สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

คณะท่องเที่ยวฯ มธบ.เร่งปั้น นศ.ป้อนภาคธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมขาดแคลนหนักหลังโควิด-19

“วสุกานต์” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม  มธบ.ระบุภาคการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการเติบโตสูง ต้องการแรงงานจำนวนมาก เร่งสร้างความเชื่อมั่น เรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติจริง จบสาขานี้ทำงานได้หลากหลาย พร้อมปลูกฝัง DNA รู้จักตัวเอง พัฒนาจุดแข็ง  มีservice mind บริการด้วยใจ มีความรับผิดชอบ มีบุคลิกภาพที่ดี ทำงานได้จริง ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองความคิดของผู้คน ผู้ประกอบการในธุรกิจแตกต่างไปจากเดิม  โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการเอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร้านค้า ซัพพลายเชน และแรงงาน ล้วนรู้สึกหวาดหวั่นและวิตกกังวลในการดำรงอาชีพอยู่ในภาคธุรกิจดังกล่าว ซึ่งทุกประเทศได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพียงแต่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ ถือเป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศ

“ประเทศไทย เป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจและอยากมาท่องเที่ยว เพราะเรามีความได้เปรียบทั้งด้านการเดินทาง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการบริการ ความเป็นมิตรมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ.ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีการผลิตบัณฑิต บุคลากร แรงงานด้านการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน จะต้องทำให้นักศึกษา และผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในสายอาชีพการท่องเที่ยว โรงแรม และบริการ ซึ่งจริงๆแล้วการเรียนในคณะนี้ ไม่ใช่จบมาแล้วจะทำเพียงในโรงแรม สายการท่องเที่ยว หรือทำอาหาร เป็นเชฟเท่านั้น แต่สามารถทำงานได้หลากหลาย” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ. กล่าว

นางวสุกานต์ กล่าวต่อว่า การจัดการเรียนการสอน หลักสูตรของคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ. จะเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติจริงจากสถานที่จริง ผู้ประกอบการจริง เพราะถ้านักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอจะทำให้พวกเขาเกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญ อีกทั้งบัณฑิตที่จบจากคณะสามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งทำงานในโรงแรม wellness ซึ่งกำลังมีการเติบโต จัดอีเวนท์  เลขานุการ ผู้ช่วยส่วนตัว หรือทำงานในธุรกิจบริการ หรือหากเป็นเชฟ พ่อครัวแม่ครัวก็สามารถทำงานได้ที่ร้านอาหาร สร้างสรรค์เมนู หรือขายอาหารออนไลน์ได้ เป็นต้น ดังนั้น นักศึกษาที่เรียนในคณะนี้ ต้องมีจิตบริการ รู้จักจุดแข็งของตัวเอง มีบุคลิกภาพที่ดี มีความรับผิดชอบ  ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน แต่ต้องเสริมจุดแข็งของนักศึกษา และให้มีความชำนาญ มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี ทั้งเทียบโอนจาก ปวส. รวมทั้งหลักสูตรปริญญาโทการจัดการการท่องเที่ยวซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

“หลังจากเข้ารับตำแหน่งคณบดี ได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งคณาจารย์ และนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาได้เสนอในสิ่งที่พวกเขาอยากได้จากคณาจารย์ มหาวิทยาลัย นั่นคือ การได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจากทั้งสถานที่จริง ได้ลงมือทำงานจริงๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพตั้งแต่เข้าศึกษาปี 1 และต้องการให้เพิ่มเติมทักษะภาษาที่ 3 อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น เพราะเขามองว่าตอนนี้เศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียกำลังเติบโต และเป็นโอกาสในการทำงานของพวกเขา  ฉะนั้น DNA ของบัณฑิตคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม ต้องรู้จักตัวเอง มี service mind บริการด้วยใจ ใครที่ได้พบเห็น ได้ทำงานร่วมกับบัณฑิตของมธบ.ต้องติดใจ อยากได้เข้าไปทำงานร่วม” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ. กล่าว

นางวสุกานต์ กล่าวด้วยว่า ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ มีสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง และบัณฑิตที่จบจากคณะนี้สามารถทำงานได้เกือบทุกภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกภาคอุตสาหกรรมล้วนต้องมีการบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง คณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ.จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักศึกษา และผู้ปกครอง ว่าการมาเรียนในคณะ สาขาเหล่านี้จะมีอาชีพ มีรายได้ และมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน

นอกจากนั้น จะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่อมโยง บูรณาการเข้ากับหลายๆ คณะ และเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง เนื่องจาก มธบ.มีทั้งโรงแรม ศูนย์การแพทย์ด้านความสวยความงาม ซึ่งนักศึกษาในคณะสามารถไปทำงานได้จริง ได้ดูแลลูกค้าจริง ๆ รวมทั้งมีการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง อย่างในวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00-12.00 น. ทางคณะได้มีการเชิญ กะปอม มาสเตอร์เชฟ มาร่วมแชร์ประสบการณ์เพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากเชฟจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ กรมการจัดหางาน ได้ประมาณการว่า จะมีแรงงานที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 373,488 คน โดยแบ่งเป็น ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 48,453 คน หรือ 12.97% มัธยมศึกษาตอนปลาย 12,063 คน หรือ 3.23% ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 60,680 คน หรือ 16.25% ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 87,176 หรือ 23.34 % และปริญญาตรี  165,115 คน หรือ 44.21%

ขณะที่ในปี 2566 มีการประเมินว่าประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 350,000-500,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นความต้องการจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวโตแบบฉับพลัน ทำให้แรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วขาดแคลนเพิ่มไปอีก ดังนั้น การมาเรียนคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม หรืองานสายบริการ ท่องเที่ยวจะมีงานทำอย่างแน่นอน

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

 

Political News