สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

แห่งแรกในอาเซียน..เมดโทรนิค จับมือ วิศวะมหิดล เตรียมเปิดศูนย์เครื่องช่วยหายใจ

ผนึกพลังความร่วมมือ...ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เตรียมเปิดประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยี บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนาม MOU กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดเทคโนโลยี ‘เครื่องช่วยหายใจ’ (Ventilator) มาตรฐานสากล และพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยหายใจในการดูแลผู้ป่วย โควิด-19 หลังยอดผู้ป่วยในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากโควิดกลายพันธุ์เดลต้าในช่วงที่ผ่านมา พร้อมระดมทรัพยากรและองค์ความรู้เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ เร่งช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ความก้าวหน้าและแผนการเปิดศูนย์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ระดับภูมิภาคอาเซียน ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณรานีวรรณ รามศิริ ผู้อำนวยการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมดโทรนิค เป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ระดับโลกซึ่งก่อตั้งในสหรัฐอเมริกามากว่า 70 ปี มีเครือข่ายในกว่า 150 ประเทศ  และมีการดำเนินงานด้านพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ควบคู่ความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณสุขในประเทศไทยมาเป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 เราตระหนักถึงภาวะวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรง ทำให้ ‘เครื่องช่วยหายใจ’ (Ventilator) ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยขั้นวิกฤติที่เพิ่มสูงขึ้น ระบบสาธารณสุขไทยยังขาดองค์ความรู้และขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยหายใจ ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤต และพัฒนานวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจที่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลและผู้ป่วยในประเทศไทยได้ ดังนั้น เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จึงได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้ ประกอบด้วย การถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ให้ปลอดภัย และการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด การค้นคว้าทดลอง วิจัยและพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ และเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ในอนาคต โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกพร้อมที่จะช่วยแนะนำและฝึกอบรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการแพทย์สาธารณสุขและวิศวกรรม  เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงและต่อยอดเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต

          ทั้งนี้  เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ขั้นรุนแรง หรือการผ่าตัด โดยถูกเชื่อมต่อกับผู้ป่วยด้วยท่อกลวงที่ส่งออกซิเจนไปยังผู้ป่วย จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง โดยมักใช้ในช่วงระยะสั้น ๆ แต่มีบางรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะยาวหรือตลอดชีวิตด้วย  ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจมี 2 ชนิด คือ

    เครื่องช่วยหายใจชนิดธรรมดา (Conventional Ventilator) มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากใช้งานไม่ยุ่งยาก เคลื่อนย้ายสะดวก โดยรูปแบบการทำงานของเครื่องสอดคล้องกับปอดของคนทั่วไป ระดับปริมาตรอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยจึงใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ

    เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง (High Frequency Ventilator) มักใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจลำบาก เนื่องจากปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ เครื่องช่วยหายใจชนิดนี้มีการสูบฉีดออกซิเจนค่อนข้างถี่ ปริมาตรของอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับออกซิเจนของปอดในขณะนั้น

 รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยที่ระบาดเร็วและรุนแรงขึ้นจากไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าในขณะนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการวิจัยพัฒนาและผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งทุกโรงพยาบาลต้องมีอย่างเพียงพอจะสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยขั้นวิกฤติและช่วยลดความสูญเสียลงได้ การผนึกความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กร นับเป็นการริเริ่มครั้งสำคัญนำไปสู่การถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการวิจัย ศึกษา บูรณาการมุ่งสู่วิศวกรรมระดับโลกด้านการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ (Innovative Medical Device Center of Excellence) ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจแห่งแรกของอาเซียนด้วย ณ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังมีแผนขยายไปถึงเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ในอนาคต ซึ่งมีศักยภาพอันโดดเด่นพร้อมที่จะเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้สำหรับบุคคลากรในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพการรักษาผู้ป่วยโควิดในอนาคต

ก่อนหน้านี้ เมดโทรนิค ได้เปิดพิมพ์เขียวเครื่องช่วยหายใจ (Open Sources) ให้ทางภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ที่มีศักยภาพสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาเครื่องช่วยหายใจ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเครื่องช่วยหายใจให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก อาทิ บริษัท เทสล่า ได้นำพิมพ์เขียวดังกล่าวไปช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ บริษัท อินเทล นำเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ของเครื่องช่วยหายใจมาประยุกต์ใช้ให้สามารถควบคุมเครื่องได้จากระยะไกล (Remote Monitoring) ช่วยให้แพทย์สามารถใช้และควบคุมเครื่องได้จากระยะไกล (Telemedicine) ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากการดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เมดโทรนิค ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรและบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่น Allego Inc.ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “Ventilator Training Alliance App” (VTA) เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลของเครื่องช่วยหายใจได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนระบบสาธารณสุข โดยจัดหา นำเข้า และส่งมอบเครื่องมือพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีส่วนช่วยรักษาผู้ป่วยอย่างเพียงพอ รวมทั้งส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าไปให้บริการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

ในยามที่คนไทยประสบความยากลำบากในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความต้องการบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอีกจำนวนมากในการใช้เครื่องช่วยหายใจให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในผู้ป่วยขั้นวิกฤติที่เพิ่มสูงขึ้น ความร่วมมือของบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) และมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นพลังสำคัญพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพบุคคลากรทางการแพทย์ของไทยโดยถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มจำนวนกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องช่วยหายใจ อันจะเป็นกำลังหลักในการช่วยชีวิตคนไทยด้วยเครื่องช่วยหายใจให้ได้มากที่สุดและก้าวหน้ายั่งยืน

 

นักวิชาการวิศวะมหิดล ถอดบทเรียนชี้ 3 ปัจจัย สาเหตุเรือล่มกลางแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุเรือยนต์ที่กำลังลากจูงเรือบรรทุกสินค้า ล่มลงใต้น้ำกลางสามแยกแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำป่าสัก บริเวณท่าน้ำวัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้คนขับเรือและภรรยาจมน้ำสูญหายไปพร้อมเรือ จากนั้น ถัดมาอีก 2 วัน ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มอีกครั้ง ที่หน้าวัดบางกระจะ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจุดเกิดเหตุทั้ง 2 แห่ง อยู่ไม่ห่างกันมาก จากอุบัติเหตุครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถอดบทเรียนชี้ 3 ปัจจัย เรือล่มกลางแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข

            รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื่องจากการขนส่งทางแม่น้ำมีความสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้แก่ประเทศ อีกทั้งมีวิถีชีวิตไทยที่สัมพันธ์กับการคมนาคมทางน้ำมายาวนาน แม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย รวมความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นที่นิยมในการท่องเที่ยวชมสถานทางประวัติศาสตร์ ล่องเรือ  จากสถิติในปี 2562 มีปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก ใช้เรือขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 62,236 เที่ยวลำ มีสินค้าทั้งหมด 18 ประเภท ปริมาณสินค้ารวมประมาณ 56 ล้านตัน ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยลงพื้นที่ทำการสำรวจวิจัยลักษณะสามแยกแม่น้ำ หน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร ที่ทำให้เรือมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุล่ม ซึ่งบริเวณนี้มีแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยสามฝั่ง คือ  1.ฝั่งวัดพนัญเชิงวรวิหาร  2. ฝั่งวัดบางกระจะ (แหลมบางกระจะเคยเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำในยุคอยุธยา) 3.ฝั่งป้อมเพชร เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บริเวณทางแยกระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก หากย้อนประวัติศาสตร์ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง ตลอดบริเวณเหล่านี้เป็นย่านท่าเรือและการค้านานาชาติที่มีความสำคัญของโลกในยุคก่อน มีเรือนแพและร้านค้ามากมาย เรือสินค้าจากหัวเมืองชายทะเล และเรือสินค้าชาวต่างชาติจะเข้ามาจอดขายเต็มไปหมด ส่วนบริเวณหลังป้อมเพชรเป็นย่านพักอาศัยของขุนนางชั้นสูง ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปทางทิศใต้ มีชุมชนต่างชาติอาศัยอยู่ เช่น บ้านฮอลันดา, บ้านญี่ปุ่น เป็นต้น ในบริเวณนี้ยังพบว่ามี ชื่อท้องถิ่นที่น่าสนใจ คือ บ้านวังน้ำวน ตำบลสำเภาล่ม บ่งบอกถึงภูมิศาสตร์ที่มีมาแต่อดีต

สาเหตุของเรือล่มในแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดพนัญเชิงฯ มี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากบริเวณจุดเกิดเหตุเป็นสามแยกกลางแม่น้ำ ที่มีแม่น้ำ 2 สาย ไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา กระแสน้ำจากสองแม่น้ำไหลมาต่างทิศทางมาปะทะกัน และยังเป็นโค้งน้ำอีกด้วย ยิ่งทำให้เกิดกระแสน้ำวน ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว จึงยากต่อการควบคุมเรือและเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ 2. โครงสร้างเรือพาณิชย์ที่ใช้ขนสินค้าโดยใช้เรือยนต์ลากจูง 5 ลำ ชักนำเรือใหญ่ที่ขนสินค้า จะเห็นว่ายังขาดการพัฒนาการนำเทคโนโลยีที่จะช่วยการควบคุมเรือให้ปลอดภัย โดยปกติหากเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีที่เกิดเหตุนี้จะต้องเลี้ยวโค้ง ในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันแรง กระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก ทำให้มีคลื่นใต้น้ำมหาศาล ซึ่งเป็นอันตรายทำให้เรือพลิกคว่ำและจมลง 3. ความเชี่ยวชาญของคนขับเรือ หากไม่มีประสบการณ์เพียงพอ หรือขาดเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่จะช่วยให้สามารถจัดการแก้ไขสถานการณ์ยามฉุกเฉิน จึงมีความเสี่ยงสูงต่ออุบัติเหตุ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปข้อเสนอแนะแก่กระทรวงคมนาคม  เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรือและประชาชน ดังนี้

  1. ควรกำหนดค่าระวางเรือขั้นต่ำเพื่อความปลอดภัย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องกำหนดว่าหากเรือขนส่ง หรือ เรือนำเที่ยวจะผ่านเส้นทางนี้ ต้องมีค่าระวางเรือขั้นต่ำเท่าไหร่ เนื่องจากกระแสน้ำมาหลายทิศทาง มีความเร็วและแรงกระทำกับตัวเรือสูง จึงควรที่จะปรับค่าระวางเรือตามลักษณะน้ำที่กระทบและมีขนาดระวางเรือที่เพียงพอต่อการชดเชยแรงที่กระทำกับตัวเรือ
  2. ควรส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในเรือขนส่งสินค้า และเรือท่องเที่ยว เช่น ระบบควบคุมการโคลงของเรือโดยใช้แรงเฉื่อย (Gyro Stabilizer) หรือระบบควบคุมการเดินเรือเรืออัจฉริยะ ที่สามรถชดเชยแรงกระทำที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจเกิดจากกระแสน้ำหรือสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำได้
  3. ติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนความปลอดภัยในการเดินเรือ
  4. ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้า และธุรกิจทางน้ำ ควรยกระดับและพัฒนานำระบบควบคุมเรืออัจฉริยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ก้าวหน้าทันสมัยมาใช้ควบคุม และเพิ่มระวางหรือแรงขับเรือลากจูง บำรุงรักษาเรือให้อยู่ในสภาพดีและปลอดภัยเสมอ
  5. ควรจัดอบรมพัฒนาบุคลากรในการเดินเรือ เช่น คนขับเรือ เพื่อให้ความรู้ ฝึกฝนการขับเรืออย่างปลอดภัยและวิธีการเตรียมตัวและแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
  6. ประชาชนผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ก็ควรระมัดระวังเลือกใช้บริการเรือที่มีระบบความปลอดภัย ทั้งระบบควบคุมเรือ ความเชี่ยวชาญที่ไว้วางใจได้ และมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้โดยสารที่ครบครัน

Political News