ้าที่มีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ผ้าป้องกันรังสี) นวัตกรรมการย้อมสีธรรมชาติ (การเลือกวัตถุดิบและกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) นวัตกรรมเทคนิคการทอ ผสมผสานกับการออกแบบและการเลือกใช้เทรนด์สีที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพในการผลิต สามารถพัฒนาสินค้าสนองต่อความต้องการของตลาดระดับบน (High-end Market) มุ่งเน้นการสร้างความแตกต่าง สำหรับผ้าทอล้านนา สถาบันพัฒนาอุตสาหรรมสิ่งทอ ได้นำวัฒนธรรมและความเชื่อความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและสวยงามร่วมสมัย ประยุกต์ใช้สำหรับตกแต่ง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอ เพิ่มคุณสมบัติพิเศษบนผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คือการทำให้ผ้ามีความนุ่มและสะท้อนน้ำตามหน้าที่และประโยชน์ของการใช้งาน

          นอกจากนี้ ภายในงาน “นวัตกรรมผ้าทออีสาน ล้านนา ร่วมสมัย” ยังได้จัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (OTOP) และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) กับผู้ซื้อ (จีน ญี่ปุ่น และยุโรป) เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ กิจกรรมการสาธิตการทําผ้าทอ ด้วย 5 นวัตกรรม ที่มีคุณสมบัติพิเศษมากมาย สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ จนถึงกระบวนการขาย ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มตัว และยังมีนิทรรศการโชว์ผลสำเร็จจากนวัตกรรมผ้าทอ การแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานสุดอลังการ รวมทั้งยังได้เหล่าเซเลบริตี้มาแชร์ประสบการณ์ และแนะนำเคล็บลับดีๆ เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ผ้าไทย โดย ป้อม - อัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ   “สบันงา" พร้อมด้วย หนูสิ - สิริรัตน์ เรืองศรี มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2010 มาแนะนำด้านการแต่งตัวด้วยผ้าไทยให้สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริง

 

Political News