สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

AR / VR GAMES การสอนรูปแบบใหม่ ช่วยพัฒนาการศึกษาไทย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการศึกษา ก็ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดเจน โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ครู นักเรียน ต้องปรับตัวหันมาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เรียนรู้รายวิชาต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์

ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด เลขานุการคณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,ผู้เชี่ยวชาญด้าน Augmented Reality  (AR.) และ Virtual Reality (VR) เกมเพื่อการศึกษา, ผู้เชี่ยวชาญกำหนดมาตรฐานอาชีพสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ สาขาแอนนิเมชั่น  เล่าว่า เมื่อหลายปีก่อนผมเห็นเด็กเล่นเกมโปรเกม่อน เพียงแค่นำมือถือมาส่องๆ ผมได้ไปศึกษาการเติบโตของเกม พบว่าญี่ปุ่นขายเกมไปทั่วโลกมีมูลค่าแสนล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้เลยนะ และเท่ากับ GDP ของไทย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำต่อให้ทำทั้งชีวิตก็ไม่รวย  จึงจุดประกายให้ผมหักเหชีวิตจากเด็กวิศวะ มาเรียนปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมอยากเป็นครู และมองว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับการศึกษาและวิถีชีวิตของทุกคนมากยิ่งขึ้น

              ตอนนั้นหลายคนคัดค้านเพราะมองว่าวิศวะสร้างรายได้มากกว่าครู ผมต้องทำให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสามารถทำเงินได้มหาศาลเช่นเดียวกัน ผมทำเกม AR เสนอขายบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ได้รับเงินล้านบาทซึ่งเป็นก้อนแรกของชีวิต ยิ่งมั่นใจว่ามาถูกทาง อีกสิ่งที่ผมตั้งใจก็คือถ่ายทอดความรู้เหล่านี้เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้นำปรับใช้ประกอบอาชีพได้

              พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ยิ่งเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษาไทยที่นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการเรียนรู้ ถึงแม้ว่ายังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง ครูบางท่านพร้อมเรียนรู้ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ครูบางท่านยังไม่พร้อม ปรับตัวไม่ทัน ขณะที่นักเรียนบางคนไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร บางคนเรียนตามไม่ทัน คือครูบางท่านพูดๆ เหมือนสอนอยู่หน้าชั้นเรียน พอเด็กตามไม่ทัน เด็กจะรู้สึกเบื่อ ไม่อยากเรียน

              เพื่ออุดช่องโหว่ ผมจึงหันมาสร้างสื่อการศึกษาในรายวิชาต่างๆ ผ่านเกมให้น่าสนใจ จูงใจผู้เรียน เมื่อปีที่แล้วกระทรวงศึกษาธิการ เชิญผมเป็นวิทยากร ถ่ายทอดขั้นตอนการทำ Augmented Reality  (AR.) และ Virtual Reality (VR) ให้ครูกว่า 100 คน เพื่อให้ครูใช้เทคโนโลยีสร้างผลงาน ผลิตชิ้นงานเสมือนจริง นำไปเป็นสื่อการเรียนการสอนในรายวิชาของตนเอง เช่น สร้างชิ้นงานผ่านเกมการ์ด เกมการทดลองวิทยาศาสตร์

              นอกจากนี้ ผมร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ได้คัดครูช้างเผือก ครูเก่งๆ จากทั่วประเทศกว่า 200 คน มาช่วยกันทำเนื้อหา ข้อมูลในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ในระดับชั้น ป.4 ถึง ม. 3  แล้วร่วมกันทำสื่อการเรียนการสอนผ่านเกม AR/VR ผ่านแอนนิเมชั่น อย่างไรก็ตาม สื่อที่ครูหัวกะทิเหล่านี้ผลิตชั้นงานขึ้นมานั้น ในอนาคตเราจะใส่ไว้ใน DATA  เพื่อให้ครูทั่วประเทศเลือกไปใช้สอนลูกศิษย์ได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งเราจะมีคู่มือครูให้ครูใช้ประกอบการสอนด้วย อย่างไรก็ตาม ผมตั้งเป้าจะพัฒนาเกมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ครูที่ผ่านการอบรมแล้วนำความรู้ไปสอนครูด้วยกัน เพื่อให้ผลิตสื่อได้มากขึ้นและครบทุกระดับชั้น ทุกรายวิชา

              "ส่วนตัวผมยังเชื่อมั่นและศรัทธาการสอนหน้าชั้นอยู่ ไม่ใช่ให้เด็กเรียนผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างเดียว ผมให้เรื่องเทคโนโลยีทางการศึกษากับการสอนหน้าชั้น 50:50  ผมอยากให้ครูบริหารห้องเรียนแบบผสมผสาน โดยมีเป้าหมายเด็กเข้าใจเนื้อหา ซึ่งวิธีนี้ยังทำให้เด็กซึมซับเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างต่อเนื่องด้วย"

              ดร.ก้องเกียรติ กล่าวต่อว่า ผมได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเชิญไปสอนเด็กระดับประถมและมัธยมต้น ก็คิดว่าเด็กจะทำได้เหรอ ปรากฎว่าเด็กให้ความสนใจ ตั้งใจเรียนมาก จด จำทุกรายละเอียด พูดได้ว่าเด็กเรียนรู้การผลิตเกมเร็วมาก ดังนั้น เกมการศึกษานั้นจะต้องมีโจทย์เพื่อให้เด็กหาคำตอบ ซึ่งเมื่อได้คำตอบแล้วจะได้เข้าไปเล่นเกมด่านต่อไป เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ นอกจากสอนครู เด็ก ผลิตเกมเพื่อการศึกษาแล้ว ผมและทีมงานจัดได้พัฒนาดิจิทัลคอนเทนท์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดทำหลักสูตรให้แก่ราชมงคลวิทยาลัยด้วย

              ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ส่วนผลงานของผมมีมากมาย อย่างเกม "ดับเพลิง"  ซึ่งผมและทีมงานส่งไปประกวดอาเซียนอวอร์ด ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3  โดยเราจะพบว่าหลายแห่งมีการอบรมการดับเพลิง ซึ่งมีอันตรายแน่ๆ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ สอบถามจากคนเหล่านั้น พบว่าคนที่มีความรู้เรื่องการดับเพลิงจริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ออกมาปฏิบัติหน้าชั้นหรือรู้วิธีดับเพลิงจริงๆ ร้อยละ 70 ส่วนการเรียนรู้วิธีดับเพลิงผ่านเกม AR/VR ซึ่งเหมือนเราเข้ารับการอบรม เพียงแต่ไม่ต้องเสี่ยงอันตราย ไม่ต้องเผาจริง สมมุติว่าไปตามห้างแล้วเห็นถังดับเพลิง 3 ถัง มีถังสีแดง สีเขียว สีเงิน ตั้งเรียงกัน ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ปุ๊บหลายคนหยุดเพราะไม่รู้จะหยิบถังไหน หลายคนหยิบไปทุกถัง ซึ่งหากเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม VR  ถ้าเกิดไฟไหม้ท่วมห้อง ผู้เล่นเกมจะต้องดูก่อนว่าปัญหาเพลิงไหม้เกิดจากอะไร เช่น ไฟไหม้เกิดจากไฟฟ้า ผู้เล่นเกมจะต้องกดปุ่มเปลี่ยนถังดับเพลิงให้เป็นสีเงิน หากต้นเพลิงเป็นสารเคมี จะต้องเลือกถังสีเขียว หากไฟไหม้ผ้าม่านจะต้องถังสีแดง คือผู้เล่นจะต้องเลือกให้ได้ว่าสถานการณ์แบบนี้ เลือกถังดับเพลิงแบบไหน นี่ก็คือการเรียนรู้ผ่านเกม

              ดร.ก้องเกียรติ กล่าวต่อว่า ในอีก 5 ปี 10 ข้างหน้า เทคโนโลยีกับการศึกษา จะควบคู่กันไปอย่างนี้ เพียงแต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นทุกคน ไม่ว่า ครู เด็ก ผู้ปกครอง  ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

              ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์จาก ดร.ก้องเกียรติ ยังคงมีข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจจาก ดร.ก้องเกียรติ อีกมากที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงกับการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน โดยผู้สนใจสามารถรับชมได้ทาง EdTeX Webinar ในรูปแบบออนไลน์  ภายใต้หัวข้อ "AR/VR GAMES FOR LEARNING" ในวันอังคารที่ 2 มีนาคม 2564 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook Fanpage : EDTEXEXPO หรือที่ Website: www.edtex-expo.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News