สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ธุรกิจแห่งอนาคต โอกาสตลาดท่องเที่ยวไทย

EIC ประเมินว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์การดูแลสุขภาพ

ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญและตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้นจนกลายเป็น “กระแสคนรักสุขภาพ” ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพได้รับอานิสงส์และเติบโตตามไปด้วย

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังมาแรงทั่วโลก

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) กลายเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่กำลังมาแรงทั่วโลก โดย Global Wellness Institute (GWI) ประเมินว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9% ต่อปีในช่วงปี 2020-2025 GWI แบ่งเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness economy) ออกเป็น 11 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ดังนี้ การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลความงามและศาสตร์ชะลอวัย (Personal care, beauty and anti-aging) การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการและการลดน้ำหนัก (Healthy eating, nutrition and weight loss) กิจกรรมทางกายภาพ (Physical activity) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) การแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก (Traditional and complementary medicine) สาธารณสุขการแพทย์เชิงป้องกันและการแพทย์เฉพาะบุคคล (Public health, prevention and personalized medicine) อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness real estate) สุภาพจิต (Mental wellness) สปา (Spas) สุขภาพในที่ทำงาน (Workplace wellness) และน้ำพุร้อน (Thermal/mineral springs)

ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย

ในปี 2020 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ในปี 2019 รายได้รวมจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 18.7% ส่วนในภูมิภาค Asia-Pacific ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองแค่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการต่อยอด หรือ ริเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ จากความนิยมของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม อีกทั้ง กิจกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงกว่ากิจกรรมทั่วไป การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มีจำนวนวันพักที่นาน และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวปกติ โดย GWI รายงานว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวต่างชาติที่เยือนไทยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่มากกว่า 50,000 บาทต่อการเที่ยวหนึ่งครั้ง ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 53%

โดยจากการรายงานของ Global Wellness Institute (GWI) ในปี 2017 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าธุรกิจมากที่สุดในเศรษฐกิจเชิงสุขภาพของประเทศไทย มีดังนี้

อันดับที่ 1 การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลความงามและศาสตร์ชะลอวัย

อันดับที่ 2 การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการและการลดน้ำหนัก

อันดับที่ 3 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

อันดับที่ 4 กิจกรรมทางกายภาพ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้รับแรงหนุนจากทั้งนักท่องเที่ยวไทย และจากต่างประเทศ ด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ

ปัจจัยที่หนึ่ง ปัญหาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัวกับการวางแผนดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีอุปสงค์ของ Wellness tourism จากตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม  คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ Non-communicable diseases (NCDs) เพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่าในปี 2020 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs คิดเป็น 71% ขณะที่คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 76.58% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ด้วยจำนวนผู้สูงอายุวัย 60 ปีมีสัดส่วนมากกว่า 20% หรือคิดเป็น 17-18 ล้านคนจากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการ Wellness tourism เติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุหรือกลุ่ม Silver age เหล่านี้  สอดคล้องกับการที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นคนวัย 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเน้นคุณภาพการท่องเที่ยวและยินดีที่จะจ่ายมากกว่าเพื่อแลกกับผลลัพธ์ที่พึงพอใจ เช่น การเที่ยวแบบดูแลสุขภาพไปด้วยโดยมีโปรแกรมตรวจสุขภาพเพื่อดูความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ในอนาคต 

ปัจจัยที่สอง ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมตลอดจนมีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวย ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงสามารถต่อยอดศักยภาพเดิมของไทยได้ จากการรายงานการจัดอันดับศักยภาพในการแข่งขันด้านธุรกิจการท่องเที่ยวฉบับปี 2019 โดย World Economic Forum ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 31 จากทั้งหมด 140 ประเทศ และหากเทียบเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และมาเลเซียเท่านั้น อีกทั้ง ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติประเทศไทยยังจัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี 2022 หากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายรายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นตลาดต่างประเทศราว 1.3 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศราว 1.2 ล้านล้านบาท ความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของไทยจะเอื้อให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวสามารถต่อยอดและขยายธุรกิจไปสู่ Wellness tourism ได้ เช่นโครงการ BDMS Wellness Clinic Retreat ที่จัดทำร่วมกับ Celes Samui เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว Silver age และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ชอบทะเลและธรรมชาติ ที่ต้องการดูแลร่างกาย ตรวจสุขภาพและทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การออกกำลังกาย การทำสปา นวดไทย หรือรับประทานอาหารสุขภาพ

ปัจจัยที่สาม ประเทศไทยมีศักยภาพและความชำนาญในการให้บริการทางการแพทย์ อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ หากประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้าด้วยกัน ประเทศจะสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่รักในการดูแลสุขภาพได้มากกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม ๆ เช่น Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok ที่มี BDMS Wellness Clinic คลินิกสุขภาพเชิงป้องกันดูแลและฟื้นฟูในโรงแรมเพื่อให้แขกที่เข้าพักสามารถเข้าถึงบริการได้โดยตรง ซึ่งโปรแกรมการดูแลสุขภาพมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กายภาพบำบัด สุขภาพทางเดินอาหาร ทันตกรรม รวมไปถึงคลินิกผู้มีบุตรยาก ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลได้เล็งเห็นโอกาสและคิดค้นแนวทางที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้มีการวางแผนการรักษาในระยะยาวเพื่อที่จะกลับมารักษาที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และในทุกช่วงของชีวิต

การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย

ทั้งนี้การที่จะทำให้อุตสาหกรรม Wellness tourism ของไทยประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งผู้ประกอบการ นักวิชาการ เจ้าของพื้นที่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ตลอดจนภาครัฐและนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ดังเช่น รัฐบาลจีนประกาศนโยบาย Hainan free trade port จัดตั้งเขตนำร่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นานาชาติป๋ออ่าวเล่อเฉิงที่เมืองป๋ออ่าวในมณฑลไห่หนานเพื่อให้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับไฮเอนด์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับนานาชาติ ผลักดันให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์เป็นสัญลักษณ์ของไห่หนานโดยมีมาตรการลดขั้นตอนการขอเอกสารตรวจลงตราให้แก่ผู้ป่วย ลดขั้นตอนในการนำเข้ายารักษาโรคและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการจีน อำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมข้ามพรมแดน และสนับสนุนการเข้าถึงประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ายารักษาโลกที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจีน ปัจจุบันภาครัฐไทยมีนโยบายที่จะผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ (Medical hub) โดยการขยาย Medical treatment visa หรือ วีซ่ารักษาพยาบาลจาก 90 วันเป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน เน้นดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล

EIC ประเมินว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์การดูแลสุขภาพ ผู้ประกอบการควรคว้าโอกาสจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อยอดธุรกิจโรงแรมโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเชิงสุขภาพแบบครบวงจรที่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรองและแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ไม่มีประเทศไหนเหมือน เนื่องจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้โดยตรง ผู้ประกอบการควรพิจารณาการขยายธุรกิจโรงแรมไปสู่โรงแรมที่มีสปาพร้อมโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพความงามและการแพทย์ทางเลือกโดยเน้นการประยุกต์ศาสตร์แพทย์แผนไทย นวดไทย และสมุนไพรไทยที่ไม่มีชาติไหนสามารถเลียนแบบได้ เช่น การนวดกดจุดรักษาไมเกรน การประคบสมุนไพรด้วยลูกประคบสมุนไพรสดผ้าครามรักษาอาการปวดหลัง การต่อยมวยไทยบำบัดโรคซึมเศร้า การใช้น้ำสมุนไพรไทยสำหรับ Detox ลำไส้ เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ แต่งตั้ง พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่

ถอดประสบการณ์ SCBX กับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Fin Tech

SCG x SCB จับมือร่วมสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวผลักดันอาคารยุคใหม่สู่สังคม Green อย่างยั่งยืน

SCB ส่ง“UP เงินทันใจ”สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สร้างแรงบันดาลใจให้พ่อค้าแม่ค้าอัปธุรกิจได้ไว ผ่านแคมเปญ''รู้จัก UP ไว ธุรกิจก็โตทันใจ"

ไทยพาณิชย์ร่วมกับศศินทร์มอบรางวัลเชิดชูเอสเอ็มอีไทย 5 บริษัทคว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin

SCB ผนึก KogoPAY พัฒนาช่องทางชำระเงินข้ามพรมแดน ผ่าน QR Code สำหรับนักท่องเที่ยวอังกฤษและยุโรป

Political News