สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

“ผ้าขาวม้า”ภูมิปัญญาแห่งชีวิต จิตใจ สายใย ความผูกพัน

“ยามเย็นเดินเล่นชายทุ่ง ผ้าขาวม้าคาดพุง นุ่งกางเกงขาวยาว แต่งตัวไปอวดสาว ๆ นุ่งกางเกงขายาว ผ้าขาวม้าคาดพุง...”

          เสียงเพลงจากการแสดงชุดผ้าขาวม้า โดยกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน อำเภอวัดโบสถ์จังหวัดพิษณุโลก ในพิธีเปิดนิทรรศการ “ผ้าขาวม้า” เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าย้อนวิถีชีวิตของคนไทยนับแต่อดีตที่มีผ้าขาวม้าเป็นผ้าคู่กาย ใช้ได้สารพัดประโยชน์ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เกิดจนตาย ผู้ชายใช้โพกผม พาดบ่า คล้องคอ คล้องไหล่ คาดพุง นุ่งอาบน้ำ ปูนอน ห่อสัมภาระ ฝ่ายหญิงก็ใช้บังแดด เช็ดข้าวของเครื่องใช้ ปัดยุง ไล่แมลง ผูกเปล หรือมัดสะพายแล่งโอบก้นลูกน้อยเข้าเอว ฯลฯมาถึงวันนี้เราได้รู้จักอีกหนึ่งคุณค่าอันแสนลึกซึ้งของผ้าขาวม้า จากนายประดิษฐ์  ศรีกองหนุน ผู้อำนวยการส่วนเทคโนโลยีและสารสนเทศ สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ ๖ ในการเสวนาเรื่อง ผ้าขาวม้า

          “เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต จะเก็บของใช้ของพ่อแม่ไว้บูชา ตัวเองก็นำผ้าขาวม้าของพ่อมาเก็บไว้ในลิ้นชักในรถยนต์ เวลาขับรถไปไหนก็เหมือนมีพ่อคอยติดตาม คุ้มครอง เป็นขวัญ กำลังใจ และสิริมงคลชีวิต” ผ้าขาวม้าผืนนี้จึงมีคุณค่ายิ่งกว่าเครื่องรางของขลังใด ๆ ทั้งปวง

          ในแง่ของการใช้ชีวิต ผ้าขาวม้าก็มีความผูกพันอย่างแนบแน่น “ตอนที่มีลูกเล็ก ๆ ๒ คน ลูกไม่ยอมนอนเปลที่ซื้อมา จะดิ้น จึงนำผ้าขาวม้ามาผูกเป็นอู่หรือเปลให้ลูกนอน ลูกก็จะนอนอย่างอบอุ่น” เรียกว่าผ้าขาวม้าแทนอ้อมกอดของพ่อแม่เลยก็ว่าได้

          จากผู้ใช้ มาถึงฝ่ายผู้ผลิตกันบ้าง นั่นคือ กลุ่มวิสาหกิจผ้าทอไทยร่วมใจบ้านกร่างท่าวัว หรือ กลุ่มทอผ้าบ้านกร่าง ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นกลุ่มทอผ้าที่ผลิตผ้าประเภทต่างๆ ทั้งผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่และผ้าขาวม้า โดยเฉพาะผ้าขาวม้ามีการผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีการนำผ้าขาวม้าเก่าที่ใช้จริงในชุมชนมาเป็นแบบในการผลิตขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นยังส่งเข้าคัดสรรเป็นสินค้า OTOP จนได้รับคัดสรรเป็นสินค้า OTOP  ระดับ ๔ ดาว ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย

นางประสาน  คงคอน รองประธานกลุ่มวิสาหกิจผ้าทอไทยร่วมใจบ้านกร่างท่าวัว เล่าว่า “เราใช้ผ้าขาวม้าในชีวิตประจำวันกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สมาชิกของกลุ่มจึงแกะลวดลายจากผ้าขาวม้าดั้งเดิมที่มีอายุนับ ๑๐๐ ปี ลักษณะเป็นผ้าขาวม้าตาเล็กโทนสีส้มเหลือง วัสดุที่ใช้คือไหมประดิษฐ์ สามารถนำไปแปรรูปและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายได้ แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมาสอนให้เราทอผ้าขาวม้าจากฝ้าย พร้อมลวดลายใหม่ ซึ่งสามารถประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อีก เราก็จะทอทั้งผ้าขาวม้าดั้งเดิมและที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ไปพร้อมกัน”

          บุคลากรของกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ฝึกสอนให้สมาชิกของกลุ่มทอผ้าบ้านกร่าง มีการประยุกต์ พัฒนา สร้างสรรค์ ลวดลายและสีสันของผ้าขาวม้าให้มีความทันสมัย ทั้งยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม ที่สำคัญทอจากเส้นใยฝ้ายที่มาจากดอกฝ้าย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่า

“ปกติผ้าขาวม้า ๑ ผืน เราขายราคา ๒๕๐ บาท ยังมีคนต่อ เราก็บอกว่ากว่าจะได้แต่ละผืน ต้องผ่านกระบวนการมากมาย ผ้าขาวม้าแต่ละผืนสมาชิกทุกคนทอด้วยหัวใจ ด้วยใจรักจริง ๆ ตอนก่อตั้งกลุ่มมีสมาชิก ๓๐ คน ตอนนี้เหลืออยู่ ๘ คน ซึ่งเป็น ๘ คนที่รักการทอผ้าขาวม้าเป็นชีวิตจิตใจ”

          นางประสานให้คำมั่นสัญญาว่า ทั้ง ๘ คนจะยังคงมุ่งมั่นทอผ้าขาวม้าต่อไป และเป็นที่น่ายินดีว่า ภูมิปัญญานี้กำลังได้รับการสืบทอดไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ นั่นคือเด็กหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย แม้ไม่ใช่คนในพื้นที่แต่ชื่นชอบการทอผ้าขาวม้าเป็นพิเศษ เข้ามาศึกษา เรียนรู้ จนสามารถทอเป็นผืนผ้าได้แล้ว ทุกวันนี้มีความผูกพันกับผ้าขาวม้าและสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านกร่างเป็นอย่างยิ่ง

          ผ้าขาวม้าแต่ละผืนที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ “ผ้าขาวม้า” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร จนถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายนศกนี้ จึงมิได้มีเพียงเส้นสี ลวดลาย อันสดใสสวยงามเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกหัวใจของผู้ทอ ที่รอให้ทุกคนมองเห็นและเข้าใจ

Political News