สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เคล็ดลับเลือกหน้ากากอนามัยให้เหมาะกับกิจวัตรและประหยัดเงินในกระเป๋า

ทุกวันนี้ก่อนจะก้าวเท้าออกจากบ้านในแต่ละวัน นอกจากความกังวลในเรื่องโควิด-19 แล้ว ยังมีเรื่องภัยร้ายจากฝุ่น PM2.5 ด้วย เพราะเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้ยังไม่มีทีท่าจะหมดไปง่าย ๆ การต้องเผชิญในทุกเมื่อเชื่อวันโดยขาดการป้องกันที่เหมาะสม จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายตก ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงจำพวก โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ได้อีกด้วย

“หน้ากากอนามัย” จึงกลายเป็นอาวุธสำคัญในยุค New Normal และต่อเนื่องไปจนถึง Next Normal ซึ่ง ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ให้ข้อมูลไว้ในงานสัมมนา “Thailand Protective Mask Conference 2021”  ซึ่งสนับสนุนโดย บริษัท บริทิช ดิสเพนซารี่ เฮลท์แคร์ จำกัด ว่า “PM2.5 ส่งผลต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับ ปริมาณและระยะเวลาการสัมผัส หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมในการป้องกัน PM2.5 ได้ดี ซึ่งต้องเป็น “หน้ากากอนามัยชนิด N95 (KN95) เท่านั้น” เพราะสามารถป้องกันฝุ่นจิ๋วได้ถึง 95% ขณะที่หน้ากากผ้าธรรมดาจะป้องกันได้เพียง 21.28%  ที่สำคัญคือควรใส่ให้แนบจมูกและชิดใบหน้าให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

ปัจจุบันหน้ากากอนามัยชนิด N95 (KN95) มีหลายรุ่นที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับกิจวัตรในแต่ละวัน ทั้งแบบที่มีวาล์ว (one way valve) เพื่อช่วยระบายลมหายใจและความร้อน หายใจสะดวก หรือแบบไม่มีวาล์วแนบสนิทไปกับใบหน้าซึ่งช่วยปกป้องจากภัยฝุ่นได้เป็นอย่างดี และ แบบ 3D ที่ทำให้ใบหน้าดูสวยงามขึ้น นุ่มสบาย สำหรับผู้ที่ต้องการสวมใส่เป็นเวลานาน

แต่ต้องยอมรับว่าหน้ากากอนามัยชนิด N95 (KN95) ที่มีการรับรองมาตรฐานนั้น จะมีราคาสูงกว่าหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทั่วไป หลายคนจึงมักมีคำถามว่าแล้วหน้ากากอนามัยชนิด N95 (KN95) นั้น สามารถใช้ซ้ำได้หรือไม่ ?? ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล จึงได้ให้หลักการตรวจพิจารณาใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ ว่า

พิจารณาจากคุณภาพอากาศ

ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งควรตรวจสอบคุณภาพอากาศของพื้นที่ที่จะเดินทางไป ซึ่งปัจจุบันมีหลายแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้มากมาย อาทิ AirVisual, Air4Thai, Air Matters, Airveda และ BreezoMeter โดยควรตรวจสอบค่าเฉลี่ยรายวัน และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง แต่ค่ามาตรฐานของประเทศไทยแม้ระบุว่าปลอดภัยก็ยังคงสูงกว่าค่าปกติที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งหากเดินทางไปในสถานที่มีปริมาณค่าฝุ่นอยู่ที่ 51-200 สามารถใช้หน้ากากอนามัยซ้ำได้ 3-4 ครั้ง แต่ถ้าปริมาณค่าฝุ่นเกิน 200 ขึ้นไปนั้น ไม่ควรนำหน้ากากมาใช้ซ้ำ เพราะบริเวณที่มีฝุ่นมากจะทำให้ประสิทธิภาพของตัวกรองนั้นลดลง

พิจารณาจากสภาพของหน้ากากอนามัยหลังใช้งานครั้งแรก

นอกเหนือจากการพิจารณาจากคุณภาพอากาศแล้ว หากในวันที่เราออกจากบ้านจะมีค่าฝุ่นไม่สูงมาก แต่สภาพของหน้ากากมีการชำรุด เสื่อมสภาพ ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ โดยให้ลองสังเกตว่าเมื่อมองด้วยตาแล้วต้องไม่สกปรก ไม่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ไม่เปียกน้ำ ไม่ฉีกขาดหรือชำรุด ใส่แล้วไม่กระชับกับใบหน้า หรือหากใครที่มีอาการป่วยไม่สบายก็ไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัส

พิจารณาจากวิธีการเก็บรักษา

จัดเก็บรักษาหน้ากากอนามัยที่ดี ควรมีวิธีจัดเก็บอย่างดี ถูกสุขลักษณะ เช่น ในถุงซิปล็อคที่มีการห่อหุ้มเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากรุ่นใดก็ตาม  หากพบว่าวันที่ใช้งานนั้นไม่ได้จัดเก็บอย่างมิดชิด ก็ควรหลีกเลี่ยงการนำกลับมาใช้ซ้ำ 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุคำถามที่ผู้ป่วยสอบถามกันเข้ามาบ่อยๆ ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 คือ ไวรัสโควิด-19 ติดได้อย่างไร เชื้อไวรัสอยู่ได้นานแค่ไหน และวิธีการป้องกัน

นายแพทย์ธนีย์  ธนียวัน (หมอแทน) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า แม้ว่าเราจะยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19  ซึ่งร่วม ๆ 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามจากผู้ป่วยเข้ามาบ่อย ๆ ว่า ไวรัสโควิด-19 ติดได้อย่างไร และเชื้ออยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งทางการแพทย์คำถามเหล่านี้สามารถให้คำตอบได้ดังนี้คือ 1.การสัมผัสเชื้อไวรัสโดยตรงที่ติดมาทางมือเมื่อเราไปสัมผัสวัสดุหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ ธนบัตร โต๊ะ เก้าอี้ ประตู หรือสิ่งของอื่น ๆ แล้วมีเชื้อไวรัสติดมาที่มือด้วยทำให้มีโอกาสเข้าไปในช่องปาก ตา หรือจมูกได้ ซึ่งจะทำให้ติดเชื้อ 2. ติดเชื้อไวรัสโดยการหายใจเอาละอองฝอยจากผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งจากการไอ จาม พูดเสียงดัง โดยอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย อาจจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะเชื้อโรคสามารถกระจายไปไกลในรัศมี 2 เมตร หรือประมาณ 6 ฟุต 

ละอองฝอยอีกชนิดนึงที่หลายคนกังวล คือละอองฝอยที่ละเอียดเล็กลงไปอีก หรือที่เรียกว่า Airborne particle ซึ่งสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นชั่วโมง และมีการกระจายไปได้ไกลกว่า 2 เมตร รวมทั้งหน้ากากปกติไม่สามารถป้องกันการติดโดยวิธีนี้ได้ ทำให้การติดเชื้อเป็นไปได้ง่าย แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้อยู่บริเวณนั้นตลอดเวลา แต่เนื่องจากเชื้อยังลอยอยู่ในอากาศก็สามารถทำให้ผู้ที่ผ่านมามีโอกาสสูดดมเชื้อเข้าไปได้ อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาแล้วพบว่า Airborne ไม่ใช่สาเหตุหลักในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน แต่ก็มีบางสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิด Airborne particle ได้ เช่น อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ห้องประชุม สถาบันบันเทิง งานเลี้ยงสังสรรค์ หรือมีผู้ป่วยบริเวณนั้นอยู่เป็นเวลานานๆ มีการไอ จาม หรือส่งเสียงดัง ร้องเพลง ตะโกน เป็นต้น สำหรับตัวอย่างเชื้อที่ติดต่อได้ทาง Airborne คือ เชื้ออีสุกอีใส โรคหัด เชื้อวัณโรค

เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมทั่วไปได้นาน 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับพื้นผิววัสดุแต่ละชนิด ไวรัสโควิด-19 ไม่ชอบพวกวัสดุที่เป็นทองแดง โดยจะอยู่ได้ 4 ชั่วโมงก็ตายไป ถ้าเป็นประเภทกล่องกระดาษ ไวรัสจะอยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง พสาสติกอยู่ได้นานประมาณ 3-4 วัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้ว่าสิ่งใดมีเชื้อติดอยู่บ้าง และอยู่มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ดังนั้นเราควรทำความสะอาดมือสม่ำเสมอโดยการใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนที่จะสัมผัสบริเวณหน้าของตัวเอง หรือก่อนรับประทานอาหาร นอกจากนี้มีบางท่านใช้สเปรย์ทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อในที่ต่างๆ ทั้งที่นอน หมอน สิ่งของเครื่องใช้ หรือพ่นตามห้องต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องดูด้วยว่าเมื่อพ่นสเปรย์ไปแล้วอากาศต้องถ่ายเทสะดวกเพราะหากเราสูดดมสเปรย์เข้าไปก็มีโอกาสจะไปทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจ โรคหอบหืดกำเริบ หรือปอดอักเสบได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคปอด หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ดังนั้นจึงควรจะรอให้สเปรย์ระเหยออกไปก่อนที่เราจะเข้าไปในบริเวณนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง

อีกคำถามที่คนถามเข้ามาบ่อย คือ เชื้อไวรัสโควิด-19 ทนความร้อนได้นานแค่ไหน ไวรัสโควิด-19 จะตายง่ายหากเจอแสง UV หรือเจออุณหภูมิสูง หากเชื้อเจออุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส ประมาณ 3-5 นาที เชื้อก็จะตายแล้ว อย่างไรก็ดี การดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ นั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และยังอาจเป็นอันตรายอีกด้วย ส่วนใครที่ชอบใส่ถุงมือไปช้อปปิ้ง วิธีนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะถุงมือก็เปรอะเปื้อนได้ ทางที่ดีควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ดีกว่า

นอกจากนี้เราควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะสามารถที่จะป้องกันการรับเชื้อเข้ามาแล้วยังสามารถป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นหากว่าบังเอิญเรามีเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการแสดง โดยเราพบว่าประมาณ 30-35 % ของผู้ติดเชื้ออาจมีอาการน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร และถ้าคนเหล่านี้เดินทางไปไหนต่อไหนก็อาจจะแพร่เชื้อไปได้โดยไม่รู้ตัวได้ นอกจากนี้หากว่าเราตรวจพบเชื้อไวรัสเป็นบวกเราควรจะกักตัว 14 วัน ตามคำแนะนำของแพทย์

สำหรับการจัดทำคลิปวีดีโอนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อีโอไลฟ์เมด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ CPAP/BPAP จากประเทศออสเตรเลีย ที่เน้นให้ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่เกี่ยวกับการนอนหลับ

ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูคลิปวีดีโอได้ที่ https://youtu.be/-YXlYRhujCk

Political News