สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ม.อ. มุ่งวิจัยพืชกระท่อมสู่เภสัชตำรับบำบัดผู้เสพยาเสพติดไม่ผลกระทบสมรรถภาพสมอง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยพืชกระท่อมพัฒนาสู่เป็นเภสัชตำรับบำบัดผู้เสพยาเสพติด โชว์ผลทดสอบความสัมพันธ์ระดับ Mitragynine ในเลือดไม่กระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้กระท่อมเป็นประจำนานกว่า 1 ปี มีประสิทธิภาพการรักษาและปลอดภัยสูง  ระบุมีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต่อยอดสู่การแพทย์เชิงพาณิชย์สร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจประเทศไทย 

ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (เภสัชวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ ได้ดำเนินงานวิจัยพืชกระท่อมพัฒนาเป็นเภสัชตำรับ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สกว.) เพื่อนำพืชกระท่อมไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดและทดสอบประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา 

ทั้งนี้การวิจัยพืชกระท่อมพบว่า มีสารสำคัญ ได้แก่ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) มีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านอาการซึมเศร้า คลายกล้ามเนื้อลาย บำบัดผู้ติดยาเสพติด สามารถยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น โดยปัจจุบันต่างประเทศได้นำพืชกระท่อมใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติด เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ไอซ์ และยาบ้า เพื่อบำบัดผู้เสพยาดังกล่าว 

ขณะที่ล่าสุดทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ของม.อ. ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับ Mitragynine ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้กระท่อมเป็นประจำ ในพื้นที่ตำบลน้ำพุ อ.เภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี จากกลุ่มตัวอย่างผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อม 99 ราย และผู้ใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิมประจำกว่า 1 ปี จำนวน 192 ราย โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) 

สำหรับผลการทดสอบ พบว่าการใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม ที่เคี้ยวใบสดหรือต้ม/ชงใบพืชกระท่อมแห้งเป็นประจำ ไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพด้านความคิดและการรับรู้ การทำงานระบบประสาทอัตโนมัติและการทำงานของสมอง ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์เชิงนโยบายสู่การปลดพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพราะพืชกระท่อมมีสรรพคุณที่พร้อมจะพัฒนาสู่ตำรายาไทย โดยสามารถระงับอาการปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องเสีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่การใช้พืชกระท่อมมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ซึ่งควรให้ปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อร่างกาย  

“ม.อ. พร้อมร่วมขับเคลื่อนพัฒนาพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เพื่อสอดรับกับนโยบายสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการเรื่องพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างแนวทางการทำวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรม” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว 

Political News