สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ธ.ก.ส. เผยผลงาน 6 เดือน จ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ธ.ก.ส. เผยผลประกอบการ ณ 30 ก.ย. 60 สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท พร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยสู่ความยั่งยืน ยกระดับสู่ผู้ประกอบการเกษตร 4.0 บูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนขยายฐานตลาดท้องถิ่นสู่ E-Commerce หนุน "ท่องเที่ยววิถีไทย ตามรอยเท้าพ่อ" โดยเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงและพัฒนา

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2560 (1 เมษายน – 30 กันยายน 2560) ว่า ธ.ก.ส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบทได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 17,843  ล้านบาท ส่งผลยอดรวมของสินเชื่อคงเหลือเป็น 1,294,886 ล้านบาท หรือขยายตัวจากสิ้นปีบัญชี 2559  1.40% ทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 2560  ถึง 1,642,487 ล้านบาท โดยธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,385,017 ล้านบาท สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 5.75% ของสินเชื่อรวม รวมทั้งธนาคารมีสถานะกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS Ratio ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 12.37%  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่8.50% 

          “หนี้ เอ็นพีแอล อยู่ที่ 5.75% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลที่เกษตรกรอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตและจะนำรายได้มาชำระหนี้ในช่วง ครึ่งปีหลัง โดยจะให้พนักงานธนาคารดูแล ลูกหนี้ทุกรายอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 4% ตามเป้าหมาย ด้านกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ระดับ 12.37% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตั้งเอาไว้ ที่ 8.50% โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานในครึ่งปีแรก 5,800 ล้านบาท และสิ้นปีน่าจะทำได้ตามเป้า 9,000 ล้านบาท”

สำหรับภารกิจที่สำคัญในปีบัญชี 2560 ธ.ก.ส.ยังทำหน้าที่เป็นกลไกรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร ผ่านมาตรการและโครงการที่สำคัญ ได้แก่

  1. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย จ่ายสินเชื่อไปแล้วจำนวน 56,022 ราย เป็นเงิน 68,542 ล้านบาท และมี SME เกษตรที่เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วกว่า 2,401 ราย
  2. การแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 41,108 ราย ลดภาระหนี้นอกระบบได้ จำนวน 4,001 ล้านบาท         

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้โอนหนี้นอกระบบของผู้มาลงทะเบียนรายได้น้อยให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งในส่วนของผู้ที่มา ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. มีคนเป็นหนี้นอกระบบ 4.5 แสนราย มูลหนี้ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารได้เตรียมวงเงินของธนาคาร ไว้ดำเนินการส่วนนี้ 1 หมื่นล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1%

  1. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ 1,585,031 ราย พื้นที่ 23.76 ล้านไร่
  2. โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการรัฐ ปี 2560 มีประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 7.7 ล้านราย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมด 6.16 ล้านราย ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการแจกบัตรสวัสดิการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 ผลการดำเนินงาน ณ 31 ตุลาคม 2560 มอบบัตรสวัสดิการไปแล้ว 5.7 ล้านราย  คิดเป็น 95% คาดว่าอีก 1 เดือนจะแจกบัตรสวัสดิการได้ทั้งหมด

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ธนาคารได้ขอให้กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มวงเงินปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะผู้มาลงทะเบียนกับรัฐบาลอีก 5,000 ล้านบาท หลังจากวงเงินเดิม 5,000 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง ได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 4,894 ล้านบาท สามารถปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย 1.35 แสนราย โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน

 

นายอภิรมย์กล่าวไปต่อว่า ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรก้าวผ่านจากการเป็นผู้ผลิตระดับต้นสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งการผลิต การตลาด การจัดการบัญชีเงินทุน  การพัฒนาฝีมือแรงงาน การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการ การเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีความเป็นสากล พัฒนาสินค้าจากตลาดประชารัฐระดับชุมชน สู่การค้าระหว่างกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งไปยังระบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ขยายตลาดจากชุมชนสู่ระดับประเทศและระดับโลก ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce เพื่อยกฐานะ SMEs เกษตร รูปแบบเดิมไปสู่ Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูงสามารถบรรลุเป้าหมายเกษตรกร 4.0 และยังเป็นหัวขบวนภาคเกษตรที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

                “ในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาถ่ายทอดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรลูกค้า ครอบครัวและชุมชนผ่าน "ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส." และได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับขึ้นเป็น "ชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ" ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม เป็นแกนกลางเหนี่ยวนำชุมชนอื่นๆ ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด โดยปัจจุบันมีชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อแล้วทั้งสิ้น 77 ชุมชนทั่วประเทศ” นายอภิรมย์กล่าว

 

Political News