สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เอ็นไอเอขับเคลื่อน“บทบาทสตรีระดับท้องถิ่น”สู่นวัตกรหญิง ผู้จุดประกายเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต

             การสร้างบทบาท คุณค่า และความเท่าเทียมของเพศสภาพเป็นเรื่องที่ทั่วโลกและประเทศไทยให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และเนื่องในโอกาสเดือนแห่ง “วันสตรีสากล” ประจำปี 2021 นี้ เราจึงขออาสาพาทุกคนไปร่วมอินไซด์ “บทบาทของสตรีในระดับชุมชน” ที่ใช้ “นวัตกรรม” มายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องบอกเลยว่าประเด็นดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเท่าเทียมและเปิดพื้นที่ในการแสดงความสามารถได้อย่างมีนัยสำคัญแล้ว ยังเป็นการปูทางให้คนในระดับภูมิภาคได้มีโอกาสได้เรียนรู้วิถีทางนวัตกรรมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

  • จากนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ามะขาม สู่การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

นางสาวทรรศมณฑ์ ธ­นินท์ญาศุภกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มะแอ เฮอร์เบิล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ มะแอ ผู้ผลิตแทมมารีน ไฮเดรตติ้ง เอสเซนส์ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติบำรุงผิวหน้าจากสารสกัดมะขาม หนึ่งในผู้หญิงแกร่งอีกคนที่ไม่ได้มองว่าธุรกิจเป็นเรื่องของกำไรอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือและสนับสนุนคนในชุมชนให้มีรายได้เสริมด้วย โดย มะแอ เล่าว่า แทมมารีน ไฮเดรตติ้ง เอสเซนส์ เริ่มต้นจากการตัวเองที่เป็นคนผิวแพ้ง่าย และหน้าติดสเตียรอยด์ค่อนข้างหนักจนไม่สามารถใช้น้ำเปล่าล้างหน้า และไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม และแอลกอฮอล์ จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองทำให้เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้าน และพืชสมุนไพรของไทยมาทดลองทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าจากธรรมชาติ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่แนะนำให้ลองเอาสมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นส่วนประกอบหลัก ตนจึงตัดสินใจลองนำมะขามเปรี้ยวมาสกัดเป็นเอสเซ้นส์ ซึ่งก่อนจะผลิตเพื่อจำหน่ายได้มีการทดลองผลิตภัณฑ์อยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายได้นำผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้ที่ประเทศจีน และพบว่าเอสเซ้นส์ช่วยคงความชุ่มชื้นให้กับผิวได้อย่างดีแม้จะอยู่ในอากาศติดลบ หลังจากที่ได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ จึงทำให้ตนได้เข้าใจว่า “นวัตกรรม” สามารถเปลี่ยนธุรกิจได้จริง เพราะนวัตกรรมทำให้ผลิตภัณฑ์กลายเป็นที่ยอมรับและช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ มะแอ เฮอร์เบิล ถูกส่งออกไปขายในประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผลตอบรับเป็นอย่างดี

                มะแอ เล่าต่อว่า นวัตกรรมไม่ได้เปลี่ยนแค่ธุรกิจเราเท่านั้นแต่ยังช่วยเหลือชุมชน และเกษตรกรให้มีรายได้เสริมจากการที่บริษัทเข้าไปรับซื้อมะขามเปรี้ยวอีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้เกษตรกรเคยบอกกับว่ามะขามเปรี้ยวไม่มีราคา ขายไม่ได้ เพราะไม่เป็นที่นิยมรับประทาน ทำให้ทุกครั้งที่มะขามสุกก็จะถูกปล่อยให้เน่าไปเองโดยธรรมชาติ แต่พอบริษัทเข้าไปรับซื้อมะขามเปรี้ยวทำให้เกษตร และชุมชนทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้กับธุรกิจไม่ได้ช่วยเพิ่มแต่กำไรให้แก่ธุรกิจของเราเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และทำให้เกษตรเกิดความต้องการที่พัฒนาและยกระดับผลผลิตของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

  • ต่อยอดของเหลือทิ้ง สู่ภาวการณ์จ้างงาน

                ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รวมทรัพย์เกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ที่มีปริมาณสารแมงจิเฟอร์รินสูง ที่ต้องการสร้างเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากของเหลือทิ้งจากการะบวนการทำมะม่วงเบาแช่อิ่ม เล่าว่า ไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ เริ่มจากที่บริษัทมองเห็นปัญหาจากกรรมวิธีการผลิตมะม่วงเบาแช่อิ่มที่มีของเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำเชื่อมสำหรับดองมะม่วงเบา จึงเกิดแนวคิดการนำเปลือกมะม่วงเบาและน้ำเชื่อมที่โรงงานทิ้งมาพัฒนาต่อยอดเป็นน้ำไซเดอร์เพื่อ สุขภาพ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณของเหลือจากกระบวนการทำมะม่วงเบาแช่อิ่ม ด้วยการเข้าไปรับซื้อน้ำเชื่อมจากโรงงาน และรับซื้อเปลือกมะม่วงจากชาวบ้าน และนำมาเข้ากระบวนการหมักบ่มเพื่อสกัดเป็นไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ โดยกระบวนการทำไซเดอร์นั้นนอกจากจะช่วยลดปริมาณของเหลือจากการทำมะม่วงเบาแช่อิ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนผู้ปลูกมะม่วงอีกด้วย เนื่องจากจะต้องปอกเปลือกมะม่วงก่อนที่จะส่งโรงงานแช่อิ่มทุกครั้งจึงจะได้ราคาสูงขึ้น รวมถึงเกิดอาชีพเสริมจากการรับจ้างปอกเปลืองมะม่วงเบา อย่างไรก็ตามแม้ว่าอาชีพปอกเปลืองมะม่วงจะเป็นเพียงอาชีพเสริมแต่ก็สามารถรองรับในกรณีที่ราคายางตกต่ำ หรือแม้แต่ช่วงที่โควิด-19ระบาดทำให้คนต้องย้ายกลับถิ่นฐานเดิมด้วย

                “แนวคิดการทำธุรกิจของทางบริษัทไม่ได้มีเป้าหมายที่การสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และเมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็จะเกิดการจ้างงานตามมาด้วยเช่นกัน”

  • เครื่องล้างปลากึ่งอัตโนมัติ นวัตกรรมที่ใส่ใจการทำงานอย่างครบวงจร

นางสาวมาเรียม ดายี กรรมการผู้จัดการบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัดดีอาลี เจ้าของนวัตกรรมเครื่องล้างปลากึ่งอัตโนมัติสำหรับผลิตปลาส้มฮาลาล เล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการนำเอานวัตกรรมเครื่องล้างปลากึ่งอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการสร้างปลาเพื่อทำปลาส้มนั้น เริ่มจากที่ตนมองว่าขั้นตอนในการล้างปลานั้นกินเวลานานกว่าขั้นตอนอื่น ๆ อีกทั้งต้องใช้เพียงแรงงานคนอย่างเดียวในการล้างส่งผลให้ในแต่ละวันสามารถล่างปลาได้เพียง 400-500 กิโลกรัมเท่านั้น และในการล้างปลาแต่ละครั้งส่งผลให้พนักงานเกิดอาการมือเปื่อย - เท้าเปื่อยเนื่องจากต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งปัญหาเล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานค่อนข้างมาก ดังนั้นทางบริษัทจึงคิดค้นหานวัตกรรมที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต และลดปัญหาที่เกิดสุขภาพของคนที่เข้ามาทำได้พร้อม ๆ กัน และภายหลังจากที่นำเครื่องล้างปลาเข้ามาใช้ก็ส่งผลให้บริษัทสามารถล้างปลาได้มากถึงวันละ 1-2 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการสั่งซื้อปลาส้มฮาลาล อีกทั้งยังสามารถย้ายพนักงานไปทำงานส่วนอื่น ที่ไม่มีผลกระทบต่อร่างกายได้ด้วย

            นางสาวมาเรียม เล่าต่อว่า เมื่อบริษัทสามารถลดขั้นตอนในการล้างปลา และเพิ่มกำลังการผลิตได้มากกว่าที่ผ่านมานั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่บริษัทยังสามารถจ้างคนในชุมชนให้เข้ามาทำได้เพิ่มมากขึ้น หรือหากคนในชุมชนไม่อยากรับจ้างทำงานให้แก่บริษัทก็สามารถมารับปลาส้มเพื่อไปขายต่อได้เช่นกัน สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจในอนาคตนอกเหนือไปจากยอดขายหรือกำไรแล้ว ตนยังต้องการที่แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างให้เกิดการจ้างงานแก่คนในพื้นที่ หรือรองรับคนที่กลับมาทำงานยังบ้านเกิดโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้

Political News