สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ความยุติธรรมรูปแบบดิจิทัลทางออกความเหลื่อมล้ำในสังคมยุคโควิด-19

จากการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากเป็นปัญหาด้านสาธารณะสุขแล้ว ยังเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผู้คนทั่วโลกกำลังยากจนมากขึ้นอยากรวดเร็ว รายงานภาวะสังคมไทยชี้ว่าระหว่างปี 2562 และไตรมาสสุดท้ายของ 2563 ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 0.37 ล้านคนเป็น 0.74 ล้านคน หลายครอบครัวจึงสูญเสียรายได้ประจำไป เกิดความเครียดต่อประชาชนมากขึ้น อาจลามไปถึงเกิดความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อเพศหญิง กระบวนการยุติธรรมยุคใหม่จึงจำเป็นตัวปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ตามทันปัญหาในบริบทสังคมยุคปัจจุบันที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่หันมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น

การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 13 - 14 พฤษภาคม 2564 ผ่านการเสวนาออนไลน์ หัวข้อหลัก “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” (Enhancing Justice for People in the New Normal Era) เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ

ทุกภาคส่วน และสร้างเป็นตำราการบริหารงานยุติธรรมในยุคใหม่ จัดโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ซึ่งครั้งนี้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ เครือข่ายผู้บริหารหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development - RoLD) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมเสวนา แบ่งปันความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ในหัวข้อเสวนา “ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมสู่การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal”วิทยากรได้ถ่ายทอดมุมมอง ประสบการณ์ และร่วมถอดบทเรียนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมและในกระบวนการยุติธรรม จากบริบทเดิมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal ซึ่งเป็นการทำให้สังคมรับรู้ถึงการพยายามลดปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากหลายภาคส่วนในสังคม ได้แก่ สื่อ การทำงานเกี่ยวกับผู้หญิง และกองทุนยุติกรรม โดยเฉพาะบทบาทของกระบวนการยุติธรรมที่พยายามช่วยเหลือประชาชน และพยายามแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ความยุติธรรมดิจิทัล เคารพความต่าง สร้างการมีส่วนร่วม

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี  นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการทำงานของกองทุนยุติธรรม ได้กล่าวถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถยื่นความช่วยเหลือให้ได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือจำกัดเฉพาะกรณีที่เป็นคดีความที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลแล้วเท่านั้น ช่วยได้เฉพาะคนที่ผ่านเกณฑ์ทางกฎหมาย และเกณฑ์ประเมินฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือยังไม่ชัดเจนเพียงพอ

ซึ่ง ดร.กิรติพงศ์ มองว่า นี่คือประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งที่จริงแล้วประเทศที่ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ ประชาชนจะต้องได้รับประกันสิทธิ์ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพราะฉะนั้น ประชาชนทุกคนจะต้องถูกสันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอ และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค

สำนักงานกองทุนยุติธรรมภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อสร้างความเสมอภาค มุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มคนยากไร้ โดยมีภารกิจหลัก 4 ข้อ คือ (1) เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี (2) การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย (3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีถูกขังเกิน ศาลยกฟ้องเนื่องจากเป็นแพะ และ (4) การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

ประเด็นสำคัญ คือ “ยังมีคำร้องของประชาชนจำนวนมากจึงไม่ได้รับการอนุมัติให้ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม” ประเด็นนี้ ดร.กิรติพงศ์ ได้ชี้แจงถึงปัญหาด้านกฎหมายและเกณฑ์ในการตีความกฎหมาย ที่กองทุนยุติธรรมต้องหาแนวทางปรับแก้กันต่อไป ดังนี้

(1) การช่วยเหลือในการดำเนินคดี ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือว่าต้องอยู่ในสถานะที่กลายเป็นคดีความแล้วเท่านั้น หากยังไม่เป็นคดี จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้

(2) การช่วยเหลือให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี พบปัญหา คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการประเมินที่ใช้การตีความกฎหมาย โดยหลักการประเมินกำหนดว่า หากให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหามีความเสี่ยงจะหลบหนีคดี หรือก่อคดีที่เป็นภัยต่อความสงบสุขหรือไม่ การกำหนดเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องหาที่มีภูมิลำเนาใกล้ชายแดนและผู้ต้องหาคดียาเสพติดมักจะไม่ได้รับสิทธิช่วยเหลือ

(3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พบว่า ปัญหาจากการตีความ ทำให้มีผู้ไม่ได้รับการอนุมัติคำร้อง เพราะกำหนดว่า ต้องเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจงใจกลั่นแกล้ง หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ซึ่ง ดร.กิรติพงศ์ มองว่า การตีความเช่นนี้ทำให้ประชาชนหลายคนถูกตัดโอกาสการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม

(4) การช่วยเหลือด้านการให้ความรู้กับประชาชน ก็ถูกตีกรอบว่าต้องเป็นโครงการที่มาจากส่วนกลางเท่านั้น ทำให้โครงการที่ได้รับอนุมัติขาดความหลากหลาย

ดังนั้น สำนักงานกองทุนยุติธรรมจึงมีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมากขึ้น

ความท้าทายสำคัญอีกประการที่กองทุนยุติธรรมต้องเผชิญ คือ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเข้าถึงสำนักงานกองทุนยุติธรรมได้อย่างยากลำบาก โดยพบปัญหา เช่น ระบบการรับเรื่องและรวบรวมข้อมูลทำได้ยาก การเข้าถึงบริการและ การประชุมพิจารณาอนุมัติ รวมถึงการเซ็นสัญญาและรายงานตัว ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

สำนักกองทุนยุติธรรมจึงกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการต่อยอดพัฒนาระบบความช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัล เช่น การพัฒนา Mobile Applications เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น การพัฒนาระบบ Digital Exchange Center ที่แข็งแรง และการพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data ของกองทุน

การปรับตัวดังกล่าว หวังให้การทำงานลดขั้นตอนมากขึ้น ลดการเดินทางของประชนและเจ้าหน้าที่ กระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนและเสมอภาคในอนาคต

“เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมยุคนิวนอร์มอล สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ทำให้ประชาชนรับทราบว่า กองทุนยุติธรรมทำหน้าที่อะไร มากกว่านั้นในเชิงกฎหมายไม่เคยพูดเลยว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ เบื้องต้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิ์ตรงนี้ได้ทุกคน กองทุนยุติธรรมจะต้องขยายขอบเขตการทำงาน เช่น หาที่ปรึกษานักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อมาช่วยเหลือหรือช่วยไกล่เกลี่ยก่อนที่คดีความจะขยายออกไป แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็จะช่วยลดภาวะความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีความในอนาคตด้วย” ดร.กิรติพงศ์ กล่าวสรุป

การช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ ลดความเหลื่อมล้ำต่อเด็กและสตรี

ในงานเสวนาครั้งนี้ได้พูดถึงปัญหาของกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กและสตรี อันเป็นผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลายหน่วยงานในสังคมได้ร่วมแบ่งปันแนวทางการแก้ปัญหาสุดสร้างสรรค์และตอบโจทย์ปัญหายุคใหม่ได้ทันท่วงที

นายสุรเสกข์  ยุทธิวัฒน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูลมอโร จำกัด ได้เล่าถึงโครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” ว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น พบปัญหาการติดโทรศัพท์มือถือ การติดเกมออนไลน์ รวมถึงเกิดภัยคุกคามออนไลน์เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนโดยที่ผู้ปกครองยังขาดองค์ความรู้วิธีดูแลลูกหลานอย่างถูกต้อง ผู้ปกครองมักดุด่าและทำร้ายร่างกายเด็กซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” จึงเป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือ เปิดห้องเรียนออนไลน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองศึกษาแนวทางในการสื่อสารกับบุตรหลาน เพื่อแก้พฤติกรรมการติดมือถือด้วยรูปแบบการแชร์ประสบการณ์กลุ่ม โดยให้พ่อแม่เข้าเรียนรู้วิธีการดูแลบุตรหลานตามแต่ละช่วงวัย คือ ช่วงปฐมวัย ช่วงประถม และช่วงมัธยม และมีการติดตามผลให้ผู้ปกครองส่งการบ้านผ่านแอปพลิเคชัน Line พบว่า โครงการได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าเรียน ค่าที่พัก ผู้ปกครองจากหลายพื้นที่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ ลดค่าใช้จ่ายในการปรึกษากับจิตแพทย์ในกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์เพียงพอ นอกจากนี้ทีมทูลมอโรกำลังพัฒนาหลักสูตรที่เอื้อให้ “ผู้ปกครองทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ” เข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์นี้ด้วย หวังใช้พลังสื่อในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

“ปัจจุบันสื่อสามารถให้แรงบันดาลใจและให้ความรู้ต่อคนหมู่มากได้มากขึ้น กระบวนการสื่อที่สร้างสรรค์จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ เช่น Facebook Fanpage ร่วมมือกับเครือข่ายในการช่วยเหลือลูกเพจที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน สื่อออนไลน์จึงมีพลังมากที่ทำให้ผู้ประสบปัญหาเหล่านี้เข้าถึงการแก้ปัญหาได้เร็วมากขึ้น สื่อต้องมองว่าแฟนเพจเปรียบเสมือนพรรคพวกของตัวเองที่เราพร้อมให้การช่วยเหลือ ดีกว่าแค่สร้างความตระหนัก (awareness) อย่างเดียว ถือเป็นพลังของสื่อที่สามารถสร้างได้จริงในช่วงเวลานี้”  นายสุรเสกข์ กล่าวสรุป

นางสาวมณฑิรา  นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้นำเสนอ งานวิจัยของ UN Women ในหัวข้อ “COVID-19 and Violence Against Women: The evidence behind the talk” ระบุถึงปัญหาความรุนแรงหลายรูปแบบต่อเพศหญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคที่เกิดขึ้นในช่วงแพร่ระบาดของโควิด 19 วิจัยช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2562 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยใช้การค้นหา 20.5 ล้าน unique searches และ 3,500 คีย์เวิร์ด พบว่าผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงผ่านคำต่างๆ อีกทั้งเมื่อใช้ AI ก็ยังพบภาพร่องรอยที่ผู้หญิงถูกทำร้ายและถูกโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ถึงร้อยละ 80 จากคำค้นหา พบว่า ผู้หญิงมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า กลัว เหงา เปล่าเปลี่ยว ติดต่อครอบครัวไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงล็อคดาวน์ ทวิตเตอร์ในประเทศไทยมีการใช้คำที่มีความหมายที่แสดงถึงการรังเกียจเดียดฉันท์ มุ่งทำร้ายให้เสื่อมเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นหญิงมากขึ้นถึง 22,384% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ผู้หญิงยังเจอปัญหาการถูกประณามหรือประจาน (Victim Shaming) ผ่านทางออนไลน์ รวมถึงถูกใช้ความรุนแรงจากคนในครอบครัวและชุมชนด้วยประเด็นสำคัญ คือ ในช่วงล็อคดาวน์ ผู้หญิงต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดกับบุคคลเหล่านั้นตลอดเวลา ดังนั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากขึ้น

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า “กลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติเพศหญิง” ก็มักถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมตามได้ตามปกติ ซึ่งการมองในลักษณะนี้ถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อผู้หญิงกลุ่มนี้ด้วย UN Woman จึงร่วมมือกับ ภาคีเครือข่าย นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกลุ่ม อสม. ท้องถิ่น ต่อสู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของเพศหญิง เช่น การให้อาสาสมัครเยี่ยมบ้านกลุ่มเปราะบางในเชิงรุก รวมถึงผลักดันการสื่อสารที่พยายามกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึง ถือเป็นบทบาทสำคัญของเพศหญิงต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา 

“ผู้หญิงควรได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการวางแผนนโยบายระดับสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของเพศหญิงเป็นพิเศษ ปัจจุบันยังมีการใช้กรอบความคิดของเพศอื่นมามองความต้องการของเพศหญิง รวมถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็ต้องมีผู้แทนหรือภาคประชาสังคมที่ทำงานให้กับกลุ่มคนเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อเข้ามาให้ความเห็นและทำงานกับภาครัฐได้อย่างแท้จริง นี่เป็นกลไกสำคัญที่เราจะสามารถนำความเห็นของพวกเขามารวม เพื่อวางแผนตัดสินใจร่วมกัน สร้างพื้นที่ยืนให้ทุกคนในสังคม ซึ่งจะดีต่อการวางแผนในเชิงนโยบาย” นางสาวมณฑิรา กล่าวสรุป

ในงานแสวนาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการทำงานเฉพาะด้าน แต่ก็มาเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในภาพรวมสังคมไทยโดยเฉพาะยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทุกคนกำลังปรับตัวสู่ยุคนิวนอร์มอล เชื่อว่ากลไกต่าง ๆ ก็ยังต้องเดินหน้าทำงานต่อไปให้สอดคล้องกับบริบทสังคม ให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมเราแคบลง

ผู้สนใจสามารถติดตามชมบันทึกการประชุมเสวนาย้อนหลังออนไลน์ได้ทาง

https://www.facebook.com/watch/live/?v=179246547315822&ref=watch_permalink

Political News