สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

พลัง “เยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ” ต.นาไม้ไผ่ จ.นครศรีธรรมราช เดินหน้า "ชุมชนไร้ (Like) ขยะ"

 จากปัญหาในชุมชนที่มีทั้งเด็กด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ขาดคนดูแล ไปจนถึงปัญหาขยะ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่จุดประกายให้ “น้องแป้ง - ณัฐนิภา ขุนทอง” และ “น้องดีน่า - ณัฐลมัย ป้านวัน” ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ ร่วมมือกับ "สุจิตรา ป้านวัน" หรือ “พี่หนู” รองปลัด อบต. นาไม้ไผ่ ผู้ริเริ่มชักชวนเด็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งถือเป็นพลังขับเคลื่อนของสังคม ให้ออกมาทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ภายใต้ชื่อ "กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ" ด้วยการใช้ “การจัดการขยะอย่างถูกวิธี” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือภายในชุมชน เพื่อสร้างชุมชนที่สะอาด น่าอยู่ เป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ จนทำให้ ต.นาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แห่งนี้ ก้าวเป็น "ชุมชนไร้ (Like) ขยะ"  ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

จากคนแปลกหน้า สู่ “กลุ่มพลังเด็ก” ร่วมแก้ปัญหาชุมชน

"พี่หนู" เริ่มลงพื้นที่ตำบลนาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่เกือบ 3 พันครัวเรือน 14 หมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่หมู่ 13 เพราะเป็นหมู่บ้านหลังเขาที่อยู่ห่างไกล ด้วยการใช้เวลาทุกเสาร์ - อาทิตย์ เข้าไปทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก ๆ กว่า 1 ปี เด็ก ๆ จึงเปิดใจและเข้าร่วมกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากเด็ก 15 คน จนปัจจุบัน มีน้อง ๆ กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจถึง 7 รุ่น และมี 250 ครัวเรือน จาก 7 หมู่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะนี้

วิธีการของ "พี่หนู" คือ การพาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมบ้านผู้พิการและผู้สูงอายุ ทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นถึงความเป็นอยู่ของผู้ที่อยู่อย่างยากลำบาก และสอนให้รู้จักการช่วยเหลือ ช่วยกันทำความสะอาดและจัดการขยะ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น นับเป็นการสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้สูงอายุในพื้นที่ จนเกิดเป็นกิจกรรม เช่น “วัยใสห่วงใยวัยชรา” ที่เด็ก ๆ ช่วยกันเก็บขยะตามบ้านในชุมชนไปบริหารจัดการต่อ หรือ กิจกรรม "ยายสอนหลานทำนา"  ที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อาชีพการทำนาจากผู้ใหญ่

แน่นอนว่า การเริ่มต้นนั้นยาก เพราะผู้ใหญ่ยังไม่ยอมรับ และไม่เชื่อว่าเด็กจะทำได้

 “ความยาก คือ ตอนเริ่มต้น ที่คนในชุมชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่พวกเราก็หมั่นลงพื้นที่ เริ่มจากคนที่สนิทละแวกบ้านใกล้เคียง ไปให้ความรู้กับชุมชน และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พอคนในชุมชนเห็นว่าเราทำได้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานก็อยากให้ลูกหลานมาร่วมทำกิจกรรมด้วย เพราะเห็นว่าดีและเกิดประโยชน์” “น้องแป้ง - ณัฐนิภา ขุนทอง” แกนนำของกลุ่มฯ กล่าว

เช่นเดียวกับ “น้องดีน่า - ณัฐลมัย ป้านวัน” ลูกสาวของพี่หนู ที่ร่วมใจลงแรงกับกลุ่มฯ มาตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยเสริมว่า “ช่วงแรกที่เริ่มชวนคนอื่น ๆ มาแยกขยะ ถูกมองว่าเป็นแค่เด็กทำไม่ได้หรอก ขนาดผู้ใหญ่ยังทำไม่ได้เลย แต่นี่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกเราต้องลุกขึ้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง พอเราทำได้ มีคนเห็นความสำคัญและยอมรับ เลยเกิดเป็นความร่วมมือจัดการขยะชุมชนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่”

"ขยะ" คือ ขุมทรัพย์ที่ช่วยเหลือชุมชน

การทำงานเริ่มต้นจากเงินทุนของ "พี่หนู" จนกระทั่งมีการต่อยอด “สร้างขยะเป็นรายได้” ด้วยการนำขยะที่เด็ก ๆ เดินเก็บจากข้างถนน และขยะที่ชาวบ้านส่งมอบให้มาคัดแยก นำไปขายสร้างรายได้ โดยได้เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานราชการในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ เอสซีจี ที่เข้ามาช่วยให้ความรู้ และขยายเครือข่าย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชน ได้ขับเคลื่อนงานด้านการจัดการขยะอย่างจริงจัง โดยล่าสุดได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ครั้งที่ 20 ประเภทกลุ่มเยาวชน สร้างความภูมิใจ และเป็นแรงกระตุ้นให้กับเด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมจัดการขยะต่อเนื่อง จนนำไปสู่การขยายเครือข่าย เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับชุมชนอื่น ๆ เช่น ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หรือ ชุมชนบ้านวังไทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น รวมถึงการขยายผลไปสู่ วัด และโรงเรียนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ขยะที่เก็บได้ "น้องแป้ง" อธิบายว่า แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ขยะอินทรีย์ นำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น แมว สุนัข หรือไก่ อีกส่วนหนึ่งนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กลับมารดผัก หรือ ทำน้ำหมักไปใส่น้ำเสีย เป็นต้น
  2. ขยะรีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ หรือประดิษฐ์เป็นของใช้ หรือนำไปขายสร้างรายได้
  3. ขยะอันตราย เก็บรวบรวมส่ง อบจ. ไปกำจัดอย่างถูกวิธี
  4. ขยะทั่วไป หรือ ขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) เช่น ถุงพลาสติกที่ดีก็นำกลับมาใช้ซ้ำ หากใช้ไม่ได้แล้วก็เก็บล้างให้สะอาด แล้วนำไปส่งมอบต่อให้กับเอสซีจี เพื่อนำไปใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นพลังงาน สำหรับใช้ภายในโรงงาน

แม้รายได้จากขยะจะไม่มากนัก แต่ "พี่หนู" ก็บริหารจัดการอย่างดี โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อ 1.) ซื้อของใช้ตอบแทนให้กับบ้านที่ร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ไข่ น้ำมัน 2.) เป็นกองกลาง ในชื่อ "กองบุญ" สำหรับนำไปสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน เช่น การจัด English camp ให้กับเยาวชน  การนำเงินร่วมสมทบสร้างบ้าน รวมถึงการซื้อสุขภัณฑ์ และมอบเป็นเงินสมทบให้กับผู้สูงอายุที่ยากไร้ และ 3.) แบ่งเป็นค่าขนมให้น้อง ๆ ที่มาทำงานร่วมกัน

เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้ “ขยะ” ด้วย “ความรู้” และการสร้าง “เครือข่าย”

จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้หลายอย่างเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม เป้าหมายต่อไปของกลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งฯ คือ การสร้างความยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ ทำให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างมีระบบ ทั้งการลงบัญชี จดสถิติ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ส่วนการนำขยะไปสร้างมูลค่าเพิ่ม กลุ่มฯ กำลังศึกษาและมีแนวคิดที่จะนำขยะไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ โดยอาศัยการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ซึ่งเอสซีจีมีส่วนช่วยอย่างมากในการให้ความรู้ นำความคิดใหม่ ๆ มาเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ตลอดจนช่วยเชื่อมต่อเครือข่ายที่ทำเรื่องการจัดการขยะ

"พี่หนู" บอกว่า สิ่งที่กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งฯ ต้องการขณะนี้ คือ องค์ความรู้โดยเฉพาะการนำขยะที่ไม่มีค่ามาสร้างให้เกิดมูลค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อที่จะนำความรู้นั้นมาต่อยอด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพร้อมที่จะส่งต่อให้กับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ปลูกจิตสำนึกชุมชนในแบบ “เด็กนำผู้ใหญ่”

ปัญหาสำคัญของชุมชน คือ “ขยะ” ซึ่งแท้จริงแล้ว เราก็คือผู้สร้างขยะให้เกิดขึ้นในชุมชน และเผาทำลายให้เกิดมลพิษ เพราะฉะนั้น ต้องกระตุ้นให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด ไม่ทำลายและช่วยกันดูแลสิ่งที่มีอยู่ โดยอาศัยเด็ก ๆ เป็นตัวกระตุ้นทำให้คนในครอบครัวตื่นตัว ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการปลูกฝังความคิดที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้นำไปปฏิบัติต่อไป

"อยากสร้างจิตสำนึกให้ทุกครัวเรือนลุกขึ้นมาจัดการขยะแบบที่ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ หรือขอร้อง ทำให้เกิดเป็นความเคยชิน จนเป็นชุมชนที่ไร้ถังขยะ ต้องสร้างให้คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาช่วย เราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ " พี่หนู กล่าว

“การจัดการขยะ” ไม่ได้เป็นหน้าที่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกคน "พี่หนู" และเด็ก ๆ "กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งฯ" เป็นเพียงหนึ่งกลุ่มเล็ก ๆ ที่พร้อมลุกขึ้นต่อสู้และเรียนรู้ เพื่อดูแลและพัฒนาสังคมของตัวเองให้ดีขึ้น หากสามารถส่งต่อความคิดและวิธีการไปสู่ทุก ๆ ชุมชน ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันลุกขึ้นทำสิ่งดี ๆ การจะทำให้สังคมไทยและประเทศไทยกลายเป็นประเทศคุณภาพที่ปลอดขยะคงไม่ยากเกินกำลังอย่างแน่นอน

ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการขยะ สามารถติดตามได้ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/ และสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอพี จับมือ เอสซีจี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียว เป้าหมาย Net Zero 2050

‘สมาร์ทบอร์ดและหลังคา เอสซีจี’ ครองใจแบรนด์ชื่นชอบ 12 ปีซ้อนตอกย้ำการรักษามาตรฐานความแข็งแรง

SCG x SCB จับมือร่วมสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวผลักดันอาคารยุคใหม่สู่สังคม Green อย่างยั่งยืน

“เซ็นทรัลพัฒนา” ขับเคลื่อนสังคมสีเขียวจับมือพันธมิตร SCG นำกรีนโซลูชันพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสระดับประเทศ

เอสซีจี เผยแก้โจทย์เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยจุดแข็งประเทศผสานเทคโนโลยีสร้างโอกาสเอเชียเติบโตบนสังคม Net Zero

เอสซีจี ร่วมแสดงความยินดีกับโครงการ “NorthMed & NorthVille” ด้วยรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Political News