สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เกียรตินาคินภัทร เผยอสังหาฯ เริ่มฟื้น เล็งยอดขายปี 65 เพิ่มขึ้น30% แนะพัฒนาโครงการไม่เกินกำลังซื้อของพื้นที่

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร โดยสายงานสินเชื่อธุรกิจ วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2565 ว่าเริ่มมีสัญญาณบวกที่จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นเนื่องจากกลัวราคาจะปรับขึ้น คาดยอดขายทั้งปี 2565 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนั้น ยังแนะผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับกำลังซื้อแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ลดขนาดโครงการลง หรือแบ่งเฟส และจำกัดปริมาณ เพื่อบริหารความเสี่ยงให้สอดรับกับต้นทุนที่ดิน ค่าก่อสร้าง และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มการเติบโตของอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ในปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตลาดชะลอตัว โดยในปี 2564 มียอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือ 1 ลดลงไปประมาณ 30,000 ยูนิต (-24%) จากปีก่อน แต่ในปีนี้ เริ่มมีสัญญาณบวกมากว่ายอดโอนอาจกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยเมื่อเปรียบเทียบยอดโอนกรรมสิทธิ์ตามรูปแบบสินค้า ที่อยู่อาศัยแนวราบมีแนวโน้มการขยายตัวสูงของสินค้ากลุ่มทาวน์เฮ้าส์ และบ้านแฝด โดยเฉพาะกลุ่มระดับราคา  2-5  ล้านบาท จะเติบโตมากขึ้นในพื้นที่ปริมณฑล ตามต้นทุนของที่ดินที่ปรับสูงขึ้น ส่วนยอดขายบ้านเดี่ยวคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มระดับราคา 10-15 ล้านบาท เนื่องจากราคาบ้านเดี่ยวมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามต้นทุนของราคาที่ดิน (และค่าก่อสร้าง) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่ระดับราคาบ้านเดี่ยวจะปรับขึ้นมาที่ระดับราคานี้ โดยจากอุปสงค์ใหม่ของบ้านเดี่ยว ที่เข้ามาในตลาดมากที่สุด ก็เป็นที่ระดับราคา 10-20 ล้านบาท

ปัจจัยภายนอกกดดันการขยายตัวของที่อยู่อาศัย

ปัจจัยภายนอกยังกดดันการขยายตัวของที่อยู่อาศัย เช่น การปรับนโยบายการเงินที่ล่าช้าจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนการพัฒนาสูงขึ้น จากค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าที่ดิน ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 10-15 และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 6-8  ยิ่งกว่านั้น จำนวนโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565  ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 52,000 ยูนิต ทำให้ในอนาคตอาจเกิดภาวะขาดแคลนวัสดุบางประเภท และค่าแรงขั้นต่ำก็มีโอกาสปรับขึ้น โดยในช่วงปลายปี 2565 ถึงกลางปี 2566 หากดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น และมีการยกเลิกอัตราดอกเบี้ยคงที่ จะส่งผลต่อวงเงินในการซื้อบ้าน และจำนวนเงินงวดที่ต้องจ่าย ทำให้คนอาจเร่งตัดสินใจซื้อบ้านก่อนต้นทุนจะเพิ่ม หรือชะลอการซื้อบ้านไปเลยก็ได้

รูปแบบของโครงการเปิดใหม่          

โครงการเปิดใหม่ปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากข้อมูลการเปิดใหม่ 5 เดือนแรกของปี 2565 กลุ่มแนวราบ ทาวน์เฮ้าส์ เปิดใหม่มากที่สุด ในระดับราคา 2-3 ล้านบาท บ้านเดี่ยว เปิดใหม่มากที่สุดในระดับราคา 10-20  ล้านบาท คอนโดมิเนียม เปิดใหม่มากที่สุดในระดับราคา 1-2 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่อาจเกิดตลาดอิ่มตัวในบางทำเล เนื่องจากหลายโครงการจะมุ่งเน้นพัฒนาคอนโดมิเนียมในราคาถูก ราคาขายประมาณ 50,000-60,000 บาทต่อตารางเมตร. โดยทำห้องให้มีขนาดที่เล็กที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ตามกฎหมาย เพื่อให้มีราคาขายต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทำให้เกิดเป็นเทรนด์ Micro Condo ที่มีขนาด 21-25 ตารางเมตร และเปิดเป็นห้องแบบ 1 ห้องนอนเทียม เป็นห้องแบบมีฉากกั้นเพื่อแบ่งสัดส่วนเท่านั้น  คาดว่าการเปิดใหม่ของโครงการคอนโดมิเนียมในปี 2565 จะมากกว่าปี 2563 และ 2564 รวมกัน 

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของประเทศไทย แรงงานกลับมาทำงานตามปกติ ส่งผลให้กิจกรรมในภาคอสังหาฯมีแนวโน้มฟื้นตัว จำนวนบ้านคงค้างที่มีอยู่ในตลาดถูกระบายออกมาอย่างมาก และโครงการเปิดตัวใหม่มีการปรับตัวโดยไปพัฒนาในทำเลที่ห่างเมืองมากขึ้นแต่ยังมีคมนาคมที่เชื่อมโยงกันอยู่ ขนาดพื้นที่เล็กลง เพื่อจับกลุ่มตลาดคนไทย ทำให้ยอดขายที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (ยอดขายครึ่งปีเท่ากับ 57,376 ยูนิต) และคาดว่าสำหรับทั้งปี 2565 ยอดขายจะอยู่ที่ประมาณ 80,000-90,000 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับยอดขายทั้งปีของปี 2564  โดยยอดขายที่เกิดขึ้นจะเป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทถึงร้อยละ 54 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนยูนิตเปิดใหม่ในช่วง 5 เดือนของปี 2565 ที่ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมระดับราคา 1-2 ล้านบาทและทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 2-3 ล้านบาท 

สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าปี 2566 รูปแบบของตลาดอสังหาฯ จะเปลี่ยนไปในทุกทำเล การพัฒนาจะยากขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่ดินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-15 ค่าก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 8-12 ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ไม่สามารถพัฒนาบ้านในแบบที่ต้องการได้เหมือนเดิม จึงต้องเปลี่ยนมาพัฒนาตามกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้า ในขณะที่ยังคงต้องสร้างให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด สำหรับผู้ประกอบการแล้ว แนวทางการพัฒนาโครงการในปี 2565-2566 ควรให้ความสำคัญกับกำลังซื้อแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ไม่พัฒนาเกินกำลังที่ผู้บริโภคจะซื้อได้  หาช่องว่างของตลาดที่มีความต้องการสูง หาสินค้าที่มาทดแทน เช่น บ้านแฝดมาทดแทนบ้านเดี่ยว บ้านทาวน์เฮ้าส์อิสระมาทดแทนบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์หน้ากว้าง 7 เมตรมาทดแทนบ้านแฝด 

ทั้งนี้ควรพิจารณาจำนวนบ้านที่จะพัฒนาอย่างระมัดระวัง โดยอาจลดขนาดโครงการ หรือแบ่งเฟส และในบางกรณี ถ้ายอดขายไม่เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ การตัดสินใจยกเลิกโครงการและคืนเงินลูกค้าก่อนเริ่มก่อสร้างอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการพัฒนาไปโดยไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ 

Political News