สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

พลิกโฉมการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หัวใจคือการกำกับดูแลหลังการควบรวม

พลิกโฉมการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หัวใจคือการกำกับดูแลหลังการควบรวม เพราะขนาดของโอเปอร์เรเตอร์ สำคัญต่อการอยู่รอด ผู้ควบรวมต้องชี้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้ชัดเจน

ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผู้เล่นรายใหม่ที่ให้บริการในรูปแบบดิจิทัลที่เข้ามาให้บริการทดแทนมากมาย ทำให้การปรับตัวของผู้ประกอบการมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อเกิดการควบรวมของผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่งผลให้ทางเลือกของผู้บริโภคมีน้อยลง ดังนั้นบทบาทของผู้กำกับดูแลจึงมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และต้องดำเนินการให้โปร่งใส โดยหลังการควบรวม ต้องมีข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบ และเกิดความมั่นใจว่าไม่เสียประโยชน์

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าการควบรวมของผู้ประกอบการโทรคมฯจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการในการให้บริการ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในระยะถัดไป  ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้บริโภคนั้นจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตีความว่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีข้อมูลในระดับที่จะวิเคราะห์ว่าประโยชน์ของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร อำนาจต่อรองผู้บริโภค กับผู้ประกอบการเป็นอย่างไร หากผู้บริโภคกังวลเรื่องการผูกขาด เพราะการร่วมธุรกิจ ซึ่งจะมีการลดลงของจำนวนผู้ให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนน้อยรายอยู่แล้ว ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคน้อยลงอีก ไม่ไปเจ้าไหนก็เจ้าหนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก มีการแข่งขันที่สูงและยังเป็นธุรกิจท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การลงทุนจึงต้องใช้ระยะเวลากว่าจะคุ้มทุน ทำให้การที่มีฐานธุรกิจที่แน่น มีลูกค้ามากพอ หรือต้องทำให้เกิด  Scale ที่มากพอ เพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจดีขึ้น เช่น วันหนึ่ง หากมีเทคโนโลยีใหม่ ผู้ประกอบการต้องลงทุนเพื่อให้บริการ แต่หากมีจำนวนลูกค้าไม่มากพอ จะกลายเป็นภาระอาจไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ได้ การควบรวมจึงเป็นเรื่องเชิงธุรกิจที่เข้าใจได้ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ลักษณะโครงสร้างของตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยไปหรือไม่

ดร.เชาว์ ระบุว่า ผู้ประกอบการฯต้องให้ข้อมูลกับผู้กำกับดูแล ในแง่ของการให้บริการผู้บริโภคที่คุ้มค่ามากกว่า ทั้งนี้เชื่อว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องการตัวเลข และข้อมูลที่ชี้แจงว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคจริง ๆ ค่าใช้จ่ายไม่แพงขึ้น ไม่ได้ลดอำนาจต่อรอง ต้องมีหลักฐานที่เป็นตัวเลขที่ไปชี้แจง ถ้าเราพูดในสามัญสำนึก มีเหตุผลต่าง ๆ มากมาย แต่หากการตัดสินใจจำเป็นต้องตัดสินใจจากข้อมูลของผู้ประกอบการ ต้องมีการทำประมาณการต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ประกอบการพิจารณา และติดตามผลหลังการควบรวม

Political News