สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

APEC CEO Summit 2022 ...สะท้อนวิสัยทัศน์ของภาคธุรกิจในเวทีโลก

 

  • APEC CEO Summit 2022 เป็นโอกาสสำคัญของผู้นำธุรกิจภาคเอกชนของเขตเศรษฐกิจเอเปคในการแสดงวิสัยทัศน์ที่มีความสำคัญสำคัญอย่างการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ การสาธารณสุข ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยบริบทของการเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาโครงสร้างประชากรของไทยในขณะนี้ มี 2ประเด็นที่อาจมีผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คือ การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) ซึ่งจะช่วยเข้ามาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equity) โดยให้โอกาสสตรีเข้าเป็นส่วนสำคัญในตลาดแรงงานที่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในภาวะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ
  • ในส่วนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคของภาครัฐในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นับเป็นโอกาสที่ผู้นำไทยจะใช้เวทีนี้แสดงวิสัยทัศน์ในระดับนานาชาติ ในหัวข้อที่เป็นวาระของโลกทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับทิศทางการค้า การลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จะมีผลต่อเรื่องความมั่นคงอาหารและพลังงานในระยะต่อไป

ในช่วงเวลาการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ หนึ่งในการประชุมที่น่าจับตาคือการประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนชั้นแนวหน้าของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีระดับโลก โดยหัวข้อประชุมเน้นการเปิดกว้างสู่โอกาสด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ การสาธารณสุข และความเท่าเทียมกันทางเพศ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนจะได้เสนอแนวทางออกแบบนโยบายให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

เรื่องต่างๆ ที่อยู่ในวาระการประชุม APEC CEO Summit 2022 ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระยะข้างหน้า แต่ภายใต้บริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญข้อจำกัดในการเติบโตและปัญหาโครงสร้างประชากรไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่ควรเร่งพัฒนาจึงอยู่ที่ 2 เรื่องหลัก คือการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equity) สะท้อนมุมมองสำคัญของภาคเอกชนในการแก้โจทย์เฉพาะหน้าที่อาจมีผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงหลายปีต่อจากนี้ โดยเฉพาะการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม กล่าวคือการสนับสนุนการเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้จนสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ รวมถึงความเสมอภาคทางเพศ ที่เป็นการให้โอกาสสตรีเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานได้อย่างเท่าเทียมก็จะช่วยชดเชยการขาดแคลนแรงงานในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลของประชากรในประเทศได้ในระยะยาว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศในภาวะที่ไทยและหลายประเทศสมาชิกต่างกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวของภาคเอกชนยังสอดคล้องกับภาครัฐบาลนำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ล้วนให้น้ำหนักกับประเด็นข้างต้นโดยบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินงานในระยะข้างหน้าเพื่อเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจของไทยบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาบทบาทของภาครัฐในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC 2022) ที่มีกรอบแนวคิดหลัก “การเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.)” ในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่าน BCG Economy Model ความมั่นคงทางอาหารและพลังงานตลอดจนสาธารณสุข แม้ว่าร่างถ้อยแถลงการณ์ผู้นำ (2022 Leaders’ Declaration) ที่ออกมาจะยังต้องดำเนินการสานต่อความร่วมมือจากชาติสมาชิกในการผลักดันวาระต่างๆ ให้ไปสู่เป้าหมาย แต่สำหรับไทยในฐานะเจ้าภาพของการประชุมเอเปคซึ่งเป็นเวทีระดับโลก ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำไทยจะใช้เวทีนี้ในการแสดงวิสัยทัศน์ในระดับนานาชาติ ในหัวข้อที่เป็นวาระของโลกทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับทิศทางการค้า การลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จะมีผลต่อเรื่องความมั่นคงอาหารและพลังงานในระยะต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการประชุมสำคัญอย่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การประชุม G20 การประชุม COP 27 และล่าสุดการประชุมเอเปค ซึ่งล้วนหารือถึงจุดยืนที่สำคัญของสมาชิกในประเด็นที่เป็นวาระสำคัญของโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้คลายความตึงเครียดลงระหว่างในระหว่างการประชุม G20 ขณะที่ประเด็นด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่แต่ละประเทศล้วนมีแนวคิดที่ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นสำคัญ

               โดยสรุป การประชุมในวาระต่างๆ ของเอเปคล้วนมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญทั้งจากภาคเอกชนผ่าน APEC CEO Summit 2022 และของภาครัฐบาลผ่านการประชุมในระดับผู้นำเอเปค APEC 2022 หากผสานมุมมองจากภาคเอกชนชั้นนำของสมาชิกเอเปคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

 เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นห่วงเวลาแห่งการประชุมสำคัญระดับโลกและระดับภูมิภา

  •  
  •  

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ The 40th and 41st ASEAN Summit

  • 10-13 พ.ย.2565
  • หารือเรื่องเสถียรภาพภายในภูมิภาคในประเด็นเรื่องเมียนมาและความท้าทายในระดับโลก
  • การประชุมย่อยระหว่าง The 10th US-ASEAN Summit 2022 ตอกย้ำการเป็นหุ้นส่วนในการทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นในทุกมิติ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่ในระดับโลกทั้งสภาพอากาศและความมั่นคง ตลอดจนการสานสัมพันธ์ระหว่างอินโด-แปซิฟิก และ Canada-ASEAN Summit 2022 สะท้อนความร่วมมือที่มากขึ้นในอนาคต
  • การประชุมครั้งต่อไปจัดที่อินโดนีเซีย

การประชุมสุดยอดผู้นำจี 20The 17th G20 Bali summit ที่อินโดนีเซีย 15-16 พ.ย.2565

  • การเรียกร้องเพื่อความสามัคคีกลมเกลียว การยุติสงครามและการพัฒนาอย่างทั่วถึง ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลก เพื่อมุ่งเน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ
  • การประชุมย่อยที่เป็นจุดสนใจอยู่ที่การพบปะผู้นำสหรัฐฯ และจีนต่างสะท้อนแนวโน้มที่ดี่ขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างกันแม้จะยังมีข้อขัดแย้งบางประการอยู่ รวมถึงผู้นำจีนได้พบปะกับผู้นำประเทศอื่นที่ล้วนมีท่าทีเชิงบวกในเรื่องที่มีข้อขัดแย้งระหว่างกันทั้งออสเตรเลีย และฝรั่งเศส
  • การประชุมครั้งต่อไปจัดที่อินเดีย 2023 G20 New Delhi Summits

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 ที่อียิปต์ 6-18 พ.ย.2565

  • หารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้า
  • บราซิลกลับมาร่วมประชุมหลังจากถอนตัวไปในปี 2562 จากประเด็นการตัดไม่ทำลายป่าแอมะซอน ผลักดันให้ประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจ่ายค่าเสียหายให้ประเทศยากจนเพื่อชดเชยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยน
  • การประชุมครั้งต่อไป COP28 จัดที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค หรือ APEC Summit

ที่ไทย 17-18 พ.ย.2565

  • ให้ความสำคัญในประเด็นการค้าและการลงทุน ความยั่งยืน การเติบโตอย่างทั่วถึง สาธารณสุข ความเท่าเทียมทางเพศ ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล
  • การประชุมทวิภาคีครั้งแรกในรอบ 3 ปี ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น หารือเรื่องข้อขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะเซ็นคาคุ และความตึงเครียดเรื่องไต้หวัน
  • การประชุมครั้งต่อไปจัดที่สหรัฐฯ
 
  • : รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

Political News